UNAIDS ร่วมยินดีกับสาธารณสุข เปิดตัวยุทธศาสตร์แห่งชาติฯ ว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฉบับใหม่

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560 UNAIDS ร่วมแสดงความยินดีกับกระทรวงสาธารณสุขกับการเปิดตัวยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ฉบับใหม่  ยุทธศาสตร์นี้เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะนำพาประเทศไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี พ.ศ. 2573  พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เปิดตัวยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560-2573 ณ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ


ยุทธศาสตร์ 13  ปีฉบับนี้มีเป้าประสงค์ที่สอดคล้องกับนานาชาติ ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด มีความคุ้มค่าในการลงทุน  จากรายงานล่าสุดของ UNAIDS เกี่ยวกับสถานการณ์เอดส์โลก พบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในประเทศไทยลดลงร้อยละ 50  ระหว่างปีพ. ศ. 2553 ถึง ปี พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นอัตราการลดลงสูงที่สุดในภูมิภาค


   

“ประเทศไทยโดดเด่นมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการทำงานเพื่อเอาชนะเอดส์” กล่าวโดย พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNAIDS)  “ในเวลาเพียงหนึ่งช่วงอายุคนจากประเทศที่มีการระบาดมากที่สุดในภูมิภาค เปลี่ยนเป็นประเทศที่มีการระบาดลดลงมากที่สุดและอย่างต่อเนื่อง ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลจากความมุ่งมั่น จากทรัพยากรและจากนวัตกรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยลงทุนลงแรงไป แสดงผลเป็นที่ประจักษ์”


ในช่วง 4  ปีแรกของยุทธศาสตร์ฉบับใหม่กำหนดเป็นแผนการดำเนินงานแบบเร่งรัด (Fast Track) โดยประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกับนานาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมาย 90-90--90 ภายในปี 2563 โดย 90 แรก คือร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรู้สถานะการติดเชื้อฯ ของตน  90 ที่สอง คือร้อยละ 90 ของผู้ที่รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเข้าถึงการรักษา และ 90 ที่สาม คือร้อยละ 90 ของผู้ที่ได้รับการรักษาควบคุมไวรัสได้สำเร็จ เมื่อสิ้นปี 2559 ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย 90 แรกแล้ว และอีกสองเป้าหมายคงไม่ไกลเกินเอื้อม


   

การระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากประชากรหลักที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงได้แก่ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย สาวประเภทสอง ผู้ให้บริการทางเพศ และเยาวชน พวกเขาเหล่านี้มีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการที่ต้องการ มักเผชิญกับการถูกตีตรา และการเลือกปฏิบัติ  ยุทธศาสตร์ใหม่ฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการป้องกันแบบผสมผสาน สนับสนุนการจัดบริการที่เหมาะสม มีความจำเพาะกับประชากรและชุมชน สนับสนุนการจัดบริการโดยองค์กรชุมชน เพื่อสามารถเข้าถึงคนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ให้ความสำคัญของการทำงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น 

นอกจากนี้ ยังวางแผนการบูรณาการการจัดบริการสุขภาพด้านเอชไอวีควบคู่กับการตรวจรักษาไวรัสตับอักเสบซี วัณโรคและโรคติดต่ออื่น ๆ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ดำเนินการด้านเอดส์โดยใช้งบประมาณเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 90 จากงบประมาณของประเทศเอง สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันสำหรับกลุ่มประชากรหลักเป็นจำนวนเงินปีละ 200 ล้านบาท (ประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ)  คาดว่ารัฐบาลจะเพิ่มการลงทุนด้านนี้มากขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่นี้เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ตามยุทธศาสตร์แห่งชาตินี้