เผยกาวใจแนวคิดบวก “เปิดใจ- เข้าใจ” ป้อง HIV
กรุงเทพมหานคร, 28 พฤศจิกายน 2560 – ตำรวจเมืองพัทยาร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ได้จัดทำวีดีทัศน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเอชไอวีและสิทธิพื้นฐานของคนทำงานบริการในสถานบันเทิงให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัครตำรวจ และนักเรียนนายร้อยตำรวจ วีดีทัศน์นี้ผลิตโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการร่วมกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) มีกำหนดการเผยแพร่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เนื่องในวันโอดส์โลกในวันที่ 1 ธันวาคม 2560
“พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานด้านการป้องกันเอชไอวีร่วมกับเจ้าหน้าที่และอาสาตำรวจ ส่งผลให้พนักงานในสถานบริการสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพด้านเอชไอวีที่ต้องการ และลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น” คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการกล่าว “เราต้องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากเดิม เป็นการคิดบวก มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เข้าใจกัน และร่วมมือกัน”
จากผลงานการศึกษาจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ถุงยางอนามัยเป็นหลักฐานของการค้าประเวณี ทำให้งานป้องกันเอชไอวีไม่มีประสิทธิผล วีดีทัศน์นี้แสดงให้เห็นว่าการจัดอบรมให้กับอาสาสมัครตำรวจชุมชนเมืองพัทยาโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เป็นกิจกรรมซึ่งเปลี่ยนมุมมองใหม่โดยใช้ “การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค” เป็นเป้าหมายหลักของการทำงานร่วมกัน เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศไทย “ประเทศไทย 4.0“ โดยมี “ตำรวจไทย 4.0” ที่มีความเป็นมืออาชีพ เคารพในสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดพื้นฐานหลักในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย
“งานเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นงานหนึ่งของตำรวจ” กล่าวโดยพล.ต.ท.ศักดา เตชะเกรียงไกร รักษาราชการแทนที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“แนวคิดในเรื่องการลดการแพร่ระบาดของเอชไอวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชายและหญิงพนักงานบริการ ถ้ามีอยู่ในหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ และถ้าเราร่วมมือกันทุกฝ่าย ผมเชื่อมั่นว่าจะทำให้ประเทศไทยนั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น”
ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบผลสำเร็จอย่างมากในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในพนักงานบริการหญิง อัตราการติดเชื้อเอชไอวีลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือประมาณร้อยละ 1 ในปี 2557 แต่ในพนักงานบริการชาย อัตราการติดเชื้อฯ ยังสูงถึงร้อยละ 12 ดังนั้น ตำรวจและภาคีอื่นๆสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมการป้องกันการระบาดของเอชไอวีได้
วีดีทัศน์นี้ สามารถใช้เป็นสื่อเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเสริมสร้างแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐานแก่ตำรวจรุ่นใหม่
“ความร่วมมือระหว่างผู้บังคับใช้กฏหมายกับภาคชุมชนเป็นต้นแบบที่เราหวังว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น” “วีดีทัศน์นี้จะช่วยให้เกิดการอภิปรายเรื่องสิทธิมนุษยชนและภาระหน้าที่ของตำรวจในห้องเรียน” ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล อาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจกล่าว
ในวันเอดส์โลกปีนี้ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติได้รณรงค์เรื่อง สุขภาพของฉัน สิทธิของฉัน (My health, My Right) ซึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องสิทธิสุขภาพ โดยทั่วไปพบว่ากลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งรวมถึง พนักงานบริการ ผู้ใช้สารเสพติด ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง ผู้ต้องขัง และผู้อพยพ คือกลุ่มที่เข้าถึงสิทธิ์ด้านสุขภาพน้อยที่สุดจะเป็นกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีมากที่สุด
“หากสิทธิสุขภาพของบุคคลถูกคุกคาม มักจะทำให้บุคคลคนนั้นไม่สามารถป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วย รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี หรือการเข้าถึงการดูแลรักษาต่างๆ ได้” ดร. พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าว “ความร่วมมือที่สำคัญลักษณะนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าคนที่มีความเสี่ยงสูงสามารถเข้าถึงบริการที่พวกเขาต้องการได้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อยุติปัญหาเอดส์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนได้ ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์แห่งชาติ
วีดีทัศน์: https://youtu.be/txOIG0GqPN0