‘เทนเซ็นต์ คลาวด์’ เปิดดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่สองในไทย เสริมแกร่งเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน รับการเติบโตสมาร์ทโซลูชันภาคธุรกิจไทย
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา (กรุงเทพฯ) – เพื่อตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายผ่านระบบปฏิบัติการคลาวด์ที่กำลังเติบโตขึ้นทั่วโลก เทนเซ็นต์ คลาวด์ กลุ่มธุรกิจคลาวด์ภายใต้เทนเซ็นต์ ประกาศเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ แฟรงก์เฟิร์ต และโตเกียว ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการโซนที่สอง (Second availability zone – AZ2) และในฮ่องกง เป็นพื้นที่ให้บริการโซนที่สาม (Third availability zone – AZ3) โดยการเพิ่มศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ ทำให้เทนเซ็นต์ คลาวด์ สามารถให้บริการในทั้งหมด 27 ภูมิภาค และ 66 พื้นที่ให้บริการทั่วโลก ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ข้อมูลจาก Frost & Sullivan[1] พบว่าในปี 2563 กว่า 52% ขององค์กรทั่วโลกมีการใช้บริการคลาวด์ และอีก 34% มีแนวโน้มจะเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ภายในสองปีข้างหน้า นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดจาก Gartner[2] ยังคาดว่าจะมีการใช้จ่ายด้านบริการคลาวด์สาธารณะของผู้ใช้งานทั่วโลก เพิ่มขึ้น 23.1% ในปี 2564 เป็น 332.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมคลาวด์ เทนเซ็นต์ คลาวด์ จึงเร่งสร้างการเติบโตเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มร. ชาง ฟู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมคลาวด์ทั่วโลกมีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การปรับใช้ระบบปฏิบัติการคลาวด์ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการด้านโซลูชันคลาวด์อัจฉริยะขององค์กรต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เทนเซ็นต์ คลาวด์ เล็งเห็นความสำคัญในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบปฏิบัติการคลาวด์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อส่งมอบบริการและผลิตภัณฑ์คลาวด์ที่หลากหลายมากขึ้นให้กับลูกค้า รวมถึงการเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำที่มีความแข็งแกร่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับธุรกิจต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง เป็นต้น” “เพื่อให้สามารถรองรับการนำเสนอเทคโนโลยีอันล้ำสมัยจากเทนเซ็นต์ คลาวด์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราจึงได้เปิดศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตในไทยแห่งที่สองขึ้น โดยศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ถือเป็นศูนย์ข้อมูลระดับ Tier 3 ตั้งอยู่ในทำเลศูนย์กลางเครือข่ายที่สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ มาพร้อมกับกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางระหว่างเกทเวย์(Border Gateway Protocol: BGP) ที่มีความน่าเชื่อถือและคุณภาพสูง ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ทั้งใน และต่างประเทศ” จุดเด่นของศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ คือ ประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้น มีความยืดหยุ่น ที่มาจากการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ผสานกับการทำงานของ Graphics Processing Unit (GPU) ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการประมวลผลต่างๆ และสร้างความยืดหยุ่นในการใช้งาน ซึ่งอุปกรณ์ และเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาติดตั้งเพื่อช่วยให้การทำงานดีขึ้น รวดเร็วขึ้น และประหยัดพลังงาน รองรับการให้บริการโซลูชันอัจฉริยะต่างๆ จากเทนเซ็นต์ คลาวด์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) Internet of Things (IoT) ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เทคโนโลยีการจดจำตัวอักษร หรือ Optical Character Recognition (OCR) บริการถ่ายทอดวิดีโอไลฟ์ (LVB) เป็นบริการสำหรับการถ่ายทอดไฟล์วิดีโอ/ไฟล์เสียงไลฟ์แบบต่อเนื่อง เป็นต้น
การเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ แฟรงก์เฟิร์ต ฮ่องกง และโตเกียว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการเติบโตด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของเทนเซ็นต์ คลาวด์ที่แข็งแกร่ง และยังสะท้อนให้เห็นพัฒนาการที่สำคัญด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจในการขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงปลายปี 2563 เทนเซ็นต์ คลาวด์ได้เปิดพื้นที่ให้บริการโซนที่สองในเกาหลี ตามด้วยการเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งแรกในอินโดนีเซีย และพื้นที่ให้บริการโซนที่สามในสิงคโปร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีกำหนดจะเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งที่สองในอินโดนีเซีย และแห่งแรกในบาห์เรนภายในสิ้นปีนี้ “เทนเซ็นต์ คลาวด์ มั่นใจว่าการขยายศูนย์ข้อมูลแห่งที่สองในประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนให้องค์กรทุกขนาดสามารถปรับใช้ระบบปฏิบัติการคลาวด์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับองค์กรต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้จะช่วยยกระดับและผลักดันศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต” มร. ชาง กล่าวสรุป