กระบี่ โคราช เชียงราย ปักหมุดเป็นเมืองศิลปะ 3 แห่งแรกของสธ. ด้านสศร. เตรียมขับเคลื่อนต่อปี 61

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายผลักดันให้เกิดเมืองศิลปะขึ้น เริ่มนำร่อง 3 เมือง คือ โคราช (นครราชสีมา) เชียงราย และกระบี่ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ไปดำเนินโครงการเมืองศิลปะตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 โดยบูรณาการการทำงานกับภาครัฐและกลุ่มศิลปินในพื้นที่ จัดทำแผนและแนวทางพัฒนาเมืองศิลปะ รวมถึงการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักให้ชุมชนในจังหวัด 


ปัจจุบันทั้ง 3 จังหวัด เกิดความตื่นตัวอย่างมาก มีการจัดกิจกรรม โครงการที่หลากหลายในฐานะที่เป็นเมืองศิลปะ เช่น กิจกรรมถนนสายศิลปะ กิจกรรมเทศกาลศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ด้วยศิลปะ ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมและบูรณาการการทำงานร่วมกัน นับได้ว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ปักหมุด ทำให้เกิดเมืองศิลปะขึ้นแล้วใน 3 เมืองดังกล่าว

   



   

นายวีระ กล่าวต่อว่า โครงการเมืองศิลปะ เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างภาพลักษณ์ สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจากการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นโครงการต่อเนื่องที่ปรากฏในแผน 20 ปี ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยตระหนักว่า ศิลปะสามารถดึงเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละเมืองมาต่อยอด ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดนั้น ๆ สร้างรายได้และสีสันให้ผู้คน สังคม และรายได้ของจังหวัด  

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 สศร. มีแผนดำเนินโครงการเมืองศิลปะอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการ/กิจกรรมสำคัญหลายโครงการ ตามแผนงานพัฒนาเมืองศิลปะนั้นจะเน้นการเพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมให้มีการจัดสรรพื้นที่สาธารณะของเมืองเพื่อเป็นเวทีแสดงความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินและประชาชน 

เปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงงานอย่างอิสระ ได้จำหน่ายผลงานเพื่อสร้างรายได้และสร้างการเรียนรู้ของประชาชน ส่งเสริมให้มีส่วนร่วมของภาคการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะแก่ประชาชน  การจัดการพื้นที่ศิลปะ การจัดงานด้านศิลปะสร้างสรรค์ในระดับชาติและระดับนานาชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มศิลปิน ชุมชน และภาครัฐ เพื่อไปสู่การเป็นเมืองศิลปะที่แท้จริง

ด้าน น.ส.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กล่าวว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 จังหวัด มีการขับเคลื่อนอย่างมากไปสู่การเป็นเมืองศิลปะ เช่น โคราช มีความตื่นตัวอย่างมาก เกิดการรวมตัวระหว่างจังหวัด ชุมชน และกลุ่มศิลปิน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย แม้กระทั่งวัดก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเปิดอาคารแปดเหลี่ยมให้เป็นพื้นที่ถาวรในการแสดงงานศิลปะ ปัจจุบัน ทั้ง 3 จังหวัดมีการวางแผนการดำเนินงานระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่มุ่งสร้างเป็นหมู่บ้านศิลปิน ในส่วน สศร.เองมีโครงการต่าง ๆ ลงไปกระตุ้นในพื้นที่ด้วย เช่น  โครงการมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Krabi 2018 ที่กระบี่ ซึ่งเป็นงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ หรือการสนับสนุนกลุ่มศิลปินของจังหวัดเชียงรายในการจัดกิจกรรมในเทศกาลบอลลูนนานาชาติ  

   

“การพัฒนาเมืองศิลปะทั้ง 3 แห่งนั้น เป็นการระเบิดจากภายใน เกิดการรวมตัวของกลุ่มศิลปิน ชุมชน ภาครัฐ สร้างเป็นเครือข่ายคอยสื่อสารและทำกิจกรรมรวมตัวกันตลอดเวลา เช่น กลุ่มขัวศิลปินเชียงราย กลุ่มครูศิลป์ถิ่นโคราช กลุ่มศิลปินอันดามัน ทั้ง 3 กลุ่มนี้คือรูปธรรมของการร่วมมือกันจากหลายส่วน ทั้งกระตุ้นกันเอง กระตุ้นจากหน่วยงาน ต่าง ๆ  โดยในปี 61 ก็ได้เตรียมงบประมาณสำหรับลงไปทำโครงการต่อเนื่อง ทั้งนี้ หลังจากทั้ง 3 จังหวัด ประกาศเป็นเมืองศิลปะแล้ว ก็มีอีกหลายจังหวัดที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นเมืองศิลปะได้ เช่น ราชบุรี หรือจังหวัดอื่น ๆ ซึ่ง สศร.   ก็เตรียมทำงานกับจังหวัดที่สนใจและพร้อมเพื่อผลักดันให้เป็นเมืองศิลปะเมืองต่อไป”   น.ส.วิมลลักษณ์ กล่าว