คปภ.เปิดเวที CEO Insurance Forum 2018 เร่งยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย

คปภ. ผนึกกำลังภาคธุรกิจประกันภัย จัดประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2561 (CEO Insurance Forum 2018) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการประกันภัยในยุคดิจิทัล และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมประกันภัย รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยผ่านการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงเพิ่มบทบาทของธุรกิจประกันภัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

  

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัยได้มีการจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ซึ่งปีนี้จัดในวันที่ 25 เมษายน 2561 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นเวทีในการสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย 

รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อันแสดงถึงศักยภาพและความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การจัดงานใน 2 ปีที่ผ่านมาได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและนำไปสู่การพัฒนากฎเกณฑ์ในหลายเรื่องให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสม สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัย 

อาทิ การปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยเกี่ยวกับการป้องกันการฉ้อฉลในธุรกิจประกันภัย การออกประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์การประกันภัยโดยใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 การออกประกาศสำนักงาน คปภ. เรื่อง แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) การพัฒนาแนวทางการตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit) เป็นต้น

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและยุทธศาสตร์การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยยุคดิจิทัลสู่แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด” โดยเลขาธิการ คปภ. ซึ่งเป็นการสรุปผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้สามารถรับมือกับปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เช่น การประเมิน FSAP ในช่วงปลายปี 2561 การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) ความรุนแรงของสงครามการค้า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมในการบริโภคของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมได้มอบทิศทางนโยบายการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. 

ดังนั้นในปี 2561 จึงนับเป็นปีแห่ง “การยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสู่มาตรฐานสากล” ด้วยกลยุทธ์ 10 ประการ กล่าวคือ ประการแรก กฎหมายต้องเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ประการที่สอง การกำกับต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ประการที่สาม ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบ ประการที่สี่ ยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันภัย ประการที่ห้า มุ่งเน้นธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ ประการที่หก ยกระดับการเข้าถึงระบบประกันภัย ประการที่เจ็ด เสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรประกันภัย ประการที่แปด ต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี ประการที่เก้า มุ่งสร้างความปลอดภัยจากไซเบอร์ และประการสุดท้าย เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ



นอกจากนี้ได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “Tangible and actionable potential approach to drive digital insurance” โดย Dr. Woody Mo ประธานบริษัท eBaoTech ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและได้มีการนำมาใช้ทั้งของภาคธุรกิจประกันภัย และของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

ทั้งนี้การประชุม CEO Insurance Forum ในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดจากผลการประชุมในครั้งที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่รวดเร็วอย่างก้าวกระโดด โดยเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยได้เริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปฏิวัติรูปแบบการทำธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า “InsurTech” เพื่อสร้างมูลค่าให้กับการประกันภัย ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การให้บริการ และการบริหารจัดการภายใน 

ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่เห็นว่าอุตสาหกรรมประกันภัยเริ่มมี Reaction ต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลและมีพัฒนาการหลายๆ อย่างเกิดขึ้น รวมทั้งมีกลุ่มบริษัท Startup ที่ได้พัฒนานวัตกรรม InsurTech ขึ้นมาหลายบริษัทแล้ว ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก สำหรับการประชุมในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อหลักของการจัดประชุม ภายใต้ธีม“Disruptive Technologies For The Future Insurance Industry” เพื่อให้มีการระดมความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินการของธุรกิจประกันภัยและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีประเด็นต่อยอดจากผลการประชุมในปีที่ผ่านมา ที่ท้าทายและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการประชุมกลุ่มย่อย 3กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Open Data for Insurance Industry” เป็นเรื่องการสร้าง Platform ในการเปิดเผยข้อมูล หรือกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งจากบริษัทประกันภัยด้วยกันเอง หรือจากบริษัทประกันภัยกับนายหน้าประกันภัย เพื่อให้ธุรกิจมีฐานข้อมูล สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกันและนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนา Application หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์ สามารถเลือกซื้อประกันภัยโดยการเปรียบเทียบแบบประกันภัย ความคุ้มครอง และเบี้ยประกันภัยได้ รวมถึงทราบถึงข้อมูลของตนเองว่าซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอะไรบ้างและกับบริษัทใด

 โดยประเด็นหารือหลักคือการสร้างความเข้าใจในภาพรวมเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และการกำหนดกรอบการดำเนินการจัดทำมาตรฐานโครงสร้างข้อมูล และการจัดทำมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงการจัดทำร่างประกาศในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ภาคธุรกิจเตรียมความพร้อม และการเผยแพร่มาตรฐานโครงสร้างข้อมูล และมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ผู้สนใจได้รับทราบ เช่นกลุ่มบริษัท Startup / ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้สามารถนำไปต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้

กลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Insurance Industry Conduct of Business” เป็นประเด็นสืบเนื่องจากปีที่ผ่านมา ที่มีการหารือร่วมกันในเรื่องการควบคุมคุณภาพการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยในลักษณะป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยในปีนี้ มุ่งเน้นถึงการติดตามและตรวจสอบคุณภาพการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของ คนกลางประกันภัยและการชำระเบี้ยประกันภัยโดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน และเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัยอย่างยั่งยืน

กลุ่มย่อยที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Insurance Technology Assurance and Risk Management” สืบเนื่องจากการที่สำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทและสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยได้ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาแนวทางการตรวจสอบเทคโนโลยี หรือ IT Audit ขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดี ที่ได้มีการสื่อสารให้ผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจรับทราบและตระหนักถึงความสำคัญและความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงชี้แจงแผนงานและแนวทางการตรวจสอบตามร่างคู่มือการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้มีการพัฒนาและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านประกันภัยอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงมีแนวคิดจะจัดตั้ง InsurTech Center of Thailand (ICT) เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลกลางแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีประกันภัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย โดยจะบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่ม Startup และจะใช้กลุ่มส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัยที่ตั้งขึ้นใหม่ในสำนักงาน คปภ.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน 

ภายใต้ภารกิจหลักๆ 4 ประการ คือ ประการแรก ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆด้านเทคโนโลยีประกันภัยเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย ประการที่สอง ส่งเสริมการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ประการที่สาม สนับสนุนรูปแบบการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนและการใช้ความรู้แก่ประชาชนด้านประกันภัยผ่านเทคโนโลยีประกันภัย และประการที่สี่ เป็นเวทีระดมความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจประกันภัยและกลุ่มเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech Startup) เพื่อนำนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจประกันภัยของไทย ตลอดจนช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านการประกันภัย

“การประชุม CEO Insurance Forum 2018 ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมกลุ่มย่อยภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีความท้าทาย และเป็นประโยชน์ ต่อธุรกิจประกันภัย รวมถึงประชาชนเป็นอย่างมาก โดยทุกความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะจะนำมาใช้แบบบูรณาการเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถ รวมทั้งพัฒนาระบบประกันภัยไทยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น 

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคธุรกิจประกันภัยในการขับเคลื่อนนโยบายการประกันภัยสู่ยุคดิจิทัล ทั้งนี้ กฎกติกาและการบริหารจัดการจะคำนึงถึงหลักการสำคัญ ได้แก่ ความสมดุล ความยืดหยุ่น และการปรับตัวให้เหมาะสม รวมทั้งการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย