จังหวัดนนทบุรี จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน

วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เพื่อมอบให้กับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ประธานเครือข่าย OTOP อำเภอ ช่างทอผ้า ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี รวมทั้งสิ้น 40 คน เพื่อนำไปสร้างสรรค์ชิ้นงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุม ชั้น 4 ศูนย์จำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร สินค้ากลุ่มแม่บ้าน สินค้าวิสาหกิจชุมชน สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จังหวัดนนทบุรี ถนนราชพฤกษ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี


นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า "นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโครงการ Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน "Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน" แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรม ด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์และผู้สวมใส่ ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พระราชทานแบบลายผ้า "ผ้าลายชบาปัตตานี" เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชาวจังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทย"

"อีกทั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าทอแบบโบราณ ณ บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแชบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พระราชทานแบบลายผ้า "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก จก ขิด แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ต่อไป"

ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" จังหวัดนนทบุรี ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ทอผ้าจังหวัดนนทบุรี” (รวมใจรักษ์มหาสวัสดิ์) วัดโคนอนมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี ได้ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทอผ้าลายของจังหวัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์อันสำคัญยิ่งในการที่จะสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยจังหวัดนนทบุรีได้ขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย 

โดยได้มีการประกาศลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนนทบุรี ชื่อ “ลายหม้อน้ำลายวิจิตร” เป็นลายผ้าลายแรกของจังหวัดนนทบุรี เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพ กลุ่มชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า ช่างตัดเย็บ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สามารถนำไปต่อยอด ผ่านภูมิปัญญา การออกแบบ และดีไซน์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่า ก่อให้เกิดรายได้ จึงได้ส่งเสริมให้เกิดลายผ้าอัตลักษณ์ ลาย “วิจิตรนนทรี” รวมถึงลายผ้าอัตลักษณ์ที่จะมีเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผู้บริโภค”



  

"การจัดตั้งศูนย์ทอผ้าจังหวัดนนทบุรีแห่งนี้ มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่แห่งการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้า การถ่ายทอดอัตลักษณ์จังหวัดนนทบุรี เป็นหนึ่งในช่องทางที่จะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และคาดหวังว่าจะเป็นการยกระดับผ้าลายอัตลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเป็นศูนย์ที่พัฒนาไปสู่การเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์ทอผ้าแห่งแรกของจังหวัดนนทบุรีแห่งนี้ จะเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของพี่น้องชาวนนทบุรี เนื่องจากเป็นสถานที่ที่จะช่วยให้คนในชุมชนมีความเข้มแข็ง มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผู้ที่สนใจผ้าทอลายอัตลักษณ์จังหวัดนนทบุรี สามารถสั่งจอง และสั่งซื้อได้ที่ศูนย์ทอผ้าจังหวัดนนทบุรี หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางกรวย" ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวทิ้งท้าย

#MOI
#กระทรวงมหาดไทย
#SDGTH
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#cdd
#change for good 
#ผ้าไทยใส่ให้สนุก
#กรมการพัฒนาชุมชน
#สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี