กรมควบคุมโรค แนะหลังถูกสัตว์เลี้ยงกัด ฉีดวัคซีนทันทีหลังพบหลายรายชะล่าใจไม่ป้องกัน

กรมควบคุมโรค เน้นย้ำประชาชนให้รีบล้างแผลที่ถูกสุนัข แมวกัดหรือข่วน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคทันที โดยปี 2561 พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ารวมแล้ว 6 ราย รายงานชี้ผู้เสียชีวิตทุกรายชะล่าใจในการป้องกัน เหตุเพราะเป็นรอยข่วนเพียงเล็กน้อย

วันนี้ (20 มีนาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยยังมีการระบาดในสัตว์อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว  6 ราย รายล่าสุด อยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยผู้เสียชีวิตยืนยันแล้วว่าเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จากการสอบสวนโรค พบว่า ผู้เสียชีวิตถูก  ลูกสุนัขเลี้ยงกัดและข่วนเพียงเล็กน้อย ประกอบกับไม่ได้ล้างแผลและไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จากรายงานพบผู้เสียชีวิตทุกรายชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อเหตุเพราะคิดว่าเป็นลูกสัตว์ที่นำมาเลี้ยงน่าจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าและขาดความตระหนักเพราะเห็นเป็นแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ผู้เสียชีวิต 1 ใน 6 ราย มีประวัติสัมผัสกับแมว

กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการค้นหาผู้สัมผัสเชื้อเพิ่มเติม พร้อมฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแล้ว 35 ราย พร้อมทั้งได้ประสานงานกับ ปศุสัตว์อำเภอ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้ใหญ่บ้าน และอสม. ให้ติดตามกลุ่มเสี่ยงให้มารับการฉีดวัคซีนให้ครบทุกราย  

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเน้นย้ำว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้หากประชาชนถูกสุนัข หรือแมว ข่วน หรือกัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลาย ๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และ ใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผล เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปตามนัดทุกครั้ง อีกทั้ง ผู้ป่วยโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย เมื่ออาการของโรคแสดงขึ้น นอกจากนี้หากสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้เลี้ยงอยู่ในรั้วรอบขอบชิดมีโอกาสสัมผัสกับสัตว์อื่น และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทุกตัว

โรคพิษสุนัขบ้า สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประเทศไทยจะพบมากในสุนัข แมว และมีรายงานในโคเพิ่มขึ้นด้วย ระยะเวลาที่สัตว์จะแสดงอาการของโรคหลังการรับเชื้อจากสัตว์อื่น คือ  2 สัปดาห์ – 2 เดือน สัตว์มักแสดงอาการทั้งแบบดุร้าย และแบบซึม เช่น นิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม ก้าวร้าวดุร้าย กัดไม่เลือก บางตัวอาจซึมและมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก เดินโซเซ เห่าหอนผิดปกติหรือไม่มีสาเหตุ โดยสุนัขที่แสดงอาการมักจะตายภายใน 10 วัน หากประชาชนมีข้อสงสัย  สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422