คณะกรรมการประชุมติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างแดนกลับคืนสู่ประเทศไทย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการอิสระ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม



ที่ประชุมฯ ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย กรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 

ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำหนังสือถึงสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations; HSI) สหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอคืนทับหลังทั้ง ๒ รายการ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ส่วนความคืบหน้าการขอคืนโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู สหรัฐอเมริกา จำนวน ๑๗ รายการ ผลการศึกษาพบว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย จำนวน ๑๔ รายการ กรมศิลปากรจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations; HSI) สหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ไปแล้วเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เพื่อเป็นข้อมูลในการขอคืนต่อไป

สำหรับเรื่องที่นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมฯ มี ๔ เรื่อง ได้แก่

 - ผลการพิจารณาของอนุกรรมการด้านวิชาการฯ กรณีโบราณวัตถุที่จะติดตามเพิ่มเติม จำนวน ๒๔ รายการ แบ่งเป็นองค์ประกอบโบราณสถานของไทย จำนวน ๖ รายการ และประติมากรรมกลุ่มประโคนชัยจำนวน ๑๘ รายการ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้จัดส่งข้อมูลและหลักฐานเพื่อดำเนินการติดตามนำกลับสู่ประเทศไทย

โดยยืนยันได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยจริง จำนวน ๒๓ รายการ แบ่งเป็นองค์ประกอบโบราณสถานของไทย จำนวน ๕ รายการ ได้แก่ เสาติดผนัง ปราสาทพนมรุ้ง ๒ รายการ ทับหลังแสดงภาพเล่าเรื่องรามายณะ ปราสาทพนมรุ้ง ๑ รายการ ประติมากรรมรูปม้า ปราสาทพนมรุ้ง ๑ รายการ ทับหลังแสดงรูปบุคคลเหนือแนวหงส์ ปราสาทพิมาย ๑ รายการ ส่วนทับหลัง ปราสาทตาเมือนธม ได้ชะลอการจัดส่งข้อมูลเพื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อน สำหรับประติมากรรมกลุ่มประโคนชัย จำนวน ๑๘ รายการ  เห็นชอบให้จัดส่งข้อมูลและหลักฐานทุกรายการ

- ผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ กรณีโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์จำนวน ๑๓ รายการ ที่นาง Katherine Ayers-Mannix ชาวอเมริกัน ประสงค์จะส่งมอบคืนให้กับประเทศไทยยืนยันได้ว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยจริง ที่ประชุมฯ จึงเห็นชอบให้ดำเนินการขอรับคืนตามขั้นตอนต่อไป

- การพิจารณาเบื้องต้น กรณีโบราณวัตถุ จำนวน ๖๙ รายการ ซึ่งสำนักสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations; HSI) สหรัฐอเมริกา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยตรวจสอบ เพื่อดำเนินการขอรับคืนต่อไปนั้น การพิจารณาจากภาพถ่ายเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย ภาชนะดินเผา เครื่องประดับสำริด และขวานสำริด เห็นสมควรขอรับคืนกลับสู่ประเทศไทย ที่ประชุมฯ จึงมอบคณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ศึกษา วิเคราะห์เพิ่มเติม และนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมฯ ครั้งต่อไป

-การพิจารณาเบื้องต้นกรณีโบราณวัตถุที่จัดแสดง ณ Norton Simon Museum เมืองพาซาดีน่ารัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จำนวน ๑๐ รายการ  ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศขอให้ตรวจสอบเพื่อดำเนินการติดตามนำกลับสู่ประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ จะได้ทำการศึกษา วิเคราะห์และนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมฯ ครั้งต่อไป