“เดินตามรอยบุญถวายเป็นพระราชกุศล ร.9 ร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ร. 10”



นานนับสิบปีมาแล้ว ที่ธนาคารธนชาตอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 11 และเป็นผ้าพระกฐินผืนแรกที่ธนาคารธนชาตได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ภายใต้ชื่อโครงการ “เดินตามรอยบุญถวายเป็นพระราชกุศล ร. 9 ร่วมถวายพระกฐินพระราชทาน ร. 10 “ เส้นทางตามรอยบุญ เริ่มจากจังหวัดสระบุรี (วัดพระพุทธบาท) สู่ จ.ลพบุรี (วัดเสาธงทอง พระอารามหลวง) เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม ที่ผ่านมา


ทริปเดินตามรอยบุญเริ่มขึ้น ในช่วงเช้าอันอลหม่านของชาวเมือง ฯ วันที่น้ำท่วมเจิ่งนองกรุงเทพฯ จากปริมาณฝนที่ตกลงมาตลอดทั้งคืน สื่อมวลชนหลายคนติดอยู่บนท้องถนน แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจในการร่วมงานบุญในครั้งนี้

.... และแล้ว เราก็เดินทางกันมาจนถึงวัดพระพุทธบาท สระบุรี ตามกำหนดการของธนชาต เพื่อตามรอยบุญในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จยกช่อฟ้าในพระอุโบสถ พร้อมร่วมทำบุญถวายสังฆทานพระสงฆ์ 9 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

   

จากประวัติบอกว่า วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ห่างจากตัวจังหวัดสระบุรีประมาณ 28 กม. มีทางเลี้ยวซ้ายก่อนถึงอำเภอพระพุทธบาทเข้าไป 1 กม.



ปูชนียสถานที่สำคัญคือ "รอยพระพุทธบาท" ที่ประทับไว้ในแผ่นหินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือเขาสัจจพันธคีรี ลักษณะของรอยพระพุทธบาทคล้ายเท้าคน กว้าง 21 นิ้ว ยาว 5 ฟุต ลึก 11 นิ้ว ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นรอยพระบาทตามลักษณะ 108 ประการ จึงโปรดให้สร้างมณฑปชั่วคราวครอบรอยพระบาทไว้ ต่อมาได้มีการก่อสร้างต่อเติมอีกหลายสมัย



ลักษณะของพระมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบเครื่องยอดรูปปราสาท 7 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ้มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาย่อมุมไม้สิบสองปิดประดับกระจกโดยรอบ ฝาผนังด้านนอกปิดทองประดับกระจกเป็นรูปเทพพนมและมีพุ่มข้าวบิณฑ์ บานประตูพระมณฑปเป็นงานศิลปกรรมประดับชั้นเยี่ยมของเมืองไทย

ทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสาย หมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงมาจากสวรรค์ หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริดเป็นนาค 5 เศียร บริเวณรอบพระมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตี เป็นการแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย พระอุโบสถและพระวิหารต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หลังจากเข้าสักการะและปิดทองรอยพระพุทธบาทแล้ว คณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนก็เดินทางกันต่อไปยัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ 

ว่าที่จริง กองบก. Btripnews เองก็ไปเยือนจังหวัดลพบุรีอยู่หลายครั้งหลายครา แต่ก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สักครั้ง และโอกาสพิเศษนี้ยังได้รับการต้อนรับจาก คุณนิภา สังคนาคินทร์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ ฯ เป็นอย่างดียิ่งอีกด้วย 

  

ว่าแล้วก็มาทำความรู้จักกันก่อน ตามประวัติความเป็นมาเล่าว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2199-พ.ศ.2231) ทรงโปรดให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาลีร่วมกันออกแบบสร้างพระราชวังเมืองลพบุรี กำแพงเมืองและป้อมปราการต่างๆขึ้นในปี พ.ศ.2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับว่าราชการงานเมือง ต้อนรับแขกเมือง พักผ่อน และล่าสัตว์ เสมือนเป็นราชธานีแห่งที่ 2 รองจากกรุงศรีอยุธยา



เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2231 เมืองลพบุรีก็หมดความสำคัญและถูกทิ้งร้างลง จนกระทั่งได้รับการซ่อมแซมบูรณะอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2394-พ.ศ.2411) ทรงโปรดให้สร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎและหมู่ตึกพระประเทียบขึ้นในปี พ.ศ.2399 พระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

   

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎให้เป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี ต่อมาสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้เสด็จมาตรวจราชการที่เมืองลพบุรี พบว่ามีโบราณวัตุกระจายอยู่ตามโบราณสถานเป็นจำนวนมาก ทรงมอบให้ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุขึ้นที่พระที่นั่งจันทรพิศาล เรียกว่า “ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน” เปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2467

   

ต่อมาจึงได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์” ในปี พ.ศ.2504 ปัจจุบันได้จัดแสดงศิลปะและโบราณวัตถุในพระที่นั่งและอาคารต่างๆประมาณ 1,884 รายการ


เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์กระจายเสียง บรรยายให้เราฟังว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์นับได้ว่าเป็นพระราชวังโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมแสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่งของเมืองลพบุรี.....”

   

   

   



   

ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทเป็นที่เสด็จออกรรับคณะราชทูตต่างประเทศ เป็นพระที่นั่งเพียงองค์เดียวภายในพระราชวังแห่งนี้และพระราชวังที่อย่นอกเมืองหลวง ที่มีหลังคาเป็นทรงมณฑปยอดแหลมหรือที่เรียกว่า มหาปราสาท

ส่วนของพระที่นั่งจันทรพิศาล จัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” แสดงภาพประวัติศาตร์เหตุการณ์สำคัญและโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับรัชสมัยฯ

ส่วนที่เราตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก คือส่วนพระที่นั่งพิมานมงกุฎ อาคาร 3 ชั้น จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพัฒนาการเมืองลพบุรี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน



ชั้น ที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการถาวรก่อนประวัติศาสตร์และวัฒนรรมทวาราวดี ชั้นที่ 2 แสดงพัฒนาการเมืองลพบุรี อิทธิพลวัฒนธรรมขอม สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ชั้นที่ 3 แสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกีรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงในหัวข้อเรื่องประวัติศาสตร์ การเมืองสังคม วัฒนธรรมและพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมู่ตึกพระประเทียบ แสดง วิถี ผู้คน ตัวตน คนลพบุรี

   

   

   

   

   

   







เหล่านี้คงต้องไปพิจารณาด้วยตัวเอง.... ท่านใดสนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ วันพุธ – อาทิตย์ เวลา 09:00 - 16:00

ค่าเข้าชม ประชาชนทั่วไป 10 บาท,ชาวต่างชาติ 30 บาท,นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุ สามเณร

.........................................................................................................

อรุณรุ่ง .... ก็ถึงวันสำคัญดั่งที่ตั้งใจร่วมงานบุญในครั้งนี้ ณ วัดเสาธงทอง เมืองลพบุรี



วัดเสาธงทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนตำบลท่าหิน อำเภอเมือง ลพบุรี ระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์กับบ้านหลวงรับแขกเมือง(หรือบ้านเจาพระยาวิชาเยนทร์) เป็นวัดโบราณ ยังไม่ปรากฎหักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อไร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า “วิหารและพระประธานที่ปรากฎเป็นแบบอย่างช่างสมัยครั้งแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา

บริเวณที่เป็นเขตของวัดเสาธงทองในปัจจุบัน ได้รวมเอาวัดอีกวัดหนึ่งเข้าไว้ด้วย คือวัดรวก วัดเสาธงทองอยู่ทางเหนือ วัดรวกอยู่ทางใต้ และวัดทั้งสองนี้ แต่ก่อนไม่ได้รวมกันนอกจากเวลาทำสังฆกรรม เพราะวัดเสาธงทองมีพระวิหาร ไม่มีพระอุโบสถ แต่วัดรวกมีพระอุโบสถ ไม่มีพระวิหาร เมื่อพระภิกษุสงฆ์วัดเสาธทองจะทำสังกรรมจำเป็นต้องมารวมกันทำในพระอุโบสถวัดรวกเป็นอย่างนี้มาโดยตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2457

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จเมืองลพบุรี จึงโปรดให้รวมวัดทั้งสองวัดเป็นัดเดียวกัน เมื่อ 2457

ปัจจุบันวัดเสาธงทอง (พระอารามหลวง) อยู่ในเขตชุมชนที่มีพุทธศาสนิกชนอาศัยอยู่โดยรอบ แต่พื้นที่ประกอบศาสนกิจภายในวัดมีอยู่จำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นที่มาของการเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมงานบุญในครั้งนี้

...... พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานประจำปี 2560 มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 ต.ค. เวลา 09.49 น. พระสงฆ์ 10 รูปเจริญพระพุทธมนต์เพื่อสมโภชองค์กฐิน ณ พระวิหารหลวง และเวลา 13.29 น. คุณศุภเดช พูนพิพัฒน์ เป็นประธานนำถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน พระสงฆ์อนุโมทนา ถวายอดิเรก




    

จากนั้นธนาคารธนชาต จัดมอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนในพื้นที่ 4 แห่ง แห่งละ 3 ทุน ทุนละ 10,000 บาท และมอบทุนสงเคราะห์วัดเสาธงทอง และมูลนิธิลพบุรีสามัคคีสงเคราะห์แห่งละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 140,000 บาท

   

คุณเกรียงไกร ภูริวิทย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารธนชาตอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม

โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 11 และเป็นผ้าพระกฐินผืนแรกที่ธนาคารธนชาตได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยมีผู้มีจิตศรัทธาทั้งพนักงาน ลูกค้าและประชาชนร่วมบุญด้วยจำนวนมาก และเมื่อทำบุญจะได้รับวัตถุมงคลรุ่น “ธนลาโภ” โดยทำบุญ 2,000 บาท จะได้รับเหรียญหลวงพ่อโต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพ่อพระกาฬ 1 ชุด ทำบุญ 1,000 บาท รับเหรียญหลวงพ่อโต 1 เหรียญ 

   

   

   

สำหรับช่องทางการรับบริจาคประกอบด้วยการโอนเงินทำบุญเข้าบัญชีออมทรัพย์ และกล่องรับเงินทำบุญที่สาขาของธนาคาร โดยปีนี้ยังเป็นปีแรกที่เพิ่มการรับบริจาคด้วยการสแกน QR Code บนมือถือซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญกันอย่างคึกคัก เนื่องจากให้ความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

 อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายสังคมไร้เงินสดของภาครัฐ โดยผู้มีจิตศรัทธาสแกน QR Code ที่เว็บไซต์ธนาคารและสาขาธนาคารทั่วประเทศ และในอนาคตธนชาตก็มีแผนที่จะขยายช่องทางการชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code ให้กว้างมากขึ้นเพื่อรองรับสังคมไร้เงินสดในอนาคตต่อไป”

คณะผู้บริหารและพนักงานกลุ่มธนชาต รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาประชาชนทั่วสารทิศร่วมกันทำบุญผ่าน QR Code ซึ่งนับเป็นการเปิดมิติใหม่สายบุญ ทำให้ยอดเงินทำบุญครั้งนี้สูงถึง 10,326,176.65 บาท

งานพิธีเสร็จสิ้นท่ามกลางอิ่มเอิบบุญกันถ้วนหน้า แว่วมาว่า....  ในปีถัดไปจะมีการนำคณะกฐินพระราชทานไปยังวัดในจังหวัดสมุทรสาคร หากมีโอกาสทางกองบก. Btripnews ก็พร้อมจะร่วมบันทึกเรื่องราว เดินตามรอยบุญมานำเสนอในคราวต่อไป