สธ. จัดประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติ พร้อมมอบรางวัลคนดีศรีวัณโรคและหน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ประจำปี 2566

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จัดประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติ พร้อมมอบประกาศนียบัตรรางวัลคนดี ศรีวัณโรค และหน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ประจำปี 2566 ให้แก่ บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านวัณโรค 26 ราย และ 18 หน่วยงาน ที่ปฏิบัติงานขับเคลื่อนงานวัณโรค


วันนี้ (13 ธันวาคม 2566) ที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติ โดยมี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วม ซึ่งภายในงานมีการมอบประกาศนียบัตรรางวัลคนดีศรีวัณโรค และหน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ประจำปี 2566



 

 

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากรายงานองค์การอนามัยโลก (WHO, Global Tuberculosis Report 2023) พบว่าในปี 2565 มีผู้ป่วยวัณโรค (รายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) จำนวน 111,000 ราย เสียชีวิต จำนวน 13,700 ราย และมีอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค ร้อยละ 85 ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค 

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย จะต้องเร่งรัดดำเนินงานด้านวัณโรคให้บรรลุเป้าหมาย และต้องขอความร่วมมือจากบุคลากรและหน่วยงานทุกภาคส่วนในการร่วมดำเนินงาน รวมถึงการกำกับติดตาม ประเมินและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมายการยุติปัญหาวัณโรคให้หายขาด


“ขอแสดงความยินดีกับบุคลากรและทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล และขอชื่นชมในความตั้งใจ เสียสละแรงกาย แรงใจ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานวัณโรค เพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย และขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่มีความตั้งใจที่ดีในการร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับวัณโรค และพัฒนางานเพื่อยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย ต่อไป” นายวิชาญ กล่าว



 

 

 

 

 

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและประสานงานหลักในการขับเคลื่อนการยุติปัญหาวัณโรค เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนปลอดภัยจากวัณโรค ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง สามารถยกระดับระบบการให้บริการสาธารณสุข การป้องกัน ดูแล รักษาผู้ป่วยวัณโรคได้ ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินการต่อสู้กับวัณโรคในปัจจุบันยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน เป็นต้น


นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค โดยกองวัณโรค มุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรค เพื่อลดอัตราการตายจากวัณโรคลง ร้อยละ 95 และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2578 และไม่มีครอบครัวใดที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการป่วยวัณโรค มีการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) 

โดยมี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1) เร่งรัดการค้นหาและตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 2) ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาตามสูตรมาตรฐาน 3) เพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคระยะแฝงและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค 4) เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค และ 5) ขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมในการป้องกันควบคุมวัณโรค


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของบุคลากรด้านวัณโรค จึงได้ริเริ่มจัดตั้งรางวัลคนดีศรีวัณโรคและหน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ซึ่งมีบุคลากรและหน่วยงานที่ได้รับรางวัล รวม 43 รางวัล แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ ประเภท 1) คนดีศรีวัณโรค ซึ่งแบ่งเป็นรางวัลอีก 7 ระดับ ระดับประเทศ ระดับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ระดับจังหวัด ระดับโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ระดับโรงพยาบาลชุมชน ระดับเรือนจำ ประเภทที่ 2) หน่วยงานดีเด่นด้านวัณโรค ซึ่งแบ่งเป็นรางวัลอีก 4 ระดับ ระดับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ระดับจังหวัด ระดับโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป และ ระดับโรงพยาบาลชุมชน