มาเลเซีย ในวันที่มุมมองเปลี่ยนไป (ตอน 2) 

รุ่งอรุณวันที่สอง ที่เกนติ้งและปุตราจายา




เช้าวันใหม่ดาโต๊ะพาคณะขึ้นไปเยือน Genting Highlands อยู่ในพื้นที่รัฐปะหัง ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ 51 กิโลเมตร จากนั้นนั่งกระเช้าขึ้นสู่ยอดเขาที่มีความสูงถึง 2,000 เมตรอากาศหนาวเย็น และมีหมอกตลอดปี บนยอดเขาเต็มไปด้วยความบันเทิงหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น คาสิโน โรงแรมหรู โรงภาพยนตร์ สนามกอล์ฟ และสวนสนุกอีก 2 แห่ง คือ Outdoor Theme Park และ First World Indoor Theme Park


   

   

   

   

   

   

   

ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นกลางสายหมอกที่ลงจัดจนแทบจะมองอาคารไม่เห็น เราหยุดบันทึกภาพกัน ไม่นานนักเราก็กลับกันลงมาเพื่อไปเที่ยวกันต่อ


เมืองใหม่ ปุตราจายา




เมืองใหม่ ปุตราจายา ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดจากแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่สร้างเมืองขึ้นเพื่อเป็นที่ตั้งของฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศ อยู่ทางตอนใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีพื้นที่ราว 4,932 เฮกเตอร์ส่วนประกอบสำคัญของเมืองได้แก่ทะเลสาบที่สร้างขึ้นโดยการขุด จึงทำให้เมืองปุตราจายามีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และมีสะพานที่ออกแบบอย่างสวยงามถึง 5 สะพาน


   

   

ปุตราจายา เป็นเขตปกครองพิเศษ สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่อยู่บนพื้นที่ของรัฐสลังงอร์ อยู่ห่างไปจากกัวลาลัมเปอร์ทางทิศใต้ 25 กิโลเมตร ชื่อ “ปุตราจายา” นี้มาจากชื่อนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย นามว่า “ตนกู อับดุล รามัน ปุตรา อัลฮัจ”


Putrajaya Sentral เขตเมืองใหม่แห่งนี้มีศูนย์กลางการคมนาคม คล้ายกับ KL Sentral ในกัวลาลัมเปอร์


   

สถานที่สำคัญในเมืองนี้มี มัสยิดปุตรา (Putra Mosque) หรือมัสยิดสีชมพู มีทะเลสาบด้านข้างมัสยิดซึ่งสามารถมองเห็นเงาสะท้อนสีชมพูที่ผิวน้ำจนดูเหมือนมัสยิดลอยน้ำ มัสยิดปุตราเป็นอาคารรูปโดมสีชมพู สร้างขึ้นจากแกรนิตสีชมพูสวยงาม สามารถรองรับชาวมุสลิมที่เข้ามาทำพิธีทางศาสนาได้ประมาณ 15,000 คน ผนังใต้ดินเหมือนกับผนังของห้องใต้ดินของมัสยิดกษัตริย์ฮัตซันในเมืองคาซาบลังกา ประเทศโมรอคโค


   

ประกอบด้วยพื้นที่ใช้งานสามส่วนด้วยกันได้แก่ ห้องสวดมนต์ ลานนอกสุเหร่า (Sahn) ห้องเรียนและห้องประชุมต่างๆ ห้องสวดมนต์มีความเรียบง่ายทว่าสง่างาม มีเสา 12 เสา จุดสูงสุดใต้โดมอยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน 250 ฟุต


นอกจากนี้ จะมีหอคอยสูงที่สวยงามที่สร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลมาจากมัสยิดชีคโอมาร์ในแบกแดด หอคอยดังกล่าวมีความสูง 116 เมตร และเป็นหนึ่งในหอคอยที่สูงที่สุดในภูมิภาค มีห้ายอด เป็นสัญลักษณ์ของเสาหลักทั้งห้าในศาสนาอิสลาม และที่ริมทะเลสาบยังมีสะพานเสรีวาวาซาน (Seri Wawasan) สะพานขึงรูปร่างแปลกตาอีกด้วย


   ด้านหน้าของมัสยิดปุตรา คือ ปุตราสแควร์ (Putra Square) ลานกว้างแห่งนี้มีรูปดาว 13 แฉก หมายถึงรัฐทั้ง 13 ของมาเลเซีย มีธงของแต่ละรัฐตั้งอยู่ตามแฉกต่าง ๆ ตรงกลางเป็นธงชาติมาเลเซีย และสถานที่อีกแห่งคือ ที่ทำการนายกรัฐมนตรี (Perdana Putra Complex) เป็นอาคารขนาดใหญ่มียอดโดมสีฟ้า ด้านหลังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ตรงกลางสวนเป็นที่ตั้งของวังเมลาวาตี (Istana Melawati)   

   

เปอร์ดานาปุตรา (Perdana Putra)เป็นทำเนียบรัฐบาลของคณะรัฐมนตรีของมาเลเซีย ตั้งอยู่บนยอดเขา มีสถาปัตยกรรมที่คล้ายๆ กับมัสยิด แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างศาสนาและวิถีชีวิตของชาวมาเลเซียได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวหากจะเดินทางมาปุตราจายาด้วยรถสาธารณะ ไม่ค่อยสะดวก ทางที่ดีเช่ารถยนต์หรือเรียกแท็กซี่จะทำให้ช่วยมาสำรวจปุตราจายาได้สะดวกขึ้น


   

   

   

   

-------------------------------------------------------------------------------------------------------


วันที่ 3 บนไร่ชา คาเมรอน ไฮแลนส์




วันนี้ดาโต๊ะพาคณะขึ้นไปเยือนไร่ชาที่มีชื่อเสียงของมาเลเซีย คาเมรอน ไฮแลนส์ (Cameron Highlands) ที่รัฐปาหังจากพื้นราบนั่งรถเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาขึ้นยอดภู ไล่ตามกันด้วยรถตู้สองคัน ที่นี่ทั้งสภาพอากาศและภูมิประเทศคล้ายกับทางแม่ฮ่องสอนหรือเชียงรายบ้านเรา โดยเฉพาะบริเวณที่ปลูกชา แต่การปลูกชาแม้จะลดหลั่นไล่เชิงเขา แต่เขาจะปลูกเป็นหย่อมๆ ไม่ได้ปลูกไล่ยาวเหมือนบ้านเรา


หนึ่งกิจกรรมยอดนิยมในคาเมรอน ไฮด์แลนด์ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่นี่ก็คือ การจิบชาและกินขนมสโคน ธรรมเนียมในแบบอังกฤษนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยที่มาเลเซียเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ นายทหารชาวอังกฤษใช้ที่ราบสูงแห่งนี้เป็นสถานที่ผ่อนคลายจากอากาศร้อนในเมืองด้านล่าง กิจกรรมอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ การเดินป่าและการดูนก


ที่ราบสูงคาเมรอน ไฮแลนส์ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร บนที่ราบสูงมีเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่เช่น ริงเกล็ต ทานาห์ราตา บรินชาง ตริงกัป กัวลาเตอร์ลา และกัมปงรายา นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังที่ราบสูงแห่งนี้ได้อย่างง่ายดาย คาเมรอน ไฮแลนส์อยู่ห่างจากทางหลวงสายเหนือ-ใต้ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และสามารถขับรถมาจากเมืองกัวลาลัมเปอร์โดยใช้เวลาเพียง 3.5 ชั่วโมงเท่านั้น


   

   

   

คาเมรอน ไฮแลนส์ เป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย เมื่อไต่เลาะเรื่อยตามทาง เราจะพบหมู่บ้านเล็กๆ มีฟาร์มผีเสื้อ ไร่สตรอเบอร์รี่ ที่ YZ Agro Farm ไร่สตรอเบอรี่ ของเพื่อนดาโต๊ะชาวมาเลเซีย หนึ่งในเจ้าของฟาร์ม ให้การต้อนรับ เปิดตั้งแต่เวลา 8.30 -  18.30 น. ทุกวันเว้นวันอังคาร


   

YZ Agro Farm ภายในฟาร์มแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของสตรอเบอรี่พันธ์มนตรีและพันธ์เฟสติวัล เปิดให้คนเข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่ปี 2010 รวมถึงจุดให้บริการกาแฟ เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสตรอเบอรี่ อาทิ กาแฟสตรอเบอรี่


   

   

   

    



ละแวกใกล้เคียง มีโรงเรียนนานาชาติ มีร้านอาหารเล็กๆ มีโฮสเทล และมินิโฮสเทลไว้รองรับนักท่องเที่ยว แต่หากไกลจากไร่สตรอเบอรี่ออกมาหน่อย อีกมุมหนึ่งระหว่างทางจะพบโรงแรมสไตล์ทิวดอร์ในชนบทเก๋ๆ ไว้บริการ ตั้งแต่แบบห้าดาว สี่ดาว สามดาวละไล่ลงมา มีร้านอาหาร ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า หากต้องการสัมผัสกับบรรยากาศที่แสนจะบริสุทธิ์ เย็นๆสบาย ถือว่าเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับคนไทยจริง ๆ


   

   

   




   

ค่ำนี้ เรามีนัดกับครูและนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่มัรโบะ  Laguna Ikhwan หุบเขาแห่งภราดรภาพ โรงเรียนสอนทั้งศาสนาและการปฏิบัติกิจกรรมด้านศาสนา โดยเด็กๆ จะได้รับการสอนให้อ่านและเขียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน และการละหมาด มีหลักสูตรเฉพาะที่อาจารย์ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้กล้าแสดงออก เด็กนักเรียนมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศไทยทั้งหมด 43 คน โดยมีอุสตาส (ครู) มีทั้งจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย มีทั้งหมด 11 คน เด็กๆ ทั้งหมดถือเป็นลูกหลานของอิควาน ซึ่งจะสืบทอดเจตนารมณ์ในการสอนศาสนาต่อไป


   

ดาโต๊ะ ซึ่งบริหารโรงเรียนแห่งนี้ด้วย บอกว่า “ การศึกษาที่นี่จะสอบคัดเลือก ไม่ได้มาจากการท่องจำอย่างเดียว มีการปรับพื้นฐาน เหมือนไก่ป่า เราพัฒนาคนให้เขาเติบโตโดยไม่ต้องใช้งบของรัฐบาล เมื่อสร้างบุคลากรแล้ว หลังจากนั้นเขาก็จะดำเนินชีวิตในสังคมได้ต่อไป เหมือนไก่ป่าปล่อยที่ไหนก็มีชีวิตรอด


พื้นที่นี้เดิมเป็นสวน กว้างยี่สิบกว่าไร่ ตอนหลังดาโต๊ะได้เข้ามาปรับและพัฒนาพื้นที่ โดยมีส่วนของอาคารเรียน โรงนอน ห้องโถงแสดง ส่วนสอนอาชีพ มีการทำบะหมี่ทั้งเพื่อไว้ทานเองและจำหน่ายเพื่อหล่อเลี้ยงโรงเรียน และที่ดาโต๊ะตั้งใจจะทำให้สำเร็จคือส่วนชมภาพยนตร์ เพื่อรองรับผู้มาเยือนให้ได้ชมความเป็นมาของทางโรงเรียน “


แล้วค่ำนี้เราก็จุ๊บมือร่ำลากันในช่วงเวลาเกือบเที่ยงคืน การแสดงออกถึงความเคารพต่อผู้ใหญ่ โดยผู้ที่อ่อนเยาว์กว่าจะเป็นผู้โน้มก้มศีรษะต่ำลงและจูบที่หลังมือของผู้มีอายุสูงกว่า  ครั้งนี้ฉันได้รับเกียรติในการจูบมือหลายต่อหลายครั้งต่อเด็กในโรงเรียนต่างๆ ที่ดาโต๊ะพาไปเยือน ทำเอาแอบปลื้มอยู่ในหัวใจไม่หายเลยทีเดียว


   


   






_______________________________________________________

วันสุดท้ายในดินแดนมาเลเซีย


“สลามัตปากี”

เช้านี้ทุกคนเก็บสัมภาระขึ้นรถตู้ เพื่อเดินทางไปต่อกันยัง โรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงมูลนิธิ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตน้ำดื่มซึ่งสามารถผลิตจำหน่ายได้วันละนับหมื่นขวด โรงงานผลิตขนมปัง โรงเรียน Ikhwan Stable ซึ่งรับเด็กพิเศษเข้ามาร่ำเรียนผสมผสานกับเด็กธรรมดา ด้วยการใช้ม้าในการบำบัด แต่เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม โรงเรียนจึงเปิดรับนักเรียนจากที่ต่างๆเข้ามาออกแคมป์ซัมเมอร์ วันนี้ฉันและคณะจึงได้เห็นลีลาการร่ายรำของเด็กสาว และฟังน้ำเสียงประสานของเด็กหนุ่มที่ตั้งอกตั้งใจร้องกันอย่างมากๆ


โรงงานผลิตน้ำดื่ม


   

   

   

โรงงานขนมปัง


   

โรงเรียน Ikhwan Stable


   

   

   

   

การเดินทางมาทริปนี้ ผู้จัดได้พาคณะสื่อมวลชนขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯ มาลงกัวลาลัมเปอร์ และแวะเยี่ยมชมสัมผัสวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในมาเลเซียละเรื่อย ผสมกับการท่องเที่ยวในแบบเบาๆ ตามสถานที่ต่างๆ และเลาะขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อมาจบที่ชายแดนเพื่อข้ามไปยังฝั่งไทยและขึ้นเครื่องจากสงขลากลับสู่เมืองไทย


ต้องขอขอบคุณทุกท่านและคุณรชต ลาตีฟี มุสลิมใจบุญจากเมืองไทย ผู้นำพาสิ่งดีๆ ให้เราชาวพุทธได้เรียนรู้และสัมผัสกับความเอื้ออารีย์ น้ำใสใจคอที่น่ารักของคนมุสลิมในครั้งนี้ ที่บอกถึงความตั้งใจกับฉันเมื่อวันก่อนว่า "สิ่งที่อยากให้สังคมได้รับรู้  คือ วิถีชีวิตของคนมุสลิม ภาพลักษณ์ต่างๆ ถูกมองไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องและถูกเผยแพร่ขยายความไปโดยสื่อมวลชน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ได้นำสื่อมวลชนเข้ามาสัมผัส ผมก็เป็นมุสลิมคนหนึ่งแต่ไม่เคยมีวิถีชีวิตแบบนี้  และครั้งหนึ่งเมื่อได้เข้ามาสัมผัส  ก็รู้สึกว่า ใช่ จริงๆ ทำให้ผมรู้สึกว่าอยากบอกต่อ และอยากชวนให้คนทั่วไปได้มาเห็นอย่างที่ผมเห็นและสัมผัส อย่างน้อยๆ ได้รู้ว่าวิถีชีวิตของชาวมุสลิมเป็นแบบไหน ชีวิตเป็นอย่างไร ที่ฟังมาไม่ใช่


อย่างน้อยเป็นหนึ่งเสียงที่สามารถพูดออกไปได้ว่ามุสลิมไม่ใช่มีแต่ภาพที่เขาเผยแพร่กัน ตรงนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักเลยที่ผมเชิญสื่อมวลชนมา เพื่อให้เขามีกระบอกเสียง เพื่อให้คนได้มองคนมุสลิมในมุมที่ดีขึ้น  ผมยินดีมากหากจะมีสื่อท่านใดต้องการมาสัมผัสและเข้าใจวิถีของมุสลิม "


สำหรับชาวไทยแล้ว  ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2560 ทางมูลนิธิเพื่อภราดรภาพ จะจัดงานภายใต้ธีมส์Love & Care โดยจัดเป็นอินเตอร์  ให้มีการแต่งงานหมู่ โดยเชิญคู่บ่าว สาว จากเครือข่ายทั่วโลก  มาเข้าพิธีสมรสหมู่ที่นี่ ประมาณ 30 คู่  มีการฉายภาพยนตร์ มีละครเวทีกำกับการแสดงโดย มารุต สาโรวาท เป็นการนำส่วนประวัติศาสตร์ของศาสดามาถ่ายทอดในรูปแบบละครเวที จะมีการทำบทเพลงหรือนาซิส แปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนทุกศาสนาเข้าใจได้ง่ายขึ้น นำเนื้อหามาแปลและแต่งให้สวยงามขึ้นโดยหลักการยังอยู่เหมือนเดิม และมีการแจกสิ่งของ มอบทุนการศึกษา


โดยดาโต๊ะ กล่าวเสริมว่า  “ในยุคปัจจุบัน การแต่งงานต้องใช้งบสูง ค่อนข้างสิ้นเปลืองทั้งค่าสินสอด ค่าโรงแรมและพิธีการต่างๆ จึงทำให้ตัดสินใจไม่แต่งงานกัน ใช้การอยู่ร่วมกันไปเลย ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกด้วย ซึ่งก่อนการแต่งงาน ทางมูลนิธิฯ จะจัดอบรม ให้รู้ถึงการปฏิบัติตัว การใช้ชีวิตคู่ การอยู่ด้วยกันอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งการจัดการแต่งงานหมู่ ยังเข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในการประหยัดและถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพอเพียงด้วย...”


สำหรับการแถลงข่าวการจัดพิธีสมรสหมู่ในเดือน 2560  เตรียมติดตามกันได้ทางข่าวสารของ www.biztripnews.net ซึ่งจะนำในคราวต่อไป

“สื่อมวลชนมาจะเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยกรองข่าวที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชน ให้รับทราบว่าจริงๆแล้ววิถีชีวิตมุสลิมเป็นแบบไหน ซึ่งสื่อเองเมื่อได้สัมผัสแล้วถ่ายทอดไป จะมีความน่าเชื่อถือ เพราะนำเสนอเรื่องจริงที่ได้จากประสบการณ์ตรง” คุณรชต เสียงที่บอกถึงความตั้งใจ


.......สำหรับผู้เขียนแล้ว บิซทริปนิวส์ เป็นเพียงกระบอกเสียงจากสื่อเวปไซต์เล็กๆ อาจเผยแพร่ข่าวสารได้ไม่มากมายทั่วถึงดั่งสื่อเวปไซต์ชื่อดังของประเทศ แต่เชื่อเถอะว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ผู้เขียนในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่ง จะเพียรพยายามให้ข้อมูลอันแท้จริงต่อผู้คนจากประสบการณ์การเข้ามาสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวมุสลิมที่มากด้วยน้ำจิตน้ำใจ มากด้วยรอยยิ้มและความเอื้ออาทร


.....และจะเพียรพยายามให้ผู้คนได้เข้าใจและหลงรักชาวมุสลิมเหมือนดั่งที่ฉันตกหลุมรักเข้าแล้วอย่างเต็มหัวใจ


                                                         “เตอรีมา  กาเซ๊ะ”


                                                       (Terima  Kasih)







ขอขอบคุณ


ดาโต๊ะ มูฮำมัด อาดำ


คุณรชต  ลาตีฟี


คุณมูฮำมัด เฟาซีฮ์


คุณมณสิการ รามจันทร์


คุณชดา บูรณะพิมพ์ และพี่น้องมุสลิมที่น่ารักทุกท่าน


เนื้อร้องของเพลง ปรัชญามนุษย์ เป็นเพลงภาษามลายู ที่เฟาซีฮ์ ร้องให้ฟังบนรถตู้ขณะพาท่องเที่ยว


อันคนเราทุกคน มีเชื้อสายเดียวกัน มาจากพ่อเดียวแม่เดียวกัน เผ่าพันธุ์ต้นตระกูล ของมนุษย์มีหนึ่งเดียว เกิดมาจากอาดัมส์และอีวา พระเจ้าเป็นผู้ทรงเอกา เป็นผู้ที่สร้างมวลมนุษย์ขึ้นมา แล้วจึงกลับกลายมาเป็นเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์มากมาย หลายหลากภาษา


อันคนเราทุกคน ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ถึงจะต่างกัน เรื่องเชื้อชาติ จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน มนุษย์ไม่อาจโดดเดี่ยวเดียวดายอยู่เพียงลำพัง ถึงจะเก่งและร่ำรวย เป้าหมายของคนเราคือสิ่งเดียวกัน อยากให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง อยากให้มีความรักเอื้ออาทร อยากให้มีความสุขสมร่มเย็น


แล้วเพราะเหตุใดจึงต้องมาเป็นศัตรูกัน ใยจึงต้องมารุกรานและเข่นฆ่ากัน เหตุไฉนจึงละทิ้งความรักความผูกพัน เพราะเหตุใดถึงได้ยอมทิ้งสันติภาพ ความจริงแล้วมันคือ อาหารของหัวใจ ที่ไม่มีใครขาดมันไปได้เลย โปรดหยุดยั้งการเป็นศัตรู หลีกเลี่ยงกันไปให้ห่างความขัดแย้งกัน หันมาสร้างความรัก ความห่วงใยกัน ...


เพื่อสร้างความร่มเย็น สร้างสันติภาพและความสงบสุข เริ่มจากความรักและความห่วงใยของผู้นำ ผู้นำพาสันติภาพสู่มวลมนุษย์