เที่ยวชิลชิล กับ รถไฟ “คิฮะ 183” ทริปอิ่มบุญ ปันรอยยิ้ม @ ฉะเชิงเทรา

... ถือเป็นครั้งแรกของเราสำหรับการร่วมขบวนรถไฟท่องเที่ยวหน้าตาน่ารักที่ชื่อ "คิฮะ" เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดฉะเชิงเทรา รถไฟ คิฮะ 183 นี้ เป็นรถไฟดีเซลรางที่เคยให้บริการอยู่กับHokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido ก่อนจะถูกตกแต่งปรับโฉมมาให้บริการนำเที่ยวในประเทศไทย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย



การเดินทางทริป เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทริป “นั่งรถไฟอิ่มบุญ ปันรอยยิ้ม @ ฉะเชิงเทรา” เป็นการบูรณาการร่วมกันเพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี การรถไฟแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์​ ฉะเชิงเทรา วัดโสธรราขวรวิหาร วัดปิตุลาราชรังสฤษฏ์ โรงเรียนวัดบางตลาด ​สำนักข่าวท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำคณะนักท่องเที่ยวกว่าสองร้อยชีวิตร่วมโบกี้ที่แสนสบายจากกรุงเทพฯ ไปยังแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา แบบไปเช้าเย็นกลับ



.... การเดินทางเริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่ โดยเจ้าหน้าที่นัดหมายกันที่ชานชาลา 5 สถานีรถไฟหัวลำโพง คณะทัวร์เริ่มทยอยกันมายังบริเวณจุดลงทะเบียน เพื่อแสดงตัวและรับบัตรต่างๆ โดยทางผู้จัดจัดเตรียมกาแฟ โกโก้ ขนมนมเนยเอาไว้รองท้องในมื้อเช้ากันก่อน











ต้องบอกว่า การที่จะได้ร่วมสัมผัสกับประสบการณ์การเดินทางโดยรถไฟ “คิฮะ” ถือเป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่หลายคนตั้งตารอ เพราะปัจจุบันมีนักเดินทางให้ความสนใจมากขึ้น จนยอดการจองไหลลื่น เต็มทุกเที่ยว

ด้วยเพราะจำนวนที่นั่งที่จำกัด ไม่เกินสองร้อยคน จัดทริปท่องเที่ยวเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เท่านั้น  และเพราะความสะดวกสบาย แอร์เย็นฉ่ำ วิ่งเร็วปรื๊ด เพียงชั่วโมงเศษ ก็ถึงแล้ว แถมยังนำไปแวะจุดชมวิวที่ไม่สามารถทำได้โดยพาหนะอื่นๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่การท่องเที่ยวด้วยรถไฟขณะนี้ฮอตฮิตเอามากๆ



“เราเริ่มออกเดินทางกัน 7 .45 นะคร้าบบบ ทุกท่านทยอยขึ้นรถได้เลย” เจ้าหน้าที่กล่าวผ่านไมค์ให้นักท่องเที่ยวเริ่มเตรียมตัว หลังจากทานเบรกช่วงเช้า

และแล้วรถไฟก็เริ่มเคลื่อนขบวน ไม่นานนักเราก็มาถึงจุดแรก เป็นจุดชมวิวบริเวณกลางสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลงสัมผัสกับบรรยากาศของแม่น้ำบางปะกงได้อย่างเต็มอิ่ม



เพียงเวลาไม่นานนัก รถไฟ “คิฮะ” ก็นำคณะลงกันที่สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา เพื่อนั่งรถบัสขนาดใหญ่ท่องเที่ยวกันภายในจังหวัดฉะเชิงเทรา

วัดโสธรวรารามวรวิหาร 

สถานที่แรกคือไปสักการะ “หลวงพ่อโสธร” ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ภายในโบสถ์ใหม่สีขาวสวยงาม ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมเอาไว้อย่างพร้อมสรรพ โดยเปิดให้คณะได้ร่วมทำบุญถวายสังฆทานแก่วัด ครั้งนี้ท่านรองเจ้าอาวาส ฯ ได้ให้ศีลให้พร ประพรมน้ำมนต์พร้อมกับวัตถุมงคลมอบเหรียญหลวงพ่อโสธรไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คณะ















หลังจากนั้น ได้พาคณะกว่าสองร้อยชีวิตร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่ ร้าน “เดอะริเวอร์ บาร์น” ร้านอาหารริมน้ำที่มีการจัดการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก อาหารทยอยลำเลียงแต่ละโต๊ะ แต่ละโต๊ะ เสียงคุยเซ็งแซ่ บางคนมากันเป็นกลุ่มหลายคน ขณะที่บางคนมาเพียงสองคน บางคนมาคนเดียว แต่หลายคนเริ่มคุ้นชิน... เริ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงจุดชมวิวที่เพิ่งไปเยือน เริ่มสนทนากันถึงการร่วมทำบุญกับวัดหลวงพ่อโสธรฯ













และไม่นานหลังจากอิ่มท้อง ก็เริ่มเดิน ... เดินช้อปปิ้ง เที่ยวชม ตลาดโบราณ 100 ปี

ตลาดโบราณ 100 ปี

เราเองเคยแวะเวียนมาตลาด ในช่วงโควิด เห็นสภาพของตลาดแล้วใจหาย แต่ในวันนี้ ทุกสิ่งเริ่มกลับสู่สภาพปกติแถมยังดีกว่าเดิมด้วยเพราะกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยว เริ่มกลับมาแล้ว โดยเฉพาะกับคณะใหญ่กว่าสองร้อยชีวิตที่มีศักยภาพ มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย สร้างรอยยิ้มกันถ้วนหน้าทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย











หลังจากนั้นก็ไปปันรอยยิ้มกันที่โรงเรียนวัดบางตลาด (ยอดสวัสดิ์ประชาสรรค์) โรงเรียนที่เป็นเลิศด้านวิชาการและการดนตรีไทย วันนี้ครูใหญ่จัดน้อง ๆ นักเรียนแสดงดนตรีไทยเป็นการต้อนรับ นอกเหนือจากอาหาร ขนม ต่างๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ปกครอง อาจารย์ และนักเรียน ซึ่งทำมานำเสนอจำหน่ายเพื่อเป็นทุนการศึกษา













โดยพี่แต๊ก - กันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย  จับไมค์กล่าวขอบคุณคณะที่ร่วมสมทบทุนอุปกรณ์การศึกษาให้กับน้อง ๆ ของโรงเรียน และเชิญชวนคณะร่วมอุดหนุนขนม นั่นทำให้ความโกลาหลก็บังเกิดเมื่อเหล่า คุณแม่ คุณพ่อ คุณพี่ คณะทัวร์เข้าไปอุดหนุนน้อง ๆ กันจนเก็บเงิน... ทอนเงิน... โอนเงินกันแทบไม่ทัน ทำให้เพียงแค่ชั่วพริบตา ขนมด้านหน้าก็อันตรธานหายไปเกลี้ยง !! ท่ามกลางรอยยิ้มของน้อง ๆ คุณครู และผู้จัด













วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎ์ หรือวัดเมือง

หลังปันรอยยิ้มให้น้องๆ คณะเดินทางกันต่อไปยัง วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎ์ หรือวัดเมือง วัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง วัดเก่าแก่ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน เคยเป็นสถานที่ประหารชีวิตอั้งยี่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดเมือง ต่อมารัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ หมายถึงวัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง









โดยมีต้นจันในตำนานอายุร้อยกว่าปี ถือเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน ที่ยังคงมั่นคงสูงตระหง่านอวดโฉมให้ผู้มาเยือนได้ชื่นชมเคียงข้างโบสถ์





สวนมะพร้าวน้ำหอม COCO COWBOY Farm

ไม่ไกลกันนัก เราก็เดินทางต่อไปยัง สวนมะพร้าวน้ำหอม COCO COWBOY Farm เพื่อทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งขนมบ้าบิ่นและขนมต้มใบเตย พร้อมกับชิมมะพร้าวน้ำหอมจากสวน ก่อนจะเดินทางกลับมายังสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดย “คิฮะ” 183





 

 

 

 



 



 

 





ก่อนถึงกรุงเทพฯ นายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่าถึงการท่องเที่ยวโดยรถไฟ คิฮะ 183 นี้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทยมาทำเส้นทางการท่องเที่ยวกับรถไฟขบวน KIHA 183 ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา การตอบรับดีมาก นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ที่สำคัญที่สุดคือการทำงานครั้งนี้ไม่ได้มุ่งถึงผลกำไร การทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเดินได้ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาเป็นตลาดบน มีกำลังจับจ่ายใช้สอยมาก ไปที่ไหนก็สามารถช่วยเหลือชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ

 

บวร บ้าน วัด โรงเรียน เราก็ให้การส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามา มีก็สำรวจความพึงพอใจ อันดับแรกคือ เรื่องของความพร้อมในเชิงพื้นที่ ได้แก่การบริการในเรื่องสุขอนามัย ด้านกายภาพ สถาปัตยกรรมใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม เราก็มุ่งเน้นเรื่องนี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตอนนี้เป็นตลาดใหญ่ขึ้นทุกวัน เป็นการเติบโตขยายมากขึ้นในเรื่องของความนิยมในการนั่งรถไฟ KIHA เพิ่มขึ้น เริ่มตีขึ้นมาแทนตลาดหลักที่เดินทางโดยรถบัสหรือรถตู้

ในขณะเดียวกัน โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็เล็งเห็นถึงความสำคัญว่า ทางสมาคม ฯ เป็นหลักอยู่แล้วในการให้การบริการแก่นักท่องเที่ยวครบวงจร ล้อ ราง เรือ บิน มีทุกภาคขนส่งที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ไหนมีแหล่งน้ำเราก็นำไปท่องเที่ยวทางน้ำ หรือสนามบินที่จังหวัดไหนมีเราก็ไปทำให้ครบ 77 จังหวัดมีสนามบินประมาณ 20 กว่าจังหวัด ที่เหลือยังไม่มีเราก็นำเรื่องท่องเที่ยวทางรถมาแทน ทางเรือมาแทน หรือเอาล้อมาแทน

วันนี้เรามารถไฟ แล้วก็มาต่อรถบัส งานนี้มีเรื่อง ซีเอสอาร์ จึงไม่ได้มีล่องเรือ ซึ่งปกติเรามีล่องเรือที่บางคล้า แถวปลายน้ำ แถวหลวงพ่อโสธร



สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือว่าประสบความสำเร็จ การรถไฟแห่งประเทศไทยปัจจุบันได้มาจับงานทางนี้ถือว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งทางอ้อมและทางตรง ทราบว่าจะมีการขยายไปหลายๆ เส้นทาง ความพร้อมของรถ การบริการก็ดี เรื่องมิติอาหารการกิน เราใส่ใจในเรื่องนี้ นักท่องเที่ยวมาไม่มีคำว่าหิว เลี้ยงทั้งวัน บางวันหกมื้อ มีเบรคแต่เบรคที่แทนข้าวได้เลย

ในโอกาสต่อ ๆ ไป น่าจะพัฒนาเป็นสองวันหนึ่งคืน หรือสามวันสองคืน ซึ่ง ตอนนี้เอาคนที่รอให้จบก่อนในเรื่องของการจอง และเรื่องการขยายวันเวลาต่างๆ ต้องสอดคล้องกับเรื่องของพื้นที่ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารพร้อมหรือไม่ นักท่องเที่ยว 200 คนต้องดูความพร้อมมากกว่านี้



และเรื่องของสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นักท่องเที่ยวที่มาแม้กระทั่งการใช้กระดาษทิชชูที่ใช้ในห้องน้ำ นำมาวางในโต๊ะอาหารยังมีอยู่ ก็ถือว่าต้องมีการควบคุม ในทุกเส้นทางที่ไปและยังไม่ได้ไป เราต้องการยกมาตรฐานในทุกๆ พื้นที่ที่เข้าไป ไม่ว่าจะภูมิภาคไหน ก็ให้เกิดกระแสความรับผิดชอบในด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องของสังคม

และสำคัญที่สุดคือ เมื่อลงมือทำการท่องเที่ยวแล้ว คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่นั้นต้องดีด้วย เป็นนโยบายที่สมาคมฯ ได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยและสามารถทำตามนโยบายของการรถไฟได้จนถึงปัจจุบัน ก็ถือว่าสำเร็จก็หวังว่าในไตรมาสสุดท้าย คงได้มีโอกาสสร้างเส้นทางใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยว ในอนาคตต่อไป”



... นั่นทำให้เราได้เห็นรอยยิ้ม ใบหน้าที่อิ่มเอมของคณะทัวร์ที่ร่วมเดินทางกันมาทั้งวัน กับประสบการณ์ของการนั่งรถไฟ คิฮะ ท่องเที่ยวเมืองแปดริ้ว ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบของสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย เชื่อเหลือเกินว่า ยังมีนักท่องเที่ยวอีกหลายคนที่อยากเข้ามาสัมผัสหากมีโอกาส... เพราะการเดินทางที่เพียบพร้อมทั้งการอิ่มบุญและอิ่มใจ ลองสักครั้งแล้วคุณจะติดใจ



นาริฐา จ้อยเอม เรื่อง / ภาพ

https://www.youtube.com/watch?v=Kluh3YY691M