รมว.พม. ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จ.เชียงราย มุ่งป้องค้ามนุษย์ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 60 ที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วย นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) คณะผู้บริหารทีม One Home จังหวัดเชียงราย และเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย 

   

   

ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย เป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ช่วยป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยการฝึกอบรมอาชีพให้แก่เด็ก สตรี และครอบครัว ซึ่งมีภาวะเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสม และอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์ ส่งผลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้มีงานทำและสร้างรายได้ที่พอเพียง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ สตรีที่ผ่านการยกระดับพัฒนาวิชาชีพจะได้มีทักษะความรู้ในการสร้างโอกาสสำหรับการทำงานและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมสถานภาพและบทบาทสตรีให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับการคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ และป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการค้าประเวณี และปัญหาการค้ามนุษย์ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 2) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551


3) พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 4) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำว่าด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และ 5) พ.ร.บ.ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 รวมทั้งการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และสุขภาพทางเพศ ผ่านโครงการต่างๆ
ระหว่างการฝึกอบรมอาชีพด้วย
 

นอกจากนี้ ได้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพกลุ่มสตรีเป้าหมายให้สามารถพึ่งตนเองได้ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างรายได้ระหว่างและหลังการฝึกอบรม ควบคู่ไปกับการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคง ตลอดจนการบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคม เพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่มเป้าหมาย สำหรับการฝึกอบรมอาชีพได้ให้บริการทั้งผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาทั้งภายในและภายนอกศูนย์เรียนรู้ฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด พร้อมที่พัก อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ตลอดจนสวัสดิการต่างๆของรัฐ ทั้งนี้ มีหลักสูตรการฝึกอบรมอาชีพที่หลากหลาย ได้แก่


1) หลักสูตร 6 เดือน ได้แก่ 1.1) หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก (บริบาล) 1.2) หลักสูตรโรงแรม 1.3) หลักสูตรการจัดการสำนักงาน 1.4) หลักสูตรโภชนาการ 1.5) หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า และ 1.6) หลักสูตรเสริมสวยสตรี และ 2) หลักสูตรระยะสั้น ได้แก่ 2.1) หลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 2.2) หลักสูตรสักคิ้วสามมิติ 2.3) หลักสูตรนวดสปา 2.4) หลักสูตรการทำขนมไทย 2.5) หลักสูตรคลินิกผ้า (ซ่อมแซมเสื้อผ้า) 2.6) หลักสูตรนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ 2.7) หลักสูตรนวดเท้าเพื่อสุขภาพ และ 2.8) หลักสูตรผลิตภัณฑ์จากผ้าด้นมือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของศูนย์เรียนรู้ฯ โดยใช้ชื่อว่า“เปิงเปียณ” และจำหน่ายใน ร้านทอฝัน By พม. 
 

   

สำหรับการฝึกอบรมภายนอกศูนย์เรียนรู้ จะเป็นลักษณะการรวมกลุ่มประกอบอาชีพต่างๆ ซึ่งบุคลากรของศูนย์เรียนรู้ฯ จะลงพื้นที่จัดฝึกอบรมและให้ทักษะความรู้ด้านอาชีพในชุมชน โดยคำนึงถึงทรัพยากรในชุมชนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ จนเกิดเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเข้มแข็ง ด้วยการสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 - 3,000 บาท/คน/เดือน ส่งผลให้ คนในชุมชนไม่ต้องโยกย้ายถิ่นไปทำงานไกลชุมชน และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 ถึง 5 ดาว จำนวนมากกว่าร้อยละ 30 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ให้การสนับสนุนและพัฒนาร่วมกับชุมชน 
 

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำทิศทางการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเด็ก สตรี และครอบครัว ในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ( IT) เป็นเครื่องมือทางการตลาดยุคใหม่ในการประกอบธุรกิจการค้าของชุมชน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง