สธ.ห่วง 3 อาชีพเมืองกรุง เสี่ยงสูดฝุ่นขนาดเล็กเกินขนาด แนะทางป้องกัน พร้อมเปิด 40 ไม้ประดับ ตัวช่วยดักจับฝุ่นละอองและดูดสารพิษในสิ่งแวดล้อม

       นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอนเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันปัญหา โดยในส่วนของ คร.มีความเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องอาศัยหรือทำงานอยู่บริเวณพื้นที่ค่าฝุ่นละอองสูง โดยอาชีพที่น่าห่วง คือ วินมอเตอร์ไซค์ เพราะหลายครั้งผลกระทบจากฝุ่นละอองไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เป็นระยะยาว ซึ่งต้องมีการตรวจและติดตามอย่างสม่ำเสมอ และ คร.ก็มีความเป็นห่วง และได้มอบให้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักโรคติดต่อทั่วไป ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดคลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดีขึ้น และเตรียมจะเสนอและผลักดันให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เพื่อให้สิทธิในการตรวจหากลุ่มโรคที่เกี่ยวกับฝุ่นละออง เบื้องต้นคาดว่าน่าเป็นรูปธรรมในกรณีของคลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดี โดยภายในปีนี้จะมีคลินิกนำร่อง ซึ่งจะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
             ด้าน พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 2.5 ไมครอนนั้น ต้องระวังเป็นพิเศษใน 3 กลุ่มอาชีพ คือ ตำรวจจราจร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างหรือ วินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มอาชีพทำความสะอาดถนน หรือกวาดถนน ยิ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน แม้จะไม่ได้อยู่นานเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่อยู่เป็นประจำแทบทุกวันก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เนื่องจากไม่มีทางทราบว่า พวกเขาจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างไรบ้าง นอกจากจะป่วยและเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการป้องกัน แม้จะแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 แต่ปัญหาคือ หน้ากากชนิดนี้ค่อนข้างใหญ่และอึดอัด หลายคนอาจไม่สะดวก แต่การใส่หน้ากากคาร์บอนก็พอช่วยได้

            นอกจากนี้ นพ.ดนัย ธีวันดา  รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้รวบรวมไม้ประดับที่สามารถเป็นตัวช่วยดักจับฝุ่นละอองและช่วยดูดสารพิษในสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งถือเป็นตัวช่วยเสริมที่ดี เนื่องจากไม้ประดับจะดึงดูดจุลินทรีย์ให้มาอยู่บนหรือรอบๆราก และย่อยสลายโครงสร้างอินทรีย์สารที่ซับซ้อนได้ อีกทั้งใบของต้นไม้ยังสามารถดูดซับสารอินทรีย์ที่เป็นก๊าซและย่อยหรือถ่ายโอนของเสียไปยังรากเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับจุลินทรีย์ ซึ่งไม้ประดับที่ช่วยดูดสารพิษมีทั้งสิ้น 40 ชนิดและเป็นพืชที่สามารถหายได้ในประเทศไทย ได้แก่ 1.หมากเหลือง 2.จั๋ง 3.ออมทอง 4.กล้วยแคระ 5.คริสต์มาส 6.กุหลาบหิน 7.ลิ้นมังกร 8.หางจระเข้ 9.สนฉัตร 10.เยอบีร่า 11.เบญจมาศ 12.ไทรย้อยใบแหลม 13.ซุ้มกระต่าย 14.ปาล์มใบไผ่ 15.เดหลี 16.ปาล์มไผ่ 17.พลูด่าง 18.บอสตันเฟิร์น 19.เขียวหมื่นปี 20.สโนว์ดรอบ 21.มรกตแดง 22.หนวดปลาหมึก 23.สาวน้อยประแป้ง 24.โกสน 25.ยางอินเดีย 26.สับปะรดสี  27.ไทรใบเล็ก 28.วาสนาอธิษฐาน 29.ประกายเงิน 30.เศรษฐีเรือนใน 31.ไอวี 32.แววมยุรา 33.เข็มริมแดง 34.ฟิโลหูช้าง 35.ฟิโลเซลลอม 36.ฟิโลใบหัวใจ 37.หน้าวัว 38.เสน่ห์จันทร์แดง 39.กล้วยไม้พันธุ์หวาย และ40.สิบสองปันนา
            ทั้งนี้ กรมควบคุมลพิษ รายงานสภาพอากาศ เมื่อเวลา13.00 น.วันที่ 16 ก.พ.จากการวัดค่าฝฝุ่นละอองขนาด PM10 ใน 8 พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร พบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง