Update Newsกระทรวงสาธารณสุขสังคมสังคม/CSRสาธารณสุขสุขภาพไลฟ์สไตล์

ผนึกพลังทีมไทยแลนด์ เดินหน้าหยุด ‘พยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี’ จัดมหกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงฯ ลดป่วยตาย เพิ่มอัตรารอดชีวิต

โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นับเป็นปัญหาสาธารณสุขเฉพาะพื้นที่ โดยพบบ่อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขตสุขภาพที่ 7, 8, 9, 10) และปัจจุบันอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับที่พบโดยการตรวจปัสสาวะ ด้วยวิธี ELISA พบอัตราเฉลี่ยของการติดเชื้ออยู่ที่ 29.9% จากประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 75,620 ราย ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน1 นอกจากนี้สัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกที่เข้าสู่การผ่าตัด เฉลี่ยร้อยละ 212 และอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีหลังการผ่าตัด 5 ปี เฉลี่ยร้อยละ 203 ซึ่งที่ผ่านมามีการสร้างความรู้ที่เป็นต้นทุนในเรื่องโรคดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง (Isan Cohort) ระบบคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ชุดตรวจคัดกรองโรค หลักสูตรภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คู่มือการผลิตปลาร้า ปลาส้มปลอดภัย ฯลฯ หากแต่ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงถึง 6,500 รายต่อปี ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 13,500 ล้านบาทต่อปี4 ทั้งๆ ที่โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ป้องกันและรักษาได้ ถ้าสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) และภาคีเครือข่าย ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Kick off กิจกรรมครั้งสำคัญของประเทศ มหกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ ไม่ตายจากมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ตลอดจนการรู้จักป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้ปลอดภัยจากโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันโรค อาหารปลอดภัย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการส่งเสริมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากากระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรม เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การสนับสนุนงบประมาณวิจัยภายใต้งบประมาณของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เน้นการสนับสนุนทุนวิจัยแบบมุ่งเป้า โดยหยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะแก้ไขได้มาเร่งดำเนินการ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยจุดคานงัดสำคัญของปัญหา
ดังกล่าวคือพฤติกรรมการบริโภคและการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้เข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สวรส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย (Program Management Unit: PMU) หลัก ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับและลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การลดความชุกของการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ ภายใน 2 ปี ให้ได้น้อยกว่า 10% และภายใน 10 ปี น้อยกว่า 1% และสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ตั้งแต่ระยะต้น ภายใน 2 ปี ได้มากกว่า 50% ภายใน 10 ปี ได้มากกว่า 80% โดยจะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดี ภายใน 2 ปี ได้มากกว่า 30% ภายใน 10 ปี ได้ 50%

สำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้ เราจะช่วยกันผลักดันให้เกิดความปลอดภัย ตั้งแต่เรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง เพื่อลดการบริโภคปลาดิบที่มีพยาธิใบไม้ตับ การคัดกรองเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี สามารถถูกค้นพบได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจ CT Scan การเพิ่มขีดความสามารถในการผ่าตัดให้ได้มากขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลติดตามและเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี รวมถึงการขยายการผลิตชุดตรวจคัดกรองให้สามารถเข้าถึงและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งเราจะทุ่มเทกันทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินการให้เห็นผลและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในเวลา 2 ปีต่อจากนี้

รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าการดำเนินงานตามแผนวิจัยมุ่งเป้าที่เป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่และเป็นปัญหาของประเทศด้วยนั้น นับเป็นมิติใหม่ของการดำเนินงานที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อยกระดับให้เกิดการแก้ปัญหาที่สามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน ซึ่งมหกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นับเป็นกิจกรรมตามแผนมุ่งเป้า “ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ
ไม่ตายจากมะเร็งท่อน้ำดี” โดยภายในงานฯ มีการให้บริการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ โดยใช้ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV ATK ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 ราย และให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีโดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ กับประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 600 ราย ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เป็นกลุ่มที่มีประวัติเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ 1) เคยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ 2) เคยกินยาถ่ายพยาธิใบไม้ตับ 3) เคยกินปลาน้ำจืดแบบสุกๆ ดิบๆ ซึ่งในงานฯ หากมีการพบการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับหรือตรวจเจอมะเร็งท่อน้ำดี จะมีการแนะนำและส่งผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ภายในงานฯ ยังมีนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี อาทิ อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ หลักสูตรพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีในสถานศึกษา อำเภอต้นแบบ การจัดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การนำหมอลำมาเป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักรู้เรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตลอดจนบูธนิทรรศการของหน่วยงานเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว

ข้อมูลจาก

1 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2565

2,3cohort study เขต 7 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

4ฐานข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ 5 มิถุนายน 2567