คณะกรรมการไทยแลนด์ไพรด์ร่วมลงนามข้อตกลงการจัดไทยแลนด์ไพรด์ 2024 อย่างเป็นทางการ

กรุงเทพฯ 13 กุมภาพันธ์ 2567 – คณะกรรมการจัดงานไทยแลนด์ไพรด์ 2024 (Thailand Pride 2024) ร่วมลงนามข้อตกลงในการผลักดันไทยแลนด์ไพรด์ 2024 อย่างเป็นทางการและวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อจัดงานเวิลด์ไพรด์ (World Pride) ที่ประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ (เสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.00 - 16.00 น.) ที่ร้านอาหารอิ่มเอม บริเวณ Josh Hotel คณะกรรมการจัดงานไทยแลนด์ไพรด์ 2024 ซึ่งเป็นคณะทำงานอิสระไม่แสวงหาผลกำไรจากหลากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก "ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคธุรกิจ" ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันงานไทยแลนด์ไพรด์ 2024 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 บริเวณถนนสีลม และวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อจัดงานเวิลด์ไพรด์ที่ประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย

รายชื่อคณะกรรมการจัดงานตามเอกสารข้อตกลง ได้แก่ นิกร ฉิมคง, กิตตินันท์ ธรมธัช, ยลลดา สวนยศ, วัฒนา เกี๋ยงพา, ปกป้อง จิตใจใหญ่, พิษณุวัฒน์ สิงห์ชัย, ศศิลป์ ภูสงค์, นภัทร โภคาสัมฤทธิ์, ชานันท์ ยอดหงษ์, เบสท์ วงศ์ไพโรจน์กุล โดยมี ณัฏฐากร ฉัตรสกุลศรี และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ร่วมลงนามเป็นพยาน

สำหรับสถานที่ลงนามเป็นร้านอาหารปักษ์ใต้ ‘อิ่มเอม‘ ตั้งอยู่บริเวณบูทีคโฮเทลชื่อ Josh Hotel อารีย์ซอย 4 โดยคุณจุ๊ เรืองศักดิ์ เกษมศรี ผู้ก่อตั้งโรงเเรมและร้านอาหารมีจุดประสงค์จะพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ที่มีลักษณะที่เป็นมิตรกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ)

งานไพรด์ในเดือนมิถุนายนเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิ ตัวตน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ LGBTQ และรำลึกถึงการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ จากเหตุการณ์ Stonewall Riots ที่เริ่มต้นในคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ณ กรุงนิวยอร์ค งานไพรด์จึงสะท้อนถึงชุมชน LGBTQ ที่เป็นชุมชนใหญ่ ไร้พรมแดน เชื่อมโยงสัมพันธ์กันหลายประเทศทั่วโลก

งานไทยแลนด์ไพรด์ 2024 ที่จะเกิดขึ้นไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นความร่วมมือร่วมใจกันครั้งใหญ่ระหว่างภาคประชาชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ภาคธุรกิจ ภาครัฐและหน่วยงานราชการ ผลักดันความเป็นธรรมทางเพศ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมไปจนถึงกฎหมายและสวัสดิการ

สำหรับการจัดงานเวิลด์ไพรด์เป็นความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ในปี 2573 เพื่อสร้างความภาคภูมิใจของประเทศในระดับสากลถึงการยอมรับตัวตน ศักดิ์ศรีของ LGBTQ และเพิ่มแรงเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ ซึ่งในที่การประชุมครั้งนี้ได้วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความพร้อมของประเทศในการเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์ไพรด์ที่จะต้องได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกขององค์กรอินเตอร์ไพรด์ (InterPride) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีบทบาทกำหนดประเทศที่เหมาะสมในการจัดงานเวิลด์ไพรด์ ทุก ๆ 2 ปี