วธ.ชวนสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนถนน “หยุดรถทางม้าลาย”

กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุภาครัฐ ภาคเอกชน และศิลปินดาราจากอาร์เอส ลาดา อาร์สยาม, โบว์ลิ่ง-ปริศนา กัมพูสิริ ร่วมแถลงข่าวการรณรงค์ “โครงการวัฒนธรรมไทยกับความปลอดภัยทางถนน หยุดรถทางม้าลาย” ที่ห้องราชเทวี 2 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


          ทั้งนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(รมว.วธ.) เปิดเผยว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลของไทยที่ผ่านๆ มา ทั้งช่วงปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ แม้ว่ามีผู้เสียชีวิตลดลง แต่ปรากฏว่ามีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎจราจรค่อนข้างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการเอาจริงเอาจังกับเรื่องวินัยการจราจร อันที่จริง เรื่องการใช้รถใช้ถนนเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนในตัวมันเอง เพราะไม่เพียงแต่เรื่องสิทธิในการใช้และเรื่องกฎระเบียบเท่านั้น แต่หากวิเคราะห์ให้มากไปกว่านั้นจะพบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้อื่น การปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม และการมีวินัยของคนไทยเอง ซึ่งจากสถานการณ์ด้านการใช้รถใช้ถนนในช่วงที่ผ่านมา ย่อมสะท้อนได้ดีว่าคนไทยเป็นอย่างไร
         รมว.วธ.กล่าวอีกว่า และจากสถิติความสูญเสียของคนไทยที่ต้องสังเวยไปกับอุบัติเหตุทางถนนที่ติดอันดับหนึ่งของโลก ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้ตระหนักดีถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน จึงมีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนมาตรการต่างๆ โดยนำวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของคนไทยมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อน อาทิ การให้อภัย ความมีน้ำใจ การขอบคุณ และการขอโทษ ซึ่งตนเชื่อว่า ถ้าคนไทยทุกหมู่เหล่าช่วยกันเผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังผู้ขับขี่รถบนท้องถนนจะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนได้มาก
          รมว.วธ.กล่าว ด้วยว่า นอกจากนี้ โครงการวัฒนธรรมไทยกับความปลอดภัยทางถนน หยุดรถทางม้าลาย ก็เป็นอีกหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การวางรากฐานความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นจากหลาย ๆ มาตรการบนท้องถนน เนื่องจากปัจจุบันการหยุดรถทางม้าลายให้คนข้ามถนนในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ถูกละเลย และไม่ได้รับการปลูกฝังมานาน เราจึงเห็นผู้ขับขี่รถบีบแตรไล่คนข้ามทางม้าลาย หรือพบเห็นคนถูกรถชนในทางม้าลาย ซึ่งในต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่มาก การรณรงค์ให้หยุดรถทางม้าลาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนน และเป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจ การเคารพกฎแห่งความปลอดภัย เอื้ออาทรกันทั้งจากผู้ใช้รถและผู้ใช้ถนนอันสอดคล้องกับบุคลิกของคนไทย
          ด้าน นายดำรง พุฒตาล ประธานมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า หากพิจารณามาตรการที่รัฐบาลออกมา รวมทั้งมาตรการอื่นที่พยายามออกมาบังคับใช้เพื่อดูแลด้านความปลอดภัยและปัญหาจราจร  อาจดูว่าเป็นเรื่องไร้สาระหรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ซึ่งในยุคที่คนสามารถแสดงความเห็นในทุกเรื่อง เหมือนในยุคปัจจุบันย่อมเกิดกระแสความไม่พอใจได้โดยง่าย แต่หากพิจารณามาตรการที่ออกมา เช่น เรื่องของเข็มขัดนิรภัย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วก็จะเห็นว่าประเทศไทยเราต่างหากที่มีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะประเทศที่มีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย ต่างก็มีกฎหมายมาบังคับใช้แล้วทั้งสิ้นและมีการปฏิบัติอย่างเข้มงวด แน่นอนว่าเหตุผลของรัฐบาลที่อ้างเรื่องความปลอดภัยและวินัยจราจรนั้น คนทั่วไปอาจเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ไม่อาจรับฟังได้ เพราะอาจเห็นว่าอุบัติเหตุและปัญหาจราจรไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องตรงไหน แต่หากดูแบบอย่างจากหลายประเทศ ก็จะเห็นว่าสังคมไทยนั้น มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรไม่เข้มงวดเท่าใดนัก ซึ่งผลทำให้เกิดการละเลยหรือละเมิดกฎจราจรอยู่เป็นประจำ จนเมื่อมีการบังคับใช้จริงๆ จึงเกิดความรู้สึกไม่พอใจและเห็นว่าเป็นมาตรการที่ไร้สาระ ทั้งๆที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็มีกฎหมายในลักษณะเดียวกันบังคับใช้กันอย่างเข้มงวด.