กรมการพัฒนาชุมชน ชูผ้าไทย จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและหัตถกรรม ภาคใต้

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.30 น. โรงแรมลากูน่า แกรนด์ แอนด์สปา จังหวัดสงขลา นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและหัตถกรรม โดยมีนายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อบรับ และนางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงานฯ ได้รับเกียรติจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อาทิ นางศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายภูภวิศ กฤตพลนารา และ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น อาจารย์ ดร.ณพงศ์ หอมแย้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) ดร.ณัฐวรรธน์ วิวัฒน์กิจภูวดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายช่องทางการตลาด และคณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายนพรัตน์ ธำรงค์ทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ร.ต.อ. เขตรัฐ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดสงขลา นายเสรี จิตรเวช พัฒนาการจังหวัดพัทลุง นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัฒนาการจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคใต้ นายประดิษฐ์ นัดทะยาย เลขานุการกรม นางสาวริตยา รอดนิ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมในงานฯ

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้ กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริมกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัยและทุกโอกาส อีกทั้ง ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม โดยการสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในทุกภูมิภาค ให้ร่วมสมัยนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค สร้างวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และสนองตอบต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตลอดจนส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้ดำรงคงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป



 

  

 

 

 

 

 

 
นายอรรษิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี พุทธศักราช 2566 นี้ เป็นปีมหามงคลยิ่ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2566 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ และเพื่อเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพในด้านการออกแบบผ้าไทยและด้านแฟชั่น ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 

ซึ่งโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้าและหัตถกรรม เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2566 ที่จะร่วมสืบสานพระราชปณิธาน พร้อมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การมีส่วนร่วมส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีเสถียรภาพ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรม ดีไซเนอร์ นักออกแบบที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ ตลอดทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาร่วมกันให้คำแนะนำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ในการยกระดับผลิตภัณฑ์และพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผู้ประกอบการในครั้งนี้ ซึ่งจะเกิดผลดีเป็นอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายผู้ผลิต 

ผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ผ่านการพัฒนาตามโครงการฯ ในครั้งนี้ จะสามารถยกระดับพัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาที่มีอยู่ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล และหลังจากผ่านการฝึกอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านจะได้นำความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ ทันสมัย โดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ ตลอดจนเข้าถึงช่องทางการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมา นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัวและชุมชน ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน