ปลัดแรงงาน เปิดงาน “วันนิคม จันทรวิทุร” พร้อมปาฐกถาพิเศษ 30 ปี กระทรวงแรงงานกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงานเนื่องในวันนิคม จันทรวิทุร ครั้งที่ 21 ประจำปี 2566 และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “30 ปี กระทรวงแรงงานกับการพัฒนาที่ยั่งยืน : เป้าหมายของสหประชาชาติกับความพยายาม ผลงานที่ผ่านมา และนโยบายของกระทรวงแรงงานในรัฐบาลชุดใหม่” โดยมี นายฐาปบุตร ชมเสวี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษถึงนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงแรงงาน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้น เป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโต ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว กรอบระยะกลางและระยะยาว ด้านการเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน ในส่วนนโยบายของกระทรวงแรงงาน โดยท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้มีนโยบายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน 3 ด้าน 8 นโยบาย เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”


 

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ตลอดห้วงระยะเวลา 30 ปี ของการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้เป้าหมาย “มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน” และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่กระทรวงแรงงานมีบทบาทเป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาแรงงานในเป้าหมายที่ 8 การส่งเสริมงานที่มีคุณค่า สำหรับทุกคน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

 

 

 

 

 



 

 

 

โดยในปี 2566 มีผลงานสำคัญในหลายด้าน อาทิ ส่งเสริมการมีงานทำให้ประชาชนทุกกลุ่มมีรายได้ที่เหมาะสมรฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแรงงาน เพื่อให้ แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป


ด้าน นายฐาปบุตร ชมเสวี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหารทุกระดับ ผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านแรงงาน ร่วมกันกำหนดทิศทางและเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านแรงงานให้สอดคล้องกับความจำเป็นแห่งยุคสมัยและในอนาคต ตลอดจนสร้างข้อเสนอแนะร่วมกันทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป