พม. ปรับกระบวนยุทธศาสตร์กระทรวงฯ ปี 60-64 ตอกย้ำนโยบายสู่“ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

วันนี้ (27 ก.พ.61) เวลา 14.00 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการในการทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ.2560-2564 โดยมีผู้บริหารกระทรวง พม. ทั้งระดับสูง ระดับกลาง และคนรุ่นใหม่ (Young Blood) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมปริ๊นซ์บอลรูม 3 ชั้น 11 โรงแรม ปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ 

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(รมว.พม.) มีนโยบายในการทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. 2560 - 2564 ที่มีความสอดคล้องบนฐานของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 รวมทั้งการปรับโครงสร้างของประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อมุ่งสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายใต้บริบททางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ตั้งแต่เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร


   

   

ในสังคมที่มีแนวโน้มการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” (Aging Society) อัตราการพึ่งพิงของประชากรวัยแรงงานต้องแบกรับการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2582 จะมีประชากรวัยแรงงานเพียง 35.2 ล้านคน องค์การสหประชาชาติประเมินสถานการณ์ว่าในช่วงปี 2544 - 2643 ประชากร อายุ 60 ปี ขึ้นไปมีมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรโลกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์/เป้าประสงค์/กลยุทธ์ในการปฏิบัติงานเพื่อตอบโจทย์ของปัญหาอย่างโปร่งใสและยุติธรรม

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) จึงได้ให้นโยบายในการทบทวนยุทธศาสตร์ของกระทรวง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในการทบทวนวิเคราะห์จุดแข็ง/จุดอ่อนภายในองค์กร สภาพแวดล้อมภายนอก โอกาส และอุปสรรคภายใต้ฐานข้อมูลที่เป็นจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงานของกระทรวงที่ดีขึ้น (Change) ในทุกด้าน ซึ่งต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่า โดยยึดประโยชน์ของประชาชนในทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ตั้ง 

ทั้งนี้ ในกระบวนการทบทวนยุทธศาสตร์ของ พม. ได้แบ่งบุคลากรเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้บริหารระดับสูง กลุ่มผู้บริหารระดับกลาง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Blood) เพื่อรับทราบแนวคิดการวิเคราะห์ทบทวนยุทธศาสตร์ของแต่ละกลุ่ม อันจะนำไปสู่
หนทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามวัตถุประสงค์ข้างต้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร เป็นผู้นำด้านสังคมที่สามารถขับเคลื่อนงานและบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนในสังคมให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มได้อย่างยั่งยืน