เลขาธิการ สดช. ลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลโครงการนำร่อง “5G Use Case” ระบบในการคัดกรอง สำหรับ Phuket Sandbox

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลโครงการนำร่อง “5G Use Case” ระบบในการคัดกรอง สำหรับ Phuket Sandbox เตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีคณะผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมติดตามการลงพื้นที่ด้วย คณะฯ ได้เยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติการขับเคลื่อน Phuket Sandbox และการดำเนินงานโครงการฯ บริเวณท่ารัษฎาและด่านตรวจภูเก็ต (ด่านท่าฉัตรไชย) จังหวัดภูเก็ต รวมถึงบริเวณสนามบินภูเก็ตระหว่างประเทศ ขาเข้า – ขาออก

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อติดตามและประเมินผลโครงการนำร่อง “5G Use Case” ระบบในการคัดกรอง สำหรับ Phuket Sandbox เตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการที่นำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้สร้างความเชื่อมั่นด้วยข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยว พร้อมเฝ้าระวังและมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มนักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ



 

 

 

รวมทั้งนำเทคโนโลยีและระบบการวิเคราะห์บุคคลในการคัดกรอง ทั้งยังแจ้งเตือนควบคุมการเข้าออกผ่าน 5G technology ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตแบบเรียลไทม์ และสร้างระบบแพลตฟอร์มกลาง (Phuket Data Sandbox Platform) ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลนำมาใช้เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

“สำหรับการดำเนินงานของโครงการนำร่องฯ ประกอบด้วย ระบบ Phuket Sandbox Platform ระบบคัดกรองการแจ้งเตือน ระบบ Smart Gate และอุปกรณ์สนับสนุนการทำงาน ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสารผ่านโครงข่ายความเร็วสูงและอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อสามารถคัดกรองตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการให้ได้รับข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ระบบ/อุปกรณ์ในการคัดกรองและการแจ้งเตือน เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน การออกแบบโครงสร้าง Data Model เพื่อการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การวิเคราะห์และสรุปผล เพื่อนำข้อมูลมารวบรวมผลและวิเคราะห์ข้อมูลในหลายมิติ ระบบในการแจ้งเตือนที่สามารถแจ้งไปยังศูนย์ให้บริการจังหวัด



 

 
 

  

 

รวมถึงด่านทางอากาศ ทางบกและทางน้ำ ตลอดจน Application สำหรับรายงานข้อมูลประจำวัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว ภาคเอกชนและประชาชน ทั้งยังรองรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”
นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม