รวมพลังตามรอยพ่อปี 6 ผนึกกำลังขยายผลจัดการ ดิน น้ำ ป่า ตามศาสตร์พระราชา

เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แถลงถึงความคืบหน้าของโครงการ ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 กับโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ตั้งเป้าจัด 4 กิจกรรมเอามื้อ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริฯ มากำหนดพื้นที่เป้าหมาย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงแสดงความห่วงใยประชาชนต่อปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง พร้อมสานต่อแนวทางศาสตร์พระราชาด้านบริหารจัดการดิน-น้ำ-ป่าอย่างยั่งยืน

โดยมี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ อ.ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผศ. พิเชษฐ โสวิทยสกุล บอย พิษณุ นิ่มสกุล นายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ จ.น่าน มร.แบรด มิดเดิลตัน กก.ผจก.ใหญ่ บริษัท. เชฟรอนฯ ผศ.ดร.มณฑล แก่นมณี คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีลาดกระบัง อ.ธีระ วงษ์เจริญ ประธานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด พลโท สุนัย ประภูชะเนย์ ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ นายพิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการธรรมธุรกิจ ร่วมแถลง ณ บริเวณ ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9


  

  

โดยในปีนี้ ยังคงขับเคลื่อนตามแนวคิด “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ด้วยการส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม พร้อมขยายผลสำเร็จของโครงการฯ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย สู่การแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน


ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  “โครงการฯ นี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมของคนที่นำแนวทางศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติ ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นั่นนับเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ ส่วนแนวทางการขับเคลื่อน คือการสร้างและพัฒนาคนให้มีคุณภาพมีองค์ความรู้เป็น ‘คนมีใจ’ ที่เมื่อรวมตัวกันก็จะเป็น ‘เครือข่ายที่เข้มแข็ง’ นำไปสู่การสร้าง ‘ศูนย์เรียนรู้’ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ สร้างคนมีใจต่อไปไม่สิ้นสุด จนบรรลุผล หยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย ซึ่งโครงการฯ ในปัจจุบันได้ขยายผลออกไปถึง 24 ลุ่มน้ำแล้ว”

“ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของระยะที่ 2 คือ การขยายผลในระดับทวีคูณ หรือ แตกตัว เพื่อสร้างคน สร้างครู สร้างเครื่องมือยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิต (บ้าน วัด โรงเรียน) โครงการฯ จึงยังคงดำเนินงานต่อเนื่องด้วยแนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ เพื่อชี้ให้เห็นตัวอย่างการ ‘แตกตัว’ ขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ โดยนำกลยุทธ์การ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ การลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อน เพื่อประสานความสามัคคีเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน โดยในปีหน้าที่จะผลักดันให้ไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สู่เป้าหมายการขยายผลจากลุ่มน้ำป่าสักครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วในประเทศไทย” อ.ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายภาควิชาการกล่าว



ทางด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แกนนำภาคเอกชน กล่าวว่า “เชฟรอนให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว เนื่องจากตรงกับแนวคิดการทำโครงการเพื่อสังคมของเรา ที่มุ่งเน้นการสร้างคน องค์ความรู้ และจิตสำนึก ส่วนใหญ่จึงทำกันในระยะยาว โครงการนี้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และสอดคล้องกับนโยบายเพื่อสังคมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต ที่ช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นั่นคือการฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และด้านการส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ซึ่งพนักงานเราได้เข้าร่วมกิจกรรมในทุกๆ ปีเป็นจำนวนหลายร้อยคน เหนือสิ่งอื่นใดคือความมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานต่อไป”


“ตามแนวคิดของปีนี้ โครงการฯ จึงกระจายตัวจัดกิจกรรมใน 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ จันทบุรี สระบุรี และน่าน โดยนำเสนอผ่าน ‘คนต้นแบบ’ ที่ใช้ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นต่อๆ ไป” นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติม


ทั้งนี้ โครงการฯ เริ่มกิจกรรมแรกที่ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9 กรุงเทพฯ เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชากลางเมืองหลวง ก่อนเดินทางไปอีก 3 แห่งในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริฯ ได้แก่ จ.สระบุรี ซึ่งอยู่ใน ลุ่มน้ำป่าสัก อันเป็นลุ่มที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใย เพราะมีความลาดชันสูงทำให้จัดการได้ยากที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ถัดมาที่ อ.ท่าใหม่ จ. จันทบุรี ด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ทรงห่วงใยประชาชนในจันทบุรีจากภัยแล้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค และกิจกรรมสุดท้ายที่ จ. น่าน ในลุ่มน้ำน่าน ด้วยแรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริหลายโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องด้วยทรงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ให้คืนสู่สมดุลโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านอย่างยั่งยืน


  

  

  

“การออกแบบในแต่ละพื้นที่ต้องคำนึงถึงหลักภูมิสังคม คือ ตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพดิน รวมไปถึงความต้องการ กำลังทุนทรัพย์และกำลังกายของเจ้าของพื้นที่ กิจกรรมแรกที่กรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ กลางเมืองหลวง จึงมีการออกแบบหลักสูตรการอบรมและกิจกรรมให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนเมืองที่มีพื้นที่น้อยและมีเวลาน้อย” ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าว


  

  

ขณะที่พื้นที่ จ.จันทบุรี เป็นเมืองแห่งผลไม้ที่ต้องต่อสู้อย่างหนักกับเรื่องการใช้สารเคมี และการขาดแคลนน้ำ โครงการฯ จะนำองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ไปเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งผู้ปลูกและผู้กิน พร้อมกับการสร้างหลุมขนมครกเพื่อเก็บกักน้ำ

ถัดมาที่ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มคนเมือง 13 ราย ที่ไปรวมตัวกันสร้างเป็นชุมชนขึ้น การออกแบบจึงไม่ใช่แปลงใครแปลงมัน แต่ออกแบบเป็นภาพรวมของชุมชนกสิกรรมวิถี เป็นตัวอย่างของการเกื้อกูลพึ่งพา และร่วมพัฒนาเกษตรตามศาสตร์พระราชาไปด้วยกัน


พื้นที่สุดท้ายคือ จ.น่าน เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ แนวคิดหลัก คือการสร้าง หลุมขนมครกบนพื้นที่สูงในพื้นที่จำกัด เพื่อพิสูจน์ให้เห็ว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และเปลี่ยนผู้บุกรุกเป็น ผู้พิทักษ์ป่า

สำหรับพื้นที่ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9 นายพิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการธรรมธุรกิจ เล่าว่า “หลังจากธุรกิจโรงสีล้มละลาย ก็ได้เข้าร่วมอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และได้พูดคุยกับ อ.ยักษ์(ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) และพี่โจน (โจน จันใด) จนเข้าใจในศาสตร์พระราชาที่ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตร แต่เป็นแนวทางการใช้ชีวิต จึงจัดตั้งโครงการ ‘ฐานธรรมธุรกิจ’ เพื่อเป็นตลาดกลางกระจายสินค้าของเครือข่ายทั่วประเทศ ในราคาเป็นธรรมต่อผู้ซื้อและผู้ผลิต เดิมเราหมุนเวียนจัดทำตลาดนัดธรรมชาติไปในที่ต่างๆ จนได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จากเจ้าของโรงเรียนชาญวิทย์เก่าจึงได้ปักหลักที่เดียว นอกจากนั้น เรายังจัดเวิร์คช้อปต่างๆ ให้คนได้เรียนรู้จากการลงมือทำ


ซึ่งต่อไปวางแผนว่าจะทำร้านอาหารเพื่อแปรรูปผลผลิตจากเครือข่ายที่เหลือจากการขาย ตอบโจทย์คนเมืองที่ไม่ค่อยทำกับข้าวกินเอง เน้นเรื่องอาหารและสุขภาพเป็นหลัก กิจกรรมในวันนี้ จึงเกี่ยวกับการย่ำก้อนดิน เพื่อสร้างบ้านดินสำหรับร้านอาหารแปรรูป สอนเพาะเมล็ดพันธุ์กล้าไม้และทำแปลงผักในภาชนะต่างๆ แบบคนเมือง และเรียนรู้การปรุงดิน ทำปุ๋ย และสร้างโมเดล โคก หนอง นา ขนาดเล็กในพื้นที่ให้เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัด ในอนาคต ก็การวางแผนจะขยายงานไปที่เชียงใหม่ และบ้านศรีฐาน ยโสธรด้วย”


 บอย พิษณุ นิ่มสกุล ตัวแทนเจ้าของพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี กล่าวว่า  ลองถามตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร อยากจัดการแปลงที่ดินของตัวเองแบบไหน อยากปลูกป่าหรือปลูกพืชผักสวนครัวหรืออยากจะมีหนองน้ำเพื่อเลี้ยงปลา ทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน ต้องถามใจตัวเองก่อนว่าอยากจะทำอะไร ทำในกี่ปี และก็ไปเรียนรู้เลย  สิ่งที่สำคัญที่สุดแค่สามวันเอง ในการเข้าไปศูนย์เรียนรู้ที่มีอยู่ทั่วประเทศ แค่นี้ก็จะทำให้จุดประกายได้แล้ว 


ยิ่งมีที่ดินของตัวเองอยู่แล้ว เป็นมรดกที่วิเศษมากเลย เราไม่ต้องไปลงทุนอะไรเลย แค่ลงแรง ทำให้มากขึ้น ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นของคนที่จะเข้ามาทำอยู่แค่นี้เอง 

เราสามารถเข้าไปดูในเฟซบุ็ค แฟนเพจ รวมพลังคนสร้างสรรค์โกตามรอยพ่อของแผ่นดิน เข้าไปดูข้อมูลพื้นฐานก็จะได้รู้ว่าพวกเราทำอะไรกันอยู่ ที่ผ่านมาเราทำอะไรกันบ้าง ในขั้นตอนที่สองคือเอาตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม"

โดยภายหลังจากนี้ โครงการฯ ยังคงเดินทางไปเผยแพร่องค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสู่การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อีก 3 พื้นที่ ดังนี้


วันที่ 8-10 มิถุนายน 2561 ไปเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ ที่บ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าเมืองจันท์ของ แววศิริ ฤทธิโยธี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

วันที่ 24-26 สิงหาคม 2561 ชมตัวอย่างชุมชนกสิกรรมวิถี ณ หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ ในพื้นที่ของบอย-พิษณุ นิ่มสกุล อ.หนองแซง จ.สระบุรี

วันที่ 26-28 ตุลาคม 2561 ร่วมหาคำตอบว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างไร ณ พื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน นำโดยบัณฑิต ฉิมชาติหัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน และสุดาพร พรหมรักษา เจ้าของพื้นที่บ้านน้ำปี้ ต.น้ำมวก อ.เวียงสา จ.น่าน

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking