กรมควบคุมโรค เผยเคสโควิดยังเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญห่วงโควิดรุนแรงในเด็กอาจส่งผลต่อพัฒนาการ ย้ำวัคซีนจำเป็นในเด็กเล็ก

วันที่ (4 มิถุนายน 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้สรุปสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2566 พบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่รักษาในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากสัปดาห์ที่แล้ว เป็นจำนวน 3,085 ราย (เฉลี่ย 440 ราย/วัน) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 386 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 243 ราย และพบผู้เสียชีวิตจำนวน 68 ราย (เฉลี่ย 9 คน/วัน) ซึ่งเป็นกลุ่ม 608 มากถึง 66 ราย (ร้อยละ 97) และพบว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม (31 ราย) เท่ากับร้อยละ 45.6 หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (22 ราย) หรือได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นานเกิน 3 เดือน (15 ราย) ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือวัคซีนประจำปี ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้


นายแพทย์ธเรศ กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในเด็กที่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยว่า จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 พฤษภาคม 2566 พบเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มีอัตราป่วยและติดเชื้อสูงสุด ซึ่งมากกว่าในทุกกลุ่มอายุ (1,581 รายต่อประชากรแสนราย) ตามมาด้วยผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป (647 รายต่อประชากรแสนราย) โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต สำหรับผู้ปกครองบางท่านที่อาจกังวลเรื่องผลข้างเคียงโดยเฉพาะเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวบิดเบือน (ข่าวปลอม) ถึงอาการต่างๆ จากวัคซีน ทำให้ขาดความเชื่อมั่นไม่นำบุตรหลานมาฉีดวัคซีนนั้น 


กรมควบคุมโรคขอยืนยันว่า จากการติดตามข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ในเด็กไทยที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปหลายล้านโดส พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสูง โดยในเด็กเล็กจะพบผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต เช่นอาการไข้ อ่อนเพลีย นาน 1-2 วัน แต่ทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรงและไม่เป็นอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากต่างประเทศ ที่ได้มีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ในเด็กที่ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยล้านโดส 

ก็พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ในระดับสูงเช่นกัน ผู้ปกครองสามารถพาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกันกับวัคซีนพื้นฐานตามช่วงอายุได้ในเวลาเดียวกันที่สถานพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรับบริการวัคซีนของประชาชน ทุกหน่วยบริการสามารถเปิดฉีดวัคซีนได้เลย โดยไม่ต้องรอเด็กครบจำนวนโดสของวัคซีนแต่ละขวด


ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า วัคซีนโควิด 19 มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ไม่สมบูรณ์ คือประมาณ 60% ในช่วง 4 เดือนแรก และการฉีดเพื่อป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ ควรฉีดอย่างน้อย 3 เข็ม จากนั้นประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจะลดลง แต่ยังสามารถป้องกันความรุนแรงได้ดียาวนาน คือหากติดเชื้ออาการจะไม่หนัก และป้องกันการเสียชีวิตในประชากรได้จริง และวัคซีนยังช่วยลดการเกิดภาวะ Long COVID ซึ่งทำให้อ่อนเพลียหลังจากเป็นโควิด 19 ได้ด้วย 

และที่สำคัญคือสามารถลดภาวะโรคมิสซี (MIS-C) ที่อาจรุนแรงในเด็กลงได้มากกว่า 90% และในช่วงที่มีการระบาดระลอกนี้ พบเด็กๆ ติดเชื้อค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน เด็กบางคนมีอาการหนักขึ้นเพราะติดเชื้อไวรัสตัวอื่นร่วมด้วย และเมื่อมีเด็กๆ เป็นมากขึ้นทำให้มีปัญหาของ Long COVID มากขึ้น เป็นเหตุทำให้เด็กบางคนมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานาน เด็กบางคนมีอาการปวดหัว เหนื่อย อ่อนเพลีย มีปัญหาในการนอนหลับ ส่งผลต่ออารมณ์ พัฒนาการ และผลการเรียนได้ ซึ่งบางคนมีอาการอยู่หลายเดือน จึงขอแนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง และแม้ว่าเด็กหลายคน จะเป็นโรคโควิด 19 แล้ว ก็ยังควรได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันลูกผสม ที่จะป้องกันการเป็นซ้ำได้ยาวนาน