กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการแจงกรณีมูลนิธิอิสระชน กล่าวถึงปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง และเงินอุดหนุนสงเคราะห์

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2561 เวลา 12.00 น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยถึงกรณีมูลนิธิอิสระชน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง และเงินอุดหนุนสงเคราะห์ ดังนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีภารกิจในการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพและช่วยเหลือกลุ่มคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน โดยตระหนักถึงคุณค่าในฐานะมนุษย์ที่ควรได้รับการดูแลคุณภาพชีวิต และได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ภายใต้พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 และพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 นอกจากนี้มีคณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจัดทำยุทธศาสตร์การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2560 – 2564 กำหนดนโยบายและกำกับติดตามการดำเนินงานขององค์กรที่ดำเนินการด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 


  

สถานการณ์คนไร้ที่พึ่งไทยปัจจุบัน พบว่ามีคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ 70,539 คน (ข้อมูลระบบสารสนเทศ พส.) ซึ่งทางมูลนิธิอิสระชนได้สำรวจคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพฯ ปี 2560 มีมากถึง 3,630 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 175 คน หรือร้อยละ 10 พื้นที่ที่มีคนเร่ร่อนมากที่สุด คือ เขตพระนคร ประเภทของกลุ่มคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่น่าเป็นห่วง คือ “กลุ่มผู้ป่วยข้างถนน” ที่มีมากถึง 740 คน และพบว่าปี 2560 มีผู้เสียชีวิตข้างถนนกว่า 28 ราย ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ดำเนินการ “จัดระเบียบคนไร้ที่พึ่ง” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดือนมีนาคม - ตุลาคม 2560 พบคนไร้ที่พึ่งเขตกทม. 853 คน 

ทั้งนี้ พบว่า สาเหตุสำคัญ 3 ประการใน คือ ภาวการณ์ตกงาน/ไม่มีงานทำ 512 คน มีอาการเจ็บป่วยทางจิตและกาย 170 คน และไม่มีที่อยู่อาศัย 171 คน ขณะที่สถานการณ์ “คนไร้ที่พึ่ง” ที่เป็น “ผู้สูงอายุ” และใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น พบว่ามีสาเหตุจาก 1) โรคความจำเสื่อม (อัลไซเมอร์) ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้สูงอายุมีความทรงจำถดถอย หลงลืม ทำให้พลัดหลงจากบ้าน และไม่สามารถกลับบ้านได้ 2) ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจของครอบครัว สมาชิกในครอบครัวต้องหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ รู้สึกด้อยคุณค่า 3) ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัว/ต้องการใช้ชีวิตอิสระ เนื่องจากภาวะความเจ็บป่วยและความน้อยเนื้อต่ำใจต่อคุณค่าในตนเอง


นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการพื้นฐาน พัฒนาสู่การพึ่งพาตนเอง” แบ่งออกเป็น 2 มาตรการดังนี้ มาตรการป้องกัน 1) จัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งคนขอทานทั่วประเทศทุกเดือน ในปี 2560 พบทั้งสิ้น 1,759 ราย (เดือนมี.ค.- ต.ค. 60) 2) จัดชุดปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขอทานและคนไร้ที่พึ่ง จัดระเบียบทุกเขตในพื้นที่กรุงเทพฯทุกเดือนใน 6 พื้นที่ 3) รณรงค์และประชาสัมพันธ์ “ปิดช่อง ป้องกัน คนไร้ที่พึ่ง และคนขอทาน” ในพื้นที่เมืองสำคัญ เช่น ภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ และสมุทรปราการ 

4) โครงการ “ตำบลต้นแบบห่วงใย ไม่ทอดทิ้งกัน” ส่งเสริมสนับสนุนครอบครัว/ชุมชน พึ่งพากัน มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและจัดสวัสดิการแก่กลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่ 1 จังหวัด 1 ตำบลต้นแบบ 5) โครงการ “Family Data เปิดประตู เยี่ยมบ้าน สร้างสะพานสู่สวัสดิการสังคม” ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 252,788 ครอบครัว เพื่อประเมินและวางแผนให้ความช่วยเหลือ มาตรการคุ้มครอง 1) ให้การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในศูนย์คุ้มครอง คนไร้ที่พึ่งใน 77 แห่งทั่วประเทศ

 มีกลุ่มเป้าหมายในความดูแล ทั้งสิ้น 939 คน แบ่งเป็น คนไร้ที่พึ่ง 820 คน คนขอทาน 56 คน จิตเวช 63 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ม.ค. 61) 2) ให้การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง มีจำนวนคนไร้ ที่พึ่งและคนขอทานในความดูแล 4,539 คน แบ่งเป็น คนไร้ที่พึ่ง(ไม่มีอาการทางจิต) 1,420 คน คนไร้ที่พึ่ง (มีอาการทางจิต) 2,196 คน/คนไร้ที่พึ่ง (ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต) 804 คน และคนขอทาน 119 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ม.ค. 61) 3) ให้บริการบ้านมิตรไมตรี 4 มุมเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ บ้านมิตรไมตรีสายไหม, บ้านมิตรไมตรีห้วยขวาง และมีแผนเปิดบริการเพิ่มเติม อีก 2 แห่ง คือ บ้านมิตรไมตรีธนบุรี และบ้านมิตรไมตรีอ่อนนุช เพื่อให้บริการเชิงรุกในระดับพื้นที่


นางนภา กล่าวต่อไปว่า จากข่าว “เงินอุดหนุนสงเคราะห์ฯ” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตเงินอุดหนุนสงเคราะห์ ดังนี้ มาตรการจัดสรรเงินอุดหนุนสงเคราะห์ ส่วนกลางแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเงินอุดหนุนสงเคราะห์ โดยให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ กำหนดเกณฑ์การจัดสรรในกรณีปกติ/ฉุกเฉิน กำหนดวงเงินที่จัดสรร และกำหนดวิธีการในการติดตาม มาตรการการจ่ายเงินอุดหนุนสงเคราะห์ การพิจารณาช่วยเหลือรายกรณี/รายกลุ่ม ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความช่วยเหลือ ในลักษณะความร่วมมือแบบ One Home (การร่วมมือกันของหน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

 โดยมีวิธีการจ่ายเงิน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย (1) โอนเข้าบัญชี (2) สั่งจ่ายรูปแบบเช็ค (3) จ่ายเป็นเงินสด กรณีผู้ประสบปัญหาทางสังคม ไม่สะดวกรับโอนผ่านธนาคาร หรือรับเชคให้จ่ายเป็นเงินสด โดยถ่ายรูปให้เห็นจำนวนเงินที่มอบ และมีพยานที่เป็นบุคคลภายนอก กรณีที่จ่ายเงินสดเป็นกลุ่มใหญ่ ให้จ่ายในสถานที่ราชการ หรือในที่สาธารณะ โดยมีภาคี เครือข่ายเป็นพยาน มาตรการติดตามการจ่ายเงินอุดหนุน 1) ให้หัวหน้าหน่วยงานสุ่มตรวจติดตามการจ่ายเงิน 2) กรมฯแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศติดตามและกำหนดแผนการติดตามอย่างต่อเนื่อง 

3) ขอความร่วมมือ กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บรรจุประเด็นการติดตามประเมินผลการจ่ายเงินอุดหนุนสงเคราะห์ ในแผนการตรวจติดตามต่อไป มาตรการลงโทษ หากพบการกระทำทุจริต ไม่ว่าจะด้วยพยานหลักฐาน พยานบุคคล หรืออื่นใด จะดำเนินการลงโทษโดยทันที