โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะทางทะเล เนื่องจากปัจจุบันปัญหาขยะทางทะเลของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก  อย่างไรก็ตามคนส่วนมากมักคิดว่าขยะทางทะเลเกิดจากชาวประมงหรือคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล แต่ทางกลับกัน ขยะในทะเล 80% มาจากขยะบนบก ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก ขวดน้ำและเศษอาหาร มีเพียง 20% ที่มาจากกิจกรรมทางทะเล

ดังนั้นบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำแนวคิดดีๆ เพื่อถ่ายทอดปัญหาและการกำจัดขยะทางทะเลที่สนุกและเข้าใจได้ง่ายมาจัดทำเป็นรูปเล่มหนังสือสำหรับเด็ก “จุดประกายความคิด เพื่อชีวิตที่สดใส” และเพื่อต่อยอดจากการจัดทำหนังสือดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้จัดทำโครงการ “โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างครูเป็นต้นแบบในการปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนไทยและบูรณาการการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมไปกับหลักสูตรในห้องเรียน


   

ดร.แดเนียล คอช กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โครงการ “โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติและต่อยอดโครงการหนังสือสำหรับเด็ก “จุดประกายความคิด เพื่อชีวิตที่สดใส” โดยมุ่งหวังให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยโครงการฯ ได้นำร่องด้วยการจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพด้านการสอนให้แก่ครู เพื่อสร้างเครือข่ายครูต้นแบบที่สามารถถ่ายทอด ปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธีและเป็นระบบไปยังนักเรียนในโรงเรียนของตนได้ นอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมจากชุมชนและนำบทเรียนมาสู่การกระทำมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่งแนวคิดโครงการการจัดทำหลักสูตรการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้ามาเพื่อร่วมประกวด โดยโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนจากโคเวสโตรในการจัดทำโครงการ”


ครูยุธทนา ศรีสงคราม โรงเรียนวัดตากวน จังหวัดระยอง โรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ “โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า เราได้จัดทำโครงการที่ชื่อว่า “ฮีโร่จิ๋วผู้พิทักษ์หาดทรายทอง” โดยใช้องค์ความรู้ในการนำเสนอผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ PBL (Problem Based Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยการนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว หรือในชีวิตประจำวันมาเป็นโจทย์ จากนั้นก็ออกแบบกิจกรรมที่จะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหา 

ซึ่งการออกแบบกิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากนักเรียนเองทั้งหมด ครูไม่ได้เป็นผู้สอน ครูเป็นเพียงแค่โค้ชที่คอยสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิด และนำไปลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการเรียนการสอนแบบเดิมตรงที่ว่า ครูจะเป็นคนกำหนดกรอบให้ว่านักเรียนจะต้องทำแค่ไหน แต่การนำองค์ความรู้เรื่องนี้มาปรับใช้นักเรียนจะสามารถกำหนดกรอบได้เอง โดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้นักเรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น การที่นักเรียนเลือกที่จะทำเรื่องการอนุรักษ์หาดทรายทอง เพราะว่านักเรียนส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ชุมชนในบริเวณนี้ พวกเขาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วยการใช้อย่างมีคุณค่า เกิดประโยชน์ และยั่งยืนมากที่สุด จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป ดังนั้นโครงการของ     โคเวสโตร จึงถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม


ด.ญ.วรรณิษา ชัยประสิทธิ์ ชั้นป.6/1 ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียวัดตากวน จังหวัดระยอง ได้เล่าถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ “ฮีโร่ตัวจิ๋วผู้พิทักษ์หาดทรายทอง” ว่า พวกเราทุกคนได้ช่วยกันคิดและเลือกที่จะทำคลิปสารคดี จากการสัมภาษณ์คนในชุมชน และนำมาตัดต่อทำเป็นคลิปเพื่อเผยแพร่ภายในชุมชน และผ่านทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและช่วยกันอนุรักษ์หาดทรายทอง นอกจากนั้นยังได้ประยุกต์นำเอาฮีโร่จากเกม ROV ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ที่เด็กๆ ชื่นชอบมาใช้เป็นตัวแทน และเป็นสื่อการประชาสัมพันธ์ด้วยการแสดงเป็นละคร สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านและคนในชุมชน การให้แต่ละคนเป็นฮีโร่ที่ชื่นชอบ เพื่อให้พวกเขาเป็นคนที่นำสารเหล่านี้ไปสู่ชุมชนเพื่อให้ทุกคนเกิดความสนใจและอยากที่จะเรียนรู้มากขึ้น รวมทั้งยังได้จัดทำแผนผังลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ของหาดทรายทอง เพื่อให้ทุกคนเห็นความแตกต่างของหาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเราอยากที่จะให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของหาดทรายทอง เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมดีขึ้นก็จะมีสิ่งมีชีวิต และสัตว์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ทุกคนก็จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น หาดทรายทองก็มีความสวยงามและสะอาดมากขึ้นด้วย


ครูทิวา ทับศรีรักษ์ โรงเรียนวัดมาบชลูด จังหวัดระยอง โรงเรียนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการฯ กล่าวว่า เราได้จัดทำโครงการที่มีชื่อว่า “โครงการขยะสังคม” โดยใช้การเล่นคำ ซึ่งหมายถึง ขยะในสังคมที่คนสร้างขึ้น โดยตัวโครงการมาจากหัวใจหลักจากการเรียนรู้ 4 แผนที่จะสอนในระดับชั้นป.5 เกี่ยวกับปัญหาขยะ สถานการณ์ ที่มา และการแก้ปัญหาขยะ หลังจากนั้นได้ให้นักเรียนระดับชั้นนี้เป็นนักเรียนแกนนำของโรงเรียนเชิญชวนน้องๆ และพี่ๆ ในโรงเรียนทำกิจกรรม 

โดยกิจกรรมหลัก คือ การทำประชาสัมพันธ์รณรงค์เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ เพราะว่าในโรงเรียนของเรามีกิจกรรมธนาคารขยะ ซึ่งเด็กๆ แต่ละคนจะนำขยะมาขายที่โรงเรียน แต่ก่อนที่จะขายก็จะให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะตามประเภทต่างๆ นอกเหนือจากระดับชั้นป.5 เรายังได้ขยายผลการเรียนการสอนไปยังระดับชั้นต่างๆ โดยให้คุณครูวิชาวิทยาศาสตร์วประจำระดับชั้นนั้นๆ นำไปบูรณาการร่วมกับวิชาอื่นๆ เช่น วิชาสังคมศึกษาก็จะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ลักษณะทางกายภาพของแต่ละที่เป็นอย่างไร จากต้นน้ำปลายน้ำเป็นอย่างไร บริเวณชายฝั่งทะเลปัญหาเป็นอย่างไร 

โดยจะให้โจทย์กับนักเรียนและก็ให้นักเรียนได้ร่วมช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคืออะไร ผลเป็นอย่างไร และเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ละระดับชั้นก็จะมีกิจกรรมที่จะช่วยลดปริมาณขยะภายในบริเวณโรงเรียน โดยยึดหลัก 5R คือ Reduce Reuse Recycle Repair Reject 

นอกจากนี้ยังได้ให้นักเรียนประดิษฐ์สิ่งของจากขยะที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง โดยให้นักเรียนได้คิดและนำเสนอแก่คุณครู ซึ่งเป็นผู้นำและคอยให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่เด็กได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ คือ ทำให้เด็กรู้ว่า ตัวเองคือคนที่สร้างขยะขึ้นมาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าในสังคมทุกวันนี้ขยะที่เกิดขึ้นเกิดจากสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ เราสอนให้เด็กรู้ว่าขยะที่ได้มาถ้ารวมกันมากขึ้นแล้วจะเกิดอะไร การกำจัดขยะให้ถูกวิธีควรจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับส่วนรวม สิ่งไหนที่พอจะกลับนำมาใช้ซ้ำได้ก็ให้เอามาใช้ ของบางสิ่งก็สามารถที่จะนำไปขายได้ อันไหนสามารถนำมาประดิษฐ์ทำเป็นสิ่งของได้ก็ให้นำมาลองใช้ทำ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กได้รู้จักคิด ลงมือปฏิบัติและนำไปต่อยอดในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ครูบุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 จังหวัดระยอง โรงเรียนที่ได้รับรางวัลรองอันดับ 2 จากโครงการฯ กล่าวว่า โรงเรียนได้จัดทำโครงการที่มีชื่อว่า “โครงการวัยใส น้ำใจน่ารัก...สู่พืชผักใบเขียว” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่นักเรียนได้ทำ แผนที่เดินดิน ซึ่งเป็นแผนที่ชุมชนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของโรงเรียน Eco-School โดยเราได้นำมาต่อยอดจากการที่ตัวแทนครูได้เข้าร่วมอบรมโครงการจากโคเวสโตร 

ซึ่งเด็กๆ ได้ช่วยกันคิดและลงมือทำ โดยเด็กๆ จะมาขอคำปรึกษากับคุณครูเพื่อทำโครงการว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัญหาที่พบ คือ การใช้น้ำอย่างไม่มีคุณค่า ปัญหาเศษขยะเศษอาหาร เริ่มแรกก็มาหาต้นตอของการใช้น้ำที่ไม่คุ้มค่ามาจากไหน ก็พบว่ามาจากน้ำที่ใช้ในการล้างมือ จึงได้มีการต่อท่อน้ำและทำถังพักน้ำไว้เพื่อนำน้ำเหล่านี้ไปใช้ในเรือนเกษตรเพาะชำ ผ่านการดัดแปลงจักรยานที่เป็นตัวกระจายและส่งน้ำ 

โดยให้นักเรียนช่วยกันปั่นจักรยานเพื่อเอาน้ำจากบ่อพักไปรดน้ำในเรือนเพาะชำ นอกจากนี้ในเรือนเพาะชำ เราก็นำขวดที่ไม่ใช้แล้วมาสร้างเป็นอุโมงค์เพื่อกันแสงอาทิตย์ พืชผักที่ปลูกก็จะเป็นผักสวนครัว โดยได้นำพืชผักเหล่านี้ไปใช้ในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ส่วนที่เหลือก็เอากลับไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งเราได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีจากหลายส่วนที่ลงทุนลงแรงช่วยทำท่อ บ่อพักน้ำ และเรือนเพาะชำ ส่วนเศษขยะ เศษอาหาร เราก็นำมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ ดังนั้นผักที่เราปลูกก็จะเป็นผักที่ปลอดสารพิษ

 นอกจากนี้เรามีการต่อยอดจากโครงการด้วยการทำ QR Code ซึ่งผักทุกชนิดที่ปลูกจะมี QR Code ให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมได้ไปสืบค้นต่อ ซึ่งเด็กๆ เป็นคนคิดวิธีขึ้นมาเอง เป็นคนลงมือทำเอง แต่คุณครูเป็นผู้สอนและให้คำแนะนำในการทำ โดยสิ่งที่เราให้เป็นแนวทางในการทำโครงการ คือ แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นทุกอย่างที่ทำจะต้องคุ้มค่า ซึ่งประโยชน์ที่เด็กได้รับจากโครงการนี้ คือ ทำให้เด็กๆ ได้คิดและลงมือปฏิบัติจริง อย่างโครงการของเราเน้นเรื่องน้ำใจเป็นหลัก อยากให้เด็กๆ ได้มีมิตรภาพที่ดีร่วมกัน ซึ่งอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือ ลูกโขดหินเป็นเด็กดีมีมิตรภาพ


การจัดการสิ่งแวดล้อมนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ทุกคนควรจะหันมาให้ความสนใจและหาแนวทางในการจัดการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ดังนั้นการมีเครือข่ายครูจะช่วยให้ครูพัฒนาศักยภาพและถ่ายทอดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสร้างแรงกระตุ้น ความคิดริเริ่ม การมีส่วนร่วม บูรณาการ และส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เพราะในอนาคตเยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้มีบทบาทและเป็นกำลังของชาติที่จะช่วยบอกต่อและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น