กรมควบคุมโรค แนะมาตรการวิธีป้องไข้เลือดออก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

กรมควบคุมโรค แนะประชาชนเตรียมพร้อม 3 เรื่องสำคัญเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก คาดว่าสัปดาห์นี้หลายพื้นที่อาจมีฝนตก เสี่ยงน้ำท่วมขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ขอให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”


วันนี้ (24 มกราคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในสัปดาห์นี้ประเทศไทยอาจมีฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ซึ่งฝนที่ตกลงมา ทำให้เกิดน้ำขังในแอ่งน้ำ กาบใบไม้ เศษภาชนะหรือภาชนะที่มีกักเก็บน้ำไว้ใช้  เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่าตลอดปี 2560 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 59,130 ราย เสียชีวิต 63 ราย โดยเป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนและกลุ่มวัยรุ่นที่ป่วยมากที่สุด จำนวนผู้ป่วยที่พบมากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคใต้ รวมสองภาคคิดเป็นร้อยละ 62 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ ส่วนปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1-15 มกราคม 2561 พบผู้ป่วยโรคดังกล่าวแล้ว 279 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 84 ยังคงพบในภาคกลางและภาคใต้เช่นเดียวกับ ปี 2560 กลุ่มอายุที่ป่วยมากคือ กลุ่มวัยเรียนและกลุ่มวัยรุ่น คือ อายุ 10-24 ปี

กรมควบคุมโรค แนะนำประชาชนให้เตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง พร้อมกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน  2.การเฝ้าระวังอาการของโรค เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ    3.พบแพทย์ทันทีเมื่อป่วยและมีไข้สูง  หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น แม้มีเพียงอาการเริ่มต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก

โดยขอให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422