เมื่อเกษตรกรไทย เข้าสู่ยุค 4.0 ยอดจองก็พุ่งทะยาน

Btripnews มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับ กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยครั้งนี้เป็นการนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อเยี่ยมชมแนวทางบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดผลไม้คุณภาพ (ทุเรียน / มังคุด) รองรับตลาดส่งออก พร้อมพบปะเกษตรกรกลุ่มผลไม้คุณภาพภายใต้ระบบแปลงใหญ่


โดยสถานที่แรกคือที่สวนทุเรียน อ.วังจันทร์ กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนคุณภาพ โดยมีคุณสุวิทย์ แสงอากาศ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน อ.วังจันทร์ จังหวัดระยอง พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ


  

...กลิ่นทุเรียนโชยมาแต่ไกล วันนี้เจ้าหน้าที่จัดมาเรียงวางกันเป็นกอง ทั้งมังคุด ทุเรียน และอื่นๆ อีกเพียบแนะนำกลุ่มกันเสร็จก็พากันเดินเข้าสวนทุเรียนซึ่งอยู่ด้านหลัง สื่อต่างเลือกมุมถ่ายทำกันตามต้องการ ต้นทุเรียนขนาดใหญ่ผลผลิตจากการบ่มเพาะรอการเก็บอีกหลายต้น

“ลูกไหนๆ แทงเลย” น้าชาวสวนกำลังสาละวนสั่งลูกทีมที่ไต่บันไดไม้ปีนขึ้นสู่กลางต้น พร้อมไม้สอยยาวเหยียดผูกปลายแหลมด้วยมีด หนึ่งคนปีนป่ายอยู่ด้านบน อีกหนึ่งคนถือถุงกระสอบรอรับการร่วงหล่นหลังจากสอย เพื่อไม่ให้ตกดินเกิดความเสียหาย กิจกรรมที่ผสมผสานระหว่างความแข็งแรงของผู้ปีนกับความแม่นยำของผู้รับ ดูแล้วก็เพลินไปอีกแบบ ขณะที่พวกเราเองก็ต้องคอยดูว่า ลูกอื่นๆ ที่ห้อยอยู่ด้านบนจะหล่นลงมาบนศีรษะกันหรือเปล่า

วันนี้ท่าทางจะได้หลายอยู่ พราะไม่นานนัก ทุเรียนหลากไซส์ก็ถูกนำมากองกันก่อนจะขนขึ้นรถซาเล้งเพื่อลำเลียงออกมา

  

  



หลังเก็บภาพกัน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คุณสำราญ สาราบรรณ์ ก็เล่าให้ฟังถึงผลผลิตที่ดูเหมือนว่า “ปีนี้เกษตรกรจะพบกับวิกฤติสภาพอากาศแปรปรวนพอสมควร ทำให้ผลผลิตภาคตะวันออกขาดตลาด ราคาจึงสูงขึ้นจากปีก่อน

ปี 60 มีผลผลิตรวม 792,113 ตันปีนี้ลดฮวบเหลือ 647,522 ตันโดยราชินีผลไม้ (มังคุด) ผลผลิตลดมากสุด 64.81% เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนขบวนการผลิต ชูการผลิตคุณภาพ พร้อมกำชับ COO ดูแลชาวสวนให้เตรียมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน ปกป้องผลกระทบตลาดทั้งภายในและต่างประเทศระยะยาว 

   

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เล่าถึงสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ในปีนี้ว่า มีปริมาณผลผลิตต่ำลดลงทุกชนิด สืบเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ เกิดพายุฤดูร้อนในช่วงระยะไม้ผลเริ่มติดดอกจนสร้างความเสียหายให้เกษตรกรส่งผลให้ผลผลิตผลไม้ปีนี้ขาดตลาดและมีราคาสูง

คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 647,522 ตันแบ่งเป็นผลผลิตทุเรียนจำนวน 403,906 ตัน มังคุด จำนวน 54,073 ตัน เงาะ จำนวน 173,224 ตัน และลองกอง จำนวน16,319 ตัน เปรียบเทียบ กับปีที่แล้วทุเรียนจะให้ผลผลิตจำนวน 422,365 ตัน ลดลง 4.37% เงาะ 192,055 ตันลดลง 9.81 % ลองกอง 24,015 ตันลดลง 32.05% ส่วนมังคุดผลผลิตลดลงมากที่สุดจากปี60มีผลผลิต 153,678 ตันปีนี้ลดลง 64.81% (ข้อมูล ณ 3 พฤษภาคม 2561)”

ส่วนสถานการณ์ทางการตลาด สำหรับตลาดผลไม้ภาคตะวันออก จากผลผลิต 647,522 ตัน วางเป้าส่งออก 336,261 ตัน คิดเป็น 51.93 % แบ่งเป็นทุเรียน 282,936 ตัน 84.14 % มังคุด 31,416 ตันคิดเป็น 9.34 % เงาะ 17,201 ตันคิดเป็น 5.11 % ลองกอง 4,708 ตันคิดเป็น 1.4 % ส่วนหนึ่งได้กระจายตลาดในประเทศจำนวน 265,729 ตัน คิดเป็น 41.03 % แบ่งเป็นเงาะ 149,873 ตันคิดเป็น 56.4 % ทุเรียน 84,578 ตันคิดเป็น 31.8 % มังคุด 19,667 ตันคิดเป็น 7.4 % ลองกอง 11,611 ตันคิดเป็น 4.3 % แปรรูป 45,532 ตัน คิดเป็น 7.03 % ทุเรียน 36,392 ตันคิดเป็น 79.92 % เงาะ 6,150 ตันคิดเป็น 13.5 % มังคุด 2,990 ตันคิดเป็น 6.56 % โดยขณะนี้ (3 พ.ค. 61) ราคาทุเรียนหมอนทองอยู่ที่ประมาณ 78.83 – 68 บาท/ก.ก. ชะนี 54.17 – 47 บาท/ก.ก. มังคุด 195 – 126.67 บาท/ก.ก. เงาะตะกร้า 41.50 – 35 บาท/ก.ก. ลองกองคละ 40 บาท/ก.ก. ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าทุกปี

    

หลังเล่าถึงตัวเลขเสร็จสรรพ รองอธิบดีกรมฯ ก็บอกต่อว่า สถานการณ์ปีนี้ไม่น่ากังวล เกษตรกรสามารถขายผลไม้ได้ในราคาดีเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีความกังวลผลผลิตอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศในระยะยาวได้ หากไม่เร่งหามาตรการรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วยการปรับขบวนการผลิตทุกมิติ เพื่อลดผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรแบบยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรกับ Tmall.com ภายใต้บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โดยการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนด้วยวิธีการซื้อขายผ่าน online ทำให้ในอนาคตผลไม้ภาคตะวันออกหลายชนิดโดยเฉพาะทุเรียนจะมีความต้องการของตลาดจีนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรให้ศึกษาและทำความเข้าใจถึงสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนเพื่อให้เกษตรกรการปรับตัวในหลายมิติเพื่อบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพดี เช่น กรณีลงทุนทำสวนใหม่ ควรวางแผนการผลิตพืชให้เจริญเติบโตในภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีแหล่งน้ำสำรองกรณีกระทบแล้ง มี wind break รองรับป้องกันลมพายุ มีทางระบายน้ำที่รวดเร็วกรณีฝนตกหนักน้ำท่วมเฉียบพลัน

รวมทั้งเรียนรู้ปฏิทินรอบการผลิตพืชตลอดทั้งปี รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรเร่งปรับขบวนการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้กระทบต่อผลผลิตในระยาว พร้อมทั้งเร่งส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแนวทางใช้ตลาดนำการผลิต โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพผ่าน ศพก. และมีการส่งเสริมในรูปแบบแปลงใหญ่

นอกจากนี้ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation หรือ COO) และคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาการเกษตรระดับอำเภอ (Operation Team หรือ OT) โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอ เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ผลผลิตล้นตลาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ/ไม่แน่นอน เกษตรกรไม่มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตไว้แล้ว ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาการผลิตและการตลาดในระยะยาวแบบยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

หลังจากเยี่ยมชมสวนเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนแล้ว ก็มาต่อกันที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่แปลงใหญ่ต้นแบบมังคุดคุณภาพ เราได้พบกับคุณลุงสมชาย บุญก่อเกื้อ ชาวตำบลกร่ำ ประธานแปลงใหญ่มังคุด อำเภอแกลง เกษตรกรคุณภาพที่มุ่งมั่นพัฒนาผลผลิตของตนเองด้วยความใส่ใจ จนทำให้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติในสาขาการใช้วิชาการดีที่เหมาะสม ปี 2549 วิชาการที่ใช้คือการบริหารจัดการพืชและแมลง

  

  

ที่นี่ มีอาคารเอนกประสงค์ ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์เพาะไก่ไข่ และอื่นๆ ที่แบ่งพื้นที่จัดการอย่างเป็นสัดส่วน ดูแลและบริหารจัดกันโดยชาวบ้านในชุมชนที่ช่วยกันพัฒนาผืนดินแปลงใหญ่นี้จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลายองค์กรเข้ามาศึกษาดูงาน

โดยเฉพาะการจัดการกับต้นกะท้อน 1 ใน 3 ของผลไม้หลักที่ทำรายได้หลักให้กับเกษตรกรแปลงใหญ่ตำบลกร่ำ

ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหน้าคือ ต้นกระท้อน ที่มีการจัดการต้นกะท้อนที่มีมากกว่า 200 ต้น บนพื้นที่ 23 ไร่ แต่เราเดินลัดเลาะไปทางเพื่อจะดูสวนมังคุดกันก่อน เพราะถือเป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับคุณลุงจนได้รับรางวัล



คุณลุงสมชาย สอยมังคุดสีที่ยังดูเขียวมาให้พวกเราได้ชมกัน แถมยังบอกว่าอย่างนี้แหล่ะ เหมาะสำหรับการส่งออกแล้ว “มังคุดของไทยที่ส่งออกอยู่ในระดับสีนี้ สียังเขียว แต่เมื่อส่งไปแล้วก็จะสุกพอดี เพราะระยะเวลาในการส่งต่างประเทศประมาณ 7 วัน ซึ่งเมื่อถึงมือลูกค้าก็จะพร้อมทาน มังคุดของกลุ่มแปลงใหญ่ ต.กร่ำ ส่งออกไปที่จีน ญี่ปุ่น ส่งออกกิโลกรัมละ 200 บาท ลักษณะผิวไม่มีการทำลายของแมลง สวยมัน น้ำหนัก 60 กรัมขึ้นไปจึงจะส่งออกได้”

คุณลุงสมชาย ยื่นมังคุดมาให้เราได้ชื่นชมพลางเล่าถึงเหตุที่ทำให้มังคุด ตำบลกร่ำจึงได้รับความนิยมและมีมาตรฐานจนเป็นที่ต้องการว่า “เราเอาตลาดมานำการผลิต ความต้องการของตลาด คือ ผิวมัน ผิวสวย ปราศจากแมลง รสชาติหวาน อร่อย เปลือกบาง เป็นความโดดเด่นของมังคุดที่นี่ เพราะสภาพดินที่เหมาะกับการปลูก ก็จะมีการวางแผนตั้งแต่ต้นตั้งแต่การผลิตเรื่องปุ๋ยเรื่องเตรียมดิน หลังเก็บผลผลิตและการเก็บเกี่ยว”

ประธานแปลงใหญ่มังคุด เล่าให้ฟังถึงหน่วยงานภาครัฐในหลากหลายองค์กรที่เข้ามาช่วยดูแลพื้นที่แห่งนี้ว่า “หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือตลอด  ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการดูแลเรื่องปุ๋ย กรมบัญชีก็มาช่วยด้านบัญชี กรมปศุสัตว์ กรมประมง ชลประทานก็เข้ามาช่วยเรื่องภัยแล้ง ปีที่แล้วเกิดภัยแล้งทางกรมชลฯ ก็เข้ามาช่วยเหลือ โดยเน้นย้ำให้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรก็สามารถลดต้นทุนได้ตามที่ต้องการ โดยบอกถึงเทคนิคการลดต้นทุนว่า “คือเราต้องวิเคราะห์ว่าดินแบบไหนเหมาะกับปลูกอะไร และดินนั้นขาดธาตุอะไร ก็ให้เติมเฉพาะธาตุนั้น ไม่ใช่ใส่ปุ๋ยตามสูตรสำเร็จเข้าไป ซึ่งธาตุในดินนั้นมีอยู่แล้วก็จะทำให้สิ้นเปลือง ใช้ปุ๋ยหมักมูลไก่ กากมัน ข้าวโพดหมักรวมกัน เป็นปุ๋ยธรรมชาติผลไม้จะดูดซึมเข้าไปทำให้รสชาติดี

หลังจากการเก็บเกี่ยวเราตัดแต่งกิ่งและเริ่มใส่ปุ๋ยเพื่อให้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอซึ่งจะสามารถบำรุงดินเพื่อผลผลิตในครั้งต่อไป

เรื่องเก็บเกี่ยวก็สำคัญ ถ้าเก็บเกี่ยวไม่ดีราคาจะตกทันที เช่นหมวกหักหรือผิวถก ถ้าเก็บโดยตะกร้อผิวจะไม่มีตำหนิ ทำให้ได้ราคา”

ที่ผ่านมามีตัวเลขว่า ส่งตลาดต่างประเทศปีละเป็นหมื่นตัน ส่วนที่ตำบลกร่ำนี้ สองปีที่ผ่านมาผลิตได้ 100 กว่าตัน แต่ปีที่แล้วมีปัญหาดินฟ้าอากาศ ทำให้ผลผลิตไม่ติดลูก จึงผลผลิตน้อยลง



  

คุณลุงสมชาย เล่าต่อว่า “พื้นที่ทั้งหมดของลุง 23 ไร่ ปลูกแบบสวนผสม มังคุด 5 ไร่ ทุเรียน 3 กระท้อน 11 การที่เรามารวมกันเป็นแปลงใหญ่ทำให้ไม่ถูกกดราคา ณ วันนี้เกษตรกรตำบลกร่ำสามารถตั้งราคาผลผลิตของตัวเองได้”

ปัจจุบันในส่วนรายได้หลักของคุณลุง จากการปลูกมังคุด ทุเรียน กระท้อน ที่ทำรายได้สูงสุดคือ กะท้อน แต่ชื่อเสียงได้จากมังคุด เพราะได้เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติในสาขาการใช้วิชาการดีที่เหมาะสม ปี 2549 วิชาการที่ใช้คือการบริหารจัดการพืชและแมลง

“ต้องดูว่าสวนของเราต้องการอะไร ดูอาการของพืช ฝนตกบ่อยจะทำให้ผลเป็นแก้วยางไหล เมื่อก่อนทำช่วงเดือนกันยายน จะไปเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคม ช่วงฤดูฝนทำให้มังคุดเป็นเนื้อแก้วยางไหล จึงคิดใหม่ว่า ถ้าร่นมาปลูกก่อนสักหนึ่งเดือนเก็บเกี่ยวช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ก็จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น เหมือนกับบังคับก่อนฤดูและได้ราคาที่ดีกว่า

ในส่วนของแมลงก็ต้องรอบรู้ว่า แมลง เพลี้ยไฟจะเกิดเมื่อไหร่ เวลาไหน จะรู้โดยธรรมชาติ หรือถ้าเห็นแมลงบินเยอะๆ จะมากินเพลี้ยไฟ ก็ทำให้ต้องป้องกันก่อน”

ตัวเลขรายได้ของคุณลุงสมชาย เมื่อสองปีที่ผ่านมา มังคุด 100,000 บาท กะท้อน 600,000 จาก 200 ต้น แต่ทุเรียนเพิ่งติดลูก ถ้าจะไม่ถามเรื่องกระท้อน พระเอกของสวนลุงเห็นจะไม่ได้แล้ว

  

คุณลุงสมชายบอกว่า กระท้อนนี้เป็นสายพันธุ์ทองพูน สมัยก่อนชาวเมืองนนท์ชื่อพูน นำมาทานแล้วทิ้งเมล็ด ลูกหลานจึงนำมาทดลองปลูก ปรากฏว่าขึ้นดีกับพื้นที่นี้ จุดเด่นคือ รสชาติและสีผิว หวานและสีสวย ลูกโต เนื้อในฟู เปลือกยาง เม็ดเล็ก”

ยอดจำหน่ายกระท้อนที่ทำรายได้เมื่อสองปีก่อนสูงถึง 600,000 บาทมาจากการเอาตลาดหรือลูกค้ามานำการผลิต ซึ่งทำเอาผลผลิตไม่พอกับการจำหน่าย ตลาดกระจายทั่วประเทศ ปัจจุบันจะต้องมีการสั่งจองล่วงหน้ากันข้ามปีทีเดียว โดยสามารถสั่งผ่านออนไลน์ได้ หรือเข้าไปติดต่อผ่านเวปไซต์ของลุงได้เลย

ชื่อ เวปไซต์ สมชาย สวนอุบลสมบูรณ์ ซึ่งได้คนรุ่นใหม่ ลูกหลานเข้ามาจัดการด้านระบบออนไลน์ให้ ทำให้เกษตรกรรุ่นเก๋าอย่างลุงสมชาย ณ วันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเกษตรกรที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย แต่ยังเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ยุค 4.0 อย่างแท้จริง