โครงการตามรอยพ่อฯ ปี 5 จัด “เอามื้อสามัคคี” จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำแม่กลอง

 

           

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผนึกกำลัง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 2 ณ ไร่สุขกลางใจ จ.ราชบุรี ภายใต้การดำเนินโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 5 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชา ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่การลงมือปฏิบัติ และขับเคลื่อนความสำเร็จของโครงการฯ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน โดยมีเครือข่ายคนมีใจจากทั่วประเทศ จิตอาสาเชฟรอน และสื่อมวลชนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมกิจกรรม

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แกนนำภาคเอกชนในการขับเคลื่อนโครงการฯ กล่าวว่า “จากจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ในการฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก 

วันนี้โครงการฯ ขยายผลการแก้ไขปัญหาระดับลุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมไปเกือบทั่วทุกลุ่มน้ำในประเทศไทยแล้ว ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชาน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน โดยโครงการฯ ในปีที่ 5 ได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ ซึ่งกิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ ในครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการฯ สู่ลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ได้แตกตัวและขยายผลอย่างต่อเนื่องจาก 16 รายมาเป็น 30 ราย นับเป็นการพิสูจน์ว่าศาสตร์พระราชานั้นช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง และจะเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้



ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า “การดำเนินงานของโครงการในปีที่ 5 นี้ เรานำภารกิจของการ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ การลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน เพื่อประสานความสามัคคีเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนั้น ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้จากการปรับปรุงพื้นที่ตามแนวทางศาสตร์พระราชาในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับแนวคิดหลัก ’แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ ในปีนี้

อย่างกิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ ที่จ. ราชบุรี ในครั้งนี้ ก็เป็นตัวอย่างการ ‘แตกตัว’ ของโครงการฯ ที่ขยายผลไปยังลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำอื่นๆ โดยมีกิจกรรมหลักคือ การทำนาธรรมชาติ ได้แก่ การหมักดองดิน การทำร่องน้ำในนาข้าว การตกกล้าหรือหลกกล้า การดำนาและลงกล้านาโยน การปั้นหัวคันนา รวมถึงการบริหารจัดการแมลงในธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้สารเคมี  นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพิ่มความสมบูรณ์ให้พื้นที่ ได้แก่ การทำธนาคารกล้าไม้ การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง และเรียนรู้เรื่องทำน้ำหมัก 7 รสทางการเกษตรอีกด้วย”

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการที่ร่วมออกแบบในหลายพื้นที่ของโครงการฯ รวมทั้งพื้นที่ไร่สุขกลางใจ จ.ราชบุรี กล่าวว่า “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้เริ่มเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปีที่ 3 ด้วยการร่วมให้คำแนะนำและสอนวิธีการออกแบบพื้นที่ทำการเกษตรของเครือข่ายและประชาชนที่สนใจตามแนวทางศาสตร์พระราชา ในรูปแบบ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ โดยคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพของดิน 

รวมถึงความต้องการ และกำลังทุนทรัพย์ของเจ้าของพื้นที่ ทำให้เกิดการยอมรับเป็นวงกว้างในแนวทางการจัดการน้ำที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยมุ่งหวังให้แต่ละพื้นที่สามารถเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

นอกจากนั้น สจล. ยังต่อยอดทำโครงการวิจัย ‘การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยการติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม’ขึ้น ในนาม ‘ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.’ (ITOKmitl) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและเป็นมาตรฐานในทางวิชาการ ใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดตาก รวม 300 ไร่ ซึ่งจะช่วยยืนยันความสำเร็จของทฤษฎีการจัดการทรัพยากรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ไขปัญหาครบทุกมิติ”


ด้าน นายสุขะชัย ศุภศิริ เจ้าของ “ไร่สุขกลางใจ” จ.ราชบุรี ปัจจุบันเป็นครูโรงเรียนรัฐบาลมีชื่อใน กทม.ผู้ตั้งปณิธาน “ขอเป็นครูตลอดชีวิต” กล่าวว่า “คุณพ่อฝันอยากเป็นเกษตรกรเคยซื้อที่ดินไว้ 6 ไร่ ตั้งใจจะทำการเกษตร แต่ที่สุดก็จำเป็นต้องขาย เพื่อส่งลูกๆ เรียนหนังสือ ผมจึงอยากสานฝันคุณพ่อ เลยเริ่มจากการซื้อที่ดิน 32 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นที่รกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ แล้วปลูกไม้ผลก่อน แต่ก็ตายหมด จึงเน้นการสร้างป่าด้วยไม้หลายประเภท 

เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ จากนั้นก็ซื้อแปลงที่ 2 จำนวน 23 ไร่ ซึ่งที่ตรงนี้เป็นแปลงที่ต้องการทำตามความฝันของตัวเอง เป็นพื้นที่อยู่ท่ามกลางเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้สภาพดินเสียปนเปื้อนสารเคมี หลังจากได้เข้าอบรมความรู้เรื่องศาสตร์พระราชากับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผมจึงต้องการพิสูจน์ ให้ชาวบ้านเห็นว่าศาสตร์พระราชาสามารถพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารได้ 

ผมตั้งใจจะทำนาบนพื้นที่นี้ จึงลงมือขุดบ่อน้ำ 12 ไร่ เพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้เอง รับมือวิกฤตน้ำที่อาจจะมาถึงในอนาคต โดยได้รับคำแนะนำในการออกแบบพื้นที่จาก ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ซึ่งผมตั้งใจว่าหลังเกษียณอายุราชการ และจะกลับมาสร้างศูนย์เรียนรู้ชีวิตให้กับชาวบ้านและเด็กๆ ในชุมชน และจะขอเป็นครูตลอดชีวิตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน”




ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ ที่ไร่สุขกลางใจแล้ว โครงการฯ ยังจัดกิจกรรมปั่นจักรยานรณรงค์รอบเมืองราชบุรี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การเรียนรู้วิถีพอเพียงตามรอยพ่อ โดยเส้นทางเริ่มจากกองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์ อ.เมือง จ.ราชบุรี ไปจนถึงไร่สุขกลางใจ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รวมระยะทาง 79 กิโลเมตร ซึ่งมีเครือข่ายนักปั่นสะพานบุญ นักปั่นทหารจากค่ายศรีสุริยวงศ์ นักปั่นในพื้นที่ และนักปั่นเชฟรอน มาร่วมแสดงพลังกว่า 200 คน



โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินปี 5 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี ในอีก 2 พื้นที่ โดยกิจรรมในครั้งถัดไปจะขึ้นในระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2560 ที่บ้านนายแสวง ศรีธรรมบุตร ต. บ้านนาเรียง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ที่จะมาแสดงพลังของกลุ่มคริสตจักรนาเรียงที่ร่วมกันต่อสู้กับความแห้งแล้งของธรรมชาติด้วยศาสตร์พระราชาในการจัดการน้ำ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking