MEDIA FAM TRIP @ Surin – Buriram by kokok

เมื่อปลายเดือนมกราคมผ่านมา สำนักข่าว BTripnews มีโอกาสได้ร่วมบันทึกการเดินทางและสัมผัสกับวิถีชาวเมืองบุรีรัมย์และสุรินทร์โดย ผอ.บุณยานุช วรรณยิ่ง ททท.สำนักงานสุรินทร์ และการร่วมงาน “การแสดงแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ 15 ประเทศ” โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ บันทึกการเดินทางครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ประทับใจและอยากจะบอกต่อกัน ซึ่งคุณๆ ผู้อ่านสามารถแพลนเส้นทางท่องเที่ยวจากบุรีรัมย์สู่สุรินทร์ได้ง่ายๆ ตามมาเลยละกันค่ะ


....จากกำหนดการเดินทาง คณะของเราเริ่มต้นกันในช่วงเช้าตรู่ของวัน รถตู้ล้อหมุนผ่านไปหลายชั่วโมง ก็มาถึงเมืองนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ กองทัพเดินด้วยท้อง ที่นี่มีอาหารขึ้นชื่อ ขาหมูนางรอง ไม่เคยแวะมาก่อน แต่ดูจากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาแล้ว เพียบ ที่นี่เสริฟขาหมูไซส์ใหญ่กับหมั่นโถวหน้าตาน่าทาน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดขุนก้อง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะได้ไปแวะสักการะกันเป็นสถานที่แรกของทริป  

วัดขุนก้อง

  

  

  



ไม่กี่นาที ก็มาถึงวัดขุนก้อง วัดโบราณตั้งแต่สมัยครั้งกรุงศรีอยุธยา สภาพที่ค่อนข้างทรุดโทรมจากภายนอก และด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่หลายองค์ แต่ยังคงมีปูนปั้นหุ่นทหารยืนเฝ้ายามด้านหน้าประตูที่ยังคงอยู่ให้เห็น ณ ปัจจุบัน

ผอ.บุณยานุช วรรณยิ่ง ททท.สำนักงานสุรินทร์ เล่าให้ฟังถึง วัดขุนก้อง ว่า “สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเนศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยขุนก้องนายทหารผู้ควบคุมกองเสบียง ที่ตามเสด็จสองกษัตริย์เมื่อครั้งยกทัพไปปราบเขมร พระอุโบสถหลังนี้แต่เดิมมีอุโบสถอยู่ด้านตะวันออก ปัจจุบันกลายสภาพเป็นเพียงสระน้ำในวัด และเชื่อว่าเป็นกองบัญชาการฝ่ายเสบียงของกองทัพในช่วงศึกสงคราม ซึ่งเชื่อว่าสร้างใกล้เคียงกับวัดป่าเรไร หรือประมาณปีพุทธศักราช 2210”

  

หมู่บ้านเจริญสุข ภูมิปัญญาท้องถิ่น กับ ผ้าภูอัคนี 

ถัดไปเป็นการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การทำผ้าภูอัคนี ที่มีการย้อมผ้าจากดินภูเขาไฟ จนเลื่องชื่อ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ บุรีรัมย์ ใกล้กับ เขาพระอังคาร ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับแล้ว 1 ใน 6 ลูกของจังหวัด

วันนี้ คุณสำรวย ศรีมะเรือง ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าฝ้ายหมู่ 12 พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และชาวชุมชน ต่างมารอต้อนรับคณะด้วยอัธยาศัยไมตรียิ่ง

  

คุณสำรวย เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า “เมื่อปี 2551 ช่วงที่มีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นรองนายกอบต.ได้มีโอกาสขึ้นป่าเขา เพื่อไปสำรวจพื้นที่ เพื่อทำฝายชะลอน้ำโครงการพระราชดำริ จนไปพบเขาลูกหนึ่งที่ดินเป็นสีแดง เดิมรุ่นปู่ย่าตายาย บอกว่าขึ้นไปเก็บของป่าเขาดินแดง ของจะเยอะ ผักหวาน เห็ดจะเยอะ เรารับรู้มาแต่ไม่เคยสนใจ จนครั้งหนึ่งได้ไปรู้ไปเห็นมีคนเอาหินลูกรังมาตำมาย้อมผ้าได้ เป็นการจุดประกายว่า ทรัพยากรธรรมชาติในป่าของเรามีเยอะ จึงทำการทดลอง จากที่ทำฝายชะลอน้ำไปด้วย ก็นำดินมาทดลองกันสามถึงสี่ปีจึงประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นก็นำไปเผยแพร่

เมื่อเริ่มติดหู ท่านนายอำเภอก็สอบถามเรื่องราวความเป็นมาว่า ผ้าภูเขาไฟเรื่องราวเป็นอย่างไร ก็นำเรื่องเล่าท่านก็ตั้งชื่อให้ เมืองพนมรุ้ง ทุ่งฝ้ายคำ นามพระราชทาน ตำนานทับหลัง ที่ตั้งปราสาททอง ของดีผ้าภูอัคนี

  

คุณสำรวย เล่าต่อว่า  “ความพิเศษของผ้าภูอัคนี ใช้สีจากธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เคมี สีที่เป็นเอกลักษณ์และความนุ่มของผ้า และการสื่อต่อคือวัดเขาพระอังคาร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นมีความเก่าแก่ เป็นความเชื่อที่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นที่ผ้า เรามั่นใจว่าสิ่งนั้นเป็นมงคล คือสิ่งที่เราต่อยอดจากภูมิปัญญา

ผ้าภูอัคนีเป็นการสื่อระหว่างการใช้ดินภูเขาไฟมามัดย้อมผ้า สีหลักคือสีโทนอิฐหรือน้ำตาล ความเข้มอ่อนแก่ อยู่ที่เปลือกไม้ด้วย แต่องค์ประกอบหลักคือดิน ซึ่งผู้ทำอาศัยการสังเกต เข้มหรือไม่ และการเป็นธรรมชาติ เวลาซักสีจะไม่ตก ได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และได้รับรางวัลผ้าสิ่งแวดล้อมดีเด่น

  

  

ปัจจุบัน ทางชุมชนได้จัดให้มีการท่องเที่ยวชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นการรวมตัวกันของสามหมู่บ้านที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกัน ทั้ง 60 กว่าครัวเรือน ทั้งชาวบ้านรวมทั้งคุณอินทนนท์ ปาลกะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1  และ คุณนึก พวงคราม ผช.ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ประธานป่าชุมชน ต่างช่วยกันดูแลทั้งระบบ เป็น OTOP การท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวโดยชุมชนและป่าชุมชน

การย้อมผ้าภูอัคนี เป็นการใช้สีของดินภูเขาไฟและหินบะซอลต์  ประกอบด้วยเปลือกไม้ต่างๆ เช่นเปลือกสะเดา ประดู่และหลายๆใบไม้ เปลือกมังคุด ดอกดาวเรือง ล้วนแล้วแต่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพในชุมชน ส่งเสริมรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยว

  

  

นายนึก ภูอังคาร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ประธานป่าชุมชน เล่าเสริมว่า “จากการท่องเที่ยวมีอาหารเมนูประจำถิ่น อาหารจากป่าเขาพระอังคาร เช่นแกงเห็ดป่า ห่อหมก ปลีกล้วย ส้มตำไข่เค็มลาวา มีสินค้าชุมชนนอกจากผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติแล้ว ยังมีข้าวสายพันธ์หอมมะลิ 105 ผลไม้เช่น ลำไย ฝรั่ง มีการเลี้ยงนกกะทาไข่และการรวมกลุ่มปลูกแบบสินค้าอินทรีย์ ซึ่งททท.ได้สนับสนุนเรื่องการตลาดเป็นอย่างดี แนะนำส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีโฮมสเตย์ทั้งสามหมู่บ้านรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชุมชนอย่างแท้จริง”  

เรียกว่า หากนักท่องเที่ยวอยากจะเดินทางมาสัมผัสกับวิถีชุมชน ภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่มากค่า สามารถเข้ามาที่ศูนย์เรียนรู้ของชุมชนแห่งนี้ได้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่แนะนำและแพลนเส้นทางการท่องเที่ยวต่างๆ อย่างเป็นกันเอง หากนักเรียน นักศึกษาเข้ามาดูงานฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย  ยกเว้นนอนโฮมสเตย์คิดหัวละ 100 บาทค่าอาหาร 70 บาท แต่ถ้าเป็นกรุ๊ปทัวร์มีงบประมาณ ทางกลุ่มคิดค่าสถานที่ 500 บาท ค่าสาธิตผ้าภูอัคนี 1,500 บาท ค่าอาหารเที่ยง 120 บาทต่อหัว หรือ 170 บาทแล้วแต่เมนู

กลุ่มทอผ้าฝ้ายผ้าไหม หมู่บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โทร.08-9526-6071 

วัดเขาอังคาร


  

เพียงหนึ่งกิโล ขับขึ้นมาบนเขาผ่านเหมืองแร่ไม่ไกลนัก เราจะพบกับแหล่งวัตถุดิบของผ้าภูอัคนี ซึ่งเป็นภูเขาไฟอังคารหรือเขาอังคาร เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว บริเวณยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดเขาอังคาร เคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินสมัยทวาราวดีหลายชิ้น มีความโดดเด่นจากการประยุกต์สถาปัตยกรรมหลายสมัยไว้ร่วมกัน

ภายในวัดมีโบสถ์ 3 ยอด ที่รายล้อมด้วยพระพุทธรูป 109 องค์ มีใบเสมาพันปีและพระไสยาสน์กลางแจ้งขนาดใหญ่ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับการบอกเล่าว่ามาจากช่างชาวพม่าเป็นผู้เขียนเอาไว้

   



  

  





การแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ 15 ประเทศ

หลังจากเหล่าช่างภาพสื่อมวลชน ไปป่วนหมู่บ้านเจริญสุขเรียบร้อย ก็เดินทางกันต่อไปยังจังหวัดสุรินทร์ โดยแวะทานอาหารเย็นกันที่ ร้านอาหาร กรีน เทอเรซ ที่นี่แบ่งโซนเป็นบรรยากาศแบบห้องแอร์และแบบโอเพ่นแอร์ให้เลือกกันได้ตามใจชอบ อาหารรสชาตดีทีเดียว

  

  

  

และแล้ว ค่ำคืนแรกของสุรินทร์ ก็มาอยู่กันที่งานแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ 15 ประเทศ โดยค่ำคืนแรก จัดขึ้นณ สวนใหม่เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เป็นการแสดงโชว์ของแต่ละประเทศ ส่วนในคืนที่สอง จัดที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ เป็นการแสดงแฟชั่นโชว์ของ เหล่าเซเลปของเมืองและตัวแทนจากนานาชาติ

   



  



หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง



รุ่งเช้า วันที่สองของเมืองสุรินทร์....

สถานที่แรกคือเข้าไปชมวิถีคนเลี้ยงช้าง และสุสานช้างแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง นับว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นพิธีเซ่นเชือกปะกำของเหล่าผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกูย

  

ตามประวัติเล่าว่า “ศูนย์คชศึกษาหรือหมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง ด้วยพื้นที่เป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งเหมาะกับการเลี้ยงช้าง ชาวบ้านดั้งเดิมเป็นชาวส่วย หรือ กูย หรือกวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้างและเลี้ยงช้าง

ในอดีตส่วนมากจะเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนเขตกัมพูชา แต่ด้วยสภาวะการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถไปคล้องช้างบริเวณชายแดนได้เหมือนเดิม แต่ก็ยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อการแสดงอยู่”

  

  

  

เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์วัดป่าอาเจียง เล่าให้ฟังว่า “ชาวบ้านตากลางเลี้ยงช้างเหมือนคนในครอบครัว มีความผูกพันกันมาก”

  

  



ดังจะเห็นได้จากสุสานช้าง สำนักสงฆ์วัดป่าอาเจียง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาเพียง 1 กิโลเมตร เป็นสถานที่ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในโลกที่เป็นการจารึกความรักความผูกพันระหว่างคนกับช้างตราบลมหายใจสุดท้าย



ปัจจุบันเราจะเห็นการก่อสร้าง อาคารช้างเอราวัณขนาดใหญ่เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ช้างซึ่งยังอยูในระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะเสร็จในราวปี 2565 ด้วยเพราะงบประมาณได้จากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ซึ่ง การปั้นเศียรช้างมาจากฝีมือเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนั่นเอง


  

  

  



หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง

ณ หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง (จันทร์โสมา) เมื่อล้อหมุนเข้าใกล้ด้านหน้าบริเวณบ้าน จะพบร้านรวงต่างๆ จำหน่ายผ้าไหม ในหลากหลายรูปแบบหลายสีสัน ก่อนจะเห็นป้ายจันทร์โสมา ด้านหน้าประตูไม้ขนาดใหญ่ พร้อมป้ายบ่งบอก ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2554 วีระธรรม ตระกูลเงินไทย จาก SACICT  หรือศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 179 ซอยเรือนไทย บ้านท่าสว่าง

  

  

เมื่อประตูไม้บานใหญ่ถูกเปิดออก เผยให้เห็นบรรยากาศที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธ์ ตลอดทางเดินเข้าสู่บ้านเรือนไทยหลังใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการยกย่องว่า “ทอผ้าไหมหนึ่งพันสี่ร้อยสิบหกตะกอ” เมื่อครั้งทอผ้ายกทองทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9 ) จากการริเริ่มผลงานศิลปหัตถกรรมของกลุ่มทอผ้าไหมยกทอง “จันทร์โสมา”

  

  

ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ โดยอาจารย์วีระธรรม เป็นแกนนำและรวมชาวบ้านมารวมกลุ่มทอ ด้วยการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อน งดงาม ผสมสานกันระหว่างลวดายการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบ จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

และเมื่อได้เห็น ชาวบ้านที่นั่งถักทอไหมกันอย่างขะมักเขม้น ในแต่ละจุดต้องใช้คนถึง 4-5 คน โดยทำงานประสานกันระหว่างคนทอด้านบนและด้านล่าง ถือว่าสุดอะเมซิ่งจริงๆ นับเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับการทอผ้าที่สุดอลังการนี้มาก ทำได้ไงหนอ ... เราได้แต่แอบคิด

  

  

คุณวรรณา โสฬส ผู้ช่วยอาจารย์วีระธรรม เล่าให้ฟังถึงงานทอผ้าไหมยกทองโบราณที่ล้ำค่าแห่งนี้ว่า “ที่นี่ใช้เทคนิคการถักทอผ้ายกทองแบบโบราณ จะใช้ผู้ช่วยตะกอลายหลายคน เนื่องจากลายที่สลับซับซ้อนไม่สามารถทอด้วยคนเดียวได้

และเมื่อถามถึงลวดลายที่วิจิตรด้านหน้า คุณวรรณา เล่าว่า “ ลวดลายนี้ออกแบบโดยอาจารย์วีระธรรม เป็นเจ้าของที่นี่และเป็นผู้ออกแบบลวดลายต่างๆ  ซึ่งจบศิลปะประจำชาติ เพาะช่าง เป็นช่างเขียนมาทำตรงนี้เพราะความชอบส่วนตัว ในเรื่องของการทอผ้า

โดยศึกษาเทคนิคการทอผ้า และศึกษาลวดลายผ้าจากการที่สะสม ผ้าแต่ละผืนใช้เวลาราว 2-3 เดือน ทุกผืนจะทำตามออเดอร์เท่านั้น ราคาต่ำสุดจะอยู่ที่ 55,000 บาท จนถึง 300,000 บาทขึ้นไป แต่ละผืนจะขึ้นอยู่กับความละเอียดของลวดลาย การทำงานตรงนี้ทำเหมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งแม้กระทั่งการวางโทนสี

  

คุณศิวฤทธิ์ ศรีบุญเรือง รองผอ.สำนักงานททท.สุรินทร์ เล่าว่า “ความโดดเด่นของผ้าไหมยกทองจันทร์โสมา คือ การเลือกเส้นไหมที่เล็กและบางเบา นำมาผ่านกรรมวิธีฟอก ต้ม แล้วย้อมสีธรรมชาติด้วยแม่สีหลักสามสี ได้แก่ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นแกแลและสีครามจากเมล็ดคราม สอดแทรกการยกดอกด้วยไหมทองที่นำมารีดเป็นเส้นเล็กๆ ปั่นควบกับเส้นด้าย ใช้ตะกอเส้นพุ่งพิเศษที่ทำให้เกิดลายจำนวนตะกอ 1,416 ตะกอ

  ซึ่งกี่ธรรมดาที่วางไว้บนพื้นดินมีความสูงไม่พอ จึงต้องขุดดินบริเวณนั้นเป็นหลุมลึกลงไป 2-3 เมตร เพื่อรองรับความยาวของตะกอที่ห้อยลงมาจากกี่ให้เป็นระเบียบ และให้คนสามารถยืนอยู่ในหลุมเพื่อสอดตะกอไม้ได้ เนื่องจากไม้ตะกอจำนวนมากจึงต้องใช้คนทอ 4-5 คน คือ จะมีคนช่วยยกตะกอ 2-3 คน คนสอดไม้ 1 คน และคนทออีก 1 คน ด้วยความซับซ้อนทางด้านเทคนิคการทอนี้จึงทำให้ได้ผลงานผ้าออกมาเพียงวันละ 4-5 เซนติเมตรต่อวันเท่านั้น”

  



ปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่อยู่ราว 20 คน มี 5 กี่ ด้วยแพทเทิร์นที่ถูกออกแบบเดียวกับผ้าโบราณ และเริ่มดำเนินงานมา 20 ปี แล้ว แต่เป็นการทำกันเองเล็กๆ จนกระทั่ง ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้ทอผ้าสำหรับตัดเสื้อของผู้นำประเทศและผ้าคลุมไหล่สำหรับคู่สมรสผู้นำประเทศ 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปก เมื่อปีพ.ศ. 2556 จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในชื่อ หมู่บ้านทอผ้าเอเปก ได้รับรางวัลโอทอป ระดับ 5 ดาวของประเทศ

ที่นี่ถือว่าเป็นแหล่งรวมบุคลากรอันล้ำค่าของประเทศแห่งหนึ่งทีเดียว หากใครยังไม่เคยได้เห็นความอะเมซิ่งของเทคนิคการทอผ้าไหมยกทองโบราณ แนะนำว่าต้องมา ออกจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร ไม่ถึงยี่สิบนาที ก็ถึงแล้ว เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8.00-17.00 น. โทร 084 4586099 คุณนิรันดร์ 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์

ที่ที่ควรจะเข้ามาเยี่ยมชมอย่างยิ่งอีกแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ เปิดปี 2552  ตั้งอยู่เลขที่ 214 หมู่ที่ 3 ถนนสุรินทร์ - ปราสาท อำเภอเมือง

จากการก่อสร้างสถาปัตยกรรมภายนอก ได้แรงบันดาลใจมาจากปราสาทขอม โดยมีทางเชื่อมเป็นสะพานนาค เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ รอบๆ จะเป็นระเบียงคล้ายโบราณสถานขอม

  

  

ส่วนจัดแสดงมี 5 ห้อง ธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์โบราณคดี ประวัติศาสตร์เมือง ชาติพันธุ์วิทยา และมรดกดีเด่น 

เราเดินตามเจ้าหน้าที่เข้ามาในส่วนห้องจัดแสดงแรก ห้องธรรมชาติวิทยาที่บอกเล่าภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมแผนผังของสุรินทร์

“มีแสดงวัตถุ 3 ชนิดที่ใช้สร้างปราสาทขอม ได้แก่ อิฐโบราณ หินทรายใช้แกะสลัก ศิลาแลงใช้ปูฐาน ซึ่งหาได้ทั่วไปในแถบอีสานและกัมพูชา เมื่อมาถึงสุรินทร์ ต้องพูดถึงเรื่องข้าวหอมมะลิ มีตัวอย่างจัดแสดงข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงคือพันธ์ 105 ชื่อเต็มคือ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จะมีลักษณะคือขาวเหมือนดอกมะลิ หอมเหมือนใบเตยและ 105 เป็นลำดับแถวในแปลงทดลองปลูกเจริญงอกงามดีในจังหวัดสุรินทร์

สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมพื้นเมืองตามภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาเขมร เช่นขนมดอกบัว ภาษาเขมร ขนมพื้นบ้านที่ทำมาจากข้าว

  

ห้องที่ 2 ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี แบ่งเป็นสองโซน โซนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และโซนศิลปะเขมร ไฮไลท์ห้องนี้โซนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือหลุมฝังศพของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ พบเฉพาะพื้นที่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ การฝังศพมีสองระยะ จะนำศพไปฝังทั้งร่างให้เนื้อเยื่อเปื่อยสลายแล้วขุดศพขึ้นมาเลือกเฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญของร่างกายมาไว้ในเครื่องปั้นดินเผา เช่นกะโหลก มีสิ่งของอุทิศอยู่ด้านในด้วย เป็นการฝังครั้งที่สองและที่เป็นเอกลักษณ์คือการฝังศพภายในภาชนะขนาดใหญ่คล้ายๆแคปซูล พบเฉพาะทางทุ่งกุลาร้องไห้เท่านั้น


  

เป็นการนำหม้อสองใบประกบกัน โดยก้นประกบปาก หม้อใบเล็กเป็นฝังศพทารก

ยุคก่อนประวัติศาสตร์สักสามถึงสี่พันปี จะไม่ได้ฝังโดยบรรจุอะไรเลย จะเห็นโครงการกระดูก




ด้านซ้ายมือเป็นโครงกระดูกของจริง ได้มาจากปราสาทแห่งหนึ่ง ชั้นบนเป็นศิลปะสมัยขอมอายุประมาณ 900 ปีมาแล้ว ชั้นล่างลึกลงไปสองเมตร ขุดพบโครงกระดูกคนสมัยก่อนประวัติอายุราว 2,000 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน

ขวามือจะยุคใหม่ขึ้นมาก่อนเข้าสู่ประวัติศาสตร์ประเทศไทย เป็นยุคทวาราวดีอีสานเรียกว่าใบเสมา สัญลักษณ์ของการเข้ามาของศาสนาพุทธ


  

ถัดเข้ามาเป็นห้องสมัยศิลปวัฒนธรรมขอมหรือลพบุรี ส่วนในห้องนี้จัดแสดงชิ้นส่วนของที่ได้มาจากโบราณสถานขอมที่มีอายุในยุคเก่าแก่ ปราสาทภูมิโปน สมัยพุทธศตวรรษ ที่ 12 มีจารึกตัวอักษรปัลลวะที่มีต้นแบบจากประเทศอินเดีย

ทับหลัง เป็นรูปแบบศิลปะสมัยไพร กะเม็ง พุทธศตวรรษที่12- 13 มีเพียงชิ้นเดียวเป็นทับหลังที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย

  

ทับหลังของพระนารายณ์ทรงครุฑ แต่ประวัติความเป็นมาไม่ชัดเจน น่าจะได้จากการจับกุมผู้ลักลอบมาและนายอำเภอนำมามอบให้ที่นี่ หลายชิ้นที่เราได้มาจากการจับกุม



และการจำลองซุ้มประตูทางเข้าของปราสาทศีขรภูมิ เอกลักษณ์ของสุรินทร์ ซึ่งเต็มไปด้วยเทพในศาสนาฮินดู การร่ายรำของพระศิวะ การร่ายรำของพระศิวะแสดงถึงการเปลี่ยนแปงของโลกมนุษย์ด้วย

ชิ้นส่วนประติมากรรมเศียรที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร ได้มาจากปราสาทตาพรหม  อีกสองชิ้นข้างๆ เรียกว่ากลีบขนุน ใช้ประดับตกแต่งส่วนยอดของปราสาทจะมีรูปสลักของเทพเจ้าประจำทิศเบื้องใต้


แหวน  ในตู้นี้มาจากปราสาทตาเมืองธม ในช่วงการบูรณะปราสาทบริวาร เป็นสิ่งของวัตถุมงคลที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ สำหรับกษัตริย์ผู้สร้าง จะนำทรัพย์สินส่วนตัวมาถวาย ในช่วงของการบูรณะเมื่อยกหินแต่ละก้อนจะพบแผ่นทองหินเสียบอยู่  

  

ปัจจุบันปราสาทประธานองค์ที่เป็นยอดไม่เหลืออยู่แล้ว ส่วนหลังคาได้หายไปหมดแล้ว ซุ้มประตูด้านหน้าก็จะไม่มีแล้ว ปราสาทตาเมืองพรหม จะหันหน้าไปทางทิศใต้ พิเศษกว่าที่อื่น ของบางส่วนเก็บรักษาอยู่ในการดูแลของทหารไม่สามารถเคลื่อนย้ายใดๆ ได้



ประติมากรรมที่เป็นเอกลักษณของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระรัตนตรัยมหายาน เอกลักษณ์ของศิลปะของสมัยนั้นคือ ศิลปะบายน หน้าตาของพระพุทธรูป สงบนิ่ง ใบหน้าอมยิ้มน้อยๆ สมายล์อังกอร์

มีนักโบราณคดีหลายคนบอกว่า ใบหน้าของพระพุทธรูปในสมัยศิลปะบายนอาจจะได้รับรูปแบบมาจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  หน้าจะเหมือนกันหมด ต่างกันเพียงวรกาย

ทับหลังมาจากปราสาทศีขรภูมิที่เราไม่สามารถนำไปบูรณะที่นั่นได้ จึงนำมาไว้ที่นี่ ซึ่งหากนำไว้ที่นั่น อาจจะเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมหรือถูกทำลายได้ง่าย


  

  

ห้องประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ การจำลอง พระยาสุรินทร์ภักดีฯ เจ้าเมืองคนแรกของสุรินทร์ เชื้อสายชาวกูย ชนชาติที่มีความสามารถในการจับช้างป่าและเลี้ยงช้างใช้งาน จึงเป็นที่มาของการมีความสามารถในการเลี้ยงช้างของคนสุรินทร์  สมัยรัชกาลที่ 1 ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็นเมืองสุรินทร์ ตามสร้อบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง จึงกลายเป็นจังหวัดสุรินทร์ ดังปัจจุบัน


  

  

ห้องชาติพันธ์วิทยา กลุ่มคนในจังหวัด มี 3 กลุ่ม การจำลองวิถีชีวิตของชาวกูย หรือ กวย ส่วย พิธีแกลมอ เป็นประเพณีพิธีการรักษาผู้เจ็บป่วย เป็นการรักษาทางด้านจิตใจ มีแม่หมอมาปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่น่าจะเป็นสาเหตุของโรคภัย มีการประดิษฐ์ของเล่น หุ่นม้าไม้ เครื่องดนตรีประกอบพิธีกรรมด้วย  

  

ส่วนบนบ้าน เป็นวิถีชีวิตของชาวเขมร การแต่งงานของชาวเขมร ขั้นตอนพิธีกรรมก็จะมีข้าวของเครื่องใช้และของมงคล ข้าวต้มมัด เครื่องคาวหวาน ในมือถืออุปกรณ์ที่ใช้กินหมาก ครีมหนีบหมากและเต้าปูน มีการโปรยข้าวตอก ข้าวสาร ปัจจุบันยังมีการแต่งงานในรูปแบบนี้อยู่ พร้อมกับจัดแสดงกลุ่มชน ลาวที่มีความสามารถในการทอผ้าไหมได้งดงาม

  

ห้องสุดท้าย มรดกดีเด่น จัดแสดงเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของสุรินทร์ มีทั้งผ้าไหม การแสดงนาฏศิลป์ และห้องเครื่องเงิน ศิลปะการแสดงพื้นบ้านและวิถีชีวิตของกูยกับช้าง

ที่นี่เปิดให้ชมฟรี เปิดพุธ ถึงอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00- 16.00 น. โทร 04415 3054 ปิดวันจันทร์ อังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ส่วนค่ำคืนนี้ เราก็ได้มีโอกาสร่วมงาน การแสดงแฟชั่นโชว์นานาชาติ ทั้งจากเหล่าเซเลบของจังหวัดและจากประเทศต่างๆ กว่า 15 ประเทศ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ก่อนกลับที่พัก 



  



  

  

  



  

  

  

  

ชุมชนบ้านสวาย

เช้าตรู่วันสุดท้ายของทริป รองผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ พาเราไปเยี่ยมเยียนศูนย์แสดงสินค้าชุมชนหรือ OTOP ก่อนจะเดินทางกันต่อไปยังชุมชนตำบลสวาย 

  

  

ใครจะหาซื้อของฝากสามารถแวะเข้ามาที่นี่ได้ มีของที่ระลึกทุกอย่าง ทั้งเครื่องนุ่งห่ม ของตกแต่งบ้าน 

หลังจากร่ำลากัน เราก็เดินทางกันต่อเพื่อไปยัง ชุมชนตำบลสวาย 

คุณทวีป บุญวร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย ได้แนะนำชุมชนแห่งนี้ว่า “เป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยตั้งเมืองสุรินทร์ ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจ คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เมื่อหมดฤดูทำนา มักใช้เวลาที่เหลือทอผ้าไหม เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของสุรินทร์ จุดเด่นของผ้าไหมอยู่ที่กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนมีความยาก ต้องใช้ความสามารถและอาศัยความชำนาญ โดยเฉพาะการทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรอินทรีย์ไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวนอกเหนือจากการเยี่ยมชมกระบวนการทอผ้าไหมที่สวยงามของชุมชน

“ขณะนี้ทุกหน่วยงานเริ่มเข้ามาที่ชุมชนบ้านสวาย เราได้รับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นแหล่งไหมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ละครเรื่องนาคี ใช้ผ้าไหมของที่นี่ด้วยเช่นกัน”

ตำบลสวายมีลายมากที่สุดคือลายผ้าไหม จึงมาจุดประกายงานนี้เพื่อเป็นแหล่งซื้อหาเรียนรู้ เพราะเรามีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นักท่องเที่ยวที่อยากมาเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน จากการที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพบว่า วิถีชุมชนคือแหล่งท่องเที่ยวหลักที่นักท่องเที่ยวสนใจ

มีจุดศูนย์รวมแต่ละหมู่บ้านที่ผลิตผ้าไหมได้ 1700 กว่าครัวเรือน จึงสนับสนุนให้พี่น้องมีรายได้เพิ่ม การรวมกลุ่มแต่ละครั้งแต่เดิมยากมาก เพราะพี่น้องยังไม่เข้าใจ แต่ปัจจุบันรวมกลุ่มกันได้แล้ว”

ติดต่อสอบถามการท่องเที่ยวชุมชน ได้ที่อบต. บ้านสวาย โทร 044 454 6595

 พระพุทธรูปดินปั้นพันปี



แต่ก่อนจะไปพบกับกลุ่มทอผ้าไหม คุณทวีปได้นำเราไปสักการะ พระพุทธรูปดินปั้น อายุนับพันปี วัดตาตอมจอมสวายเพื่อเป็นสิริมงคลกันก่อน คุณกิ่งแก้ว บุญสุข ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระดินปั้นของวัด มีธาตุดินมาแต่ดั้งเดิม มีความสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ ตำนานเล่าขานเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่ได้เป็นคนดีหรือทำความดีจะอยู่ในเขตตรงนี้ไม่ได้

ผู้สร้างตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า มีภรรยาผู้หนึ่งประพฤติผิดต่อสามี จึงสร้างพระขึ้นเพื่อไถ่บาป อายุนับพันปีมาแล้ว ที่นี่ศักดิ์สิทธิ์เรื่องความดีและการงาน และจะมีการทำบุญในทุกๆ ปี ชาวบ้านจะมาจากทุกสารทิศ แม้แต่พระจะมาจากเขมรและศรีลังกามาด้วย 

  

กลุ่มหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย

  

  

ถัดมา เป็นการเยี่ยมชมกลุ่มหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย ที่นี่เราพบกับ ป้าสำเนียง บุญโสดากร เดิมมีอาชีพทำนาสลับกับการทอผ้าไหมเมื่อครั้งบรรพบุรุษ ปัจจุบัน การทอผ้าได้รับการยอมรับจนสามารถสร้ายรายได้เลี้ยงชีพจนหันมาทอผ้าเพียงอย่างเดียว

ป้าสำเนียง บอกว่า “ที่นี่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการย้อมสี ส่วนลายที่ได้รับความนิยม เป็นลายพญานาค และเป็นลายที่ บัวขาว นักชกชื่อดังเข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์ให้ โดยททท.”



  

ศูนย์เรียนรู้ไหมย้อมสีธรรมชาติ โดยครูทอผ้าแม่สำเนียง โทร 044 546 656

ใกล้กันเป็น กลุ่มทอผ้า อุตตมะ ไหมไทย ซึ่งได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน หากจะเข้าไปเยี่ยมชม สามารถติดต่อไปได้ที่ โทร 084 959 9749

  

  

  

  

  





วนอุทยานพนมสวาย



เราจบทริปกันด้วย วนอุทยานพนมสวาย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลนาบัว เขตป่าสงวนแห่งชาติ ลักษณะเป็นยอดเขา 3 ลูก มี พนมเปร๊าะ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสุรินทรมงคลหรือ พระใหญ่” ปางประทานพร ขนาดหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 21.50 เมตร พระเนตรขาวประดับด้วยเปลือกหอยมุก พระเนตรดำทำด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงหล่อรมดำ ประทับนั่งขัดสมาธิ เป็นจุดชมทิวทัศน์มุมสูงของวนอุทยานพนมสวายด้วย

พนมสรัย ที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม และมีสระน้ำโบราณอยู่

พนมกรอล พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่ย้ายมาจากยอดเขาพนมเปร๊าะ  มาประดิษฐานไว้ในศาลาและบริเวณใกล้เยงกันเป็นที่ตั้งสถูปอัฐิพระราชวุฒาจารย์(หลวงปู่ดุล อตุโล) พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน และมีศาเจ้าแม่กวนอิมให้สักการะ

ในอดีตบรรพบุรุษชาวสุรินทร์ ถือว่าเขาพนมสวายเป็นสถานที่แสวงบุญ จะมีการเดินขึ้นยอดเขาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี

  

  



                  

...... สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม คำขวัญประจำจังหวัดที่คัดสรรมา ... ดูเหมาะสมยิ่งนัก 

การได้มาสัมผัสกับวิถีชุมชนในครั้งนี้ บ่งบอกถึงความเข้มแข็งของวัฒนธรรมที่ไม่ได้มาจากผู้ใดเลย แต่มาจากชาวชุมชนที่รักษ์และรักในความเป็นอัฒลักษณ์แลรากเหง้าของตนเอง และพร้อมที่จะสืบทอดให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน 

....แล้วคุณล่ะ พร้อมหรือยังที่จะมาพิสูจน์ดินแดนมหัศจรรย์ที่ร่ำรวยลมหายใจแห่งศิลปวัฒนธรรมถิ่นนี้