พม. จัดเสวนา ประเด็น “สื่อ ยุค 4.0 กับงานด้านการพัฒนาสังคม”

ในวันที่ 5 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 น. ณ ฮอลล์ 5 - 8 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ภายในงาน Thailand Social Expo 2018 นายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตลอดจนคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การต้อนรับคณะวิทยากรที่เข้าร่วมเสวนา ประเด็น “สื่อ ยุค 4.0 กับงานด้านการพัฒนาสังคม” 

โดยคณะวิทยากรประกอบด้วย พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.วิลาสิณี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และคุณจุมพล โพธิสุวรรณ รองบรรณาธิการบริหารบางกอกทูเดย์ออนไลน์ ดำเนินรายการโดย คุณอรอุมา เกษตรพืชผล พิธีกรและผู้สื่อข่าว Thai PBS 
 

การเสวนาประเด็น “สื่อ ยุค 4.0 กับงานด้านการพัฒนาสังคม” ทำให้ทราบถึงแนวคิด เทคนิค และกลยุทธ์ในการปฏิบัติการข่าวและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดข่าวสารทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวทั้งจากช่องทางสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ที่มีต้นสังกัดจากสื่อหลักเป็นตัวแทนของสื่อมวลชนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ แต่ทั้งนี้ ก็ทำให้ทราบถึงข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับสื่อ Social Media ที่ใครก็สามารถเป็นสื่อเองได้ 

ซึ่งสื่อในลักษณะนี้ไม่มีสังกัดสื่อมวลชน การเผยแพร่ การนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ผ่านสื่อ Social Media จึงอาจไม่ได้กลั่นกรอง ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน เมื่อเกิดการส่งต่อไปยังผู้รับข่าวสารต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบในทางลบแก่สังคม จึงเป็นที่มาของการเสวนาในวันนี้
 

พลโทวีรชน กล่าวว่า ทุกคนในสังคมไทยมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศให้สำเร็จได้ไม่ใช่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลคำนึงอยู่เสมอว่า ก่อนที่เราจะเผยแพร่หรือนำเสนอข่าวสารอะไรออกไปจะเกิดประโยชน์อะไรต่อประชาชนบ้าง รัฐบาลไม่มีสิทธิ์กำหนดให้สื่อต้องทำตามที่รัฐบาลต้องการ แต่อยากจะขอความร่วมมือสื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ไม่ต้องการให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการนำเสนอของสื่อ เพราะหลายครั้งผู้บริโภคกลายเป็นเหยื่อของสื่อเพื่อที่จะเพิ่มยอดผู้เข้าชม 

นอกจากนี้ รัฐบาลอยากให้องค์กรสื่อตรวจสอบองค์กรสื่อและตัวเองให้มากขึ้น สื่อมืออาชีพมีคุณค่าในตัวเอง ทั้งด้านจริยธรรม และจรรยาบรรณ จนบางครั้งด้วยความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี สื่อก็อาจจะหลงลืมไปว่าการที่มีเทคโนโลยีจะทำให้สามารถแสวงหาประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นได้ จริงอยากมีการเสนอข่าวสารที่รวดเร็วที่สุดเพื่อให้ได้ยอดวิวมากที่สุด เป็นต้น 
 

 



พลโทรวีรชน กล่าวต่ออีกว่า สื่อทุกแขนงในยุค 4.0 มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ถ้าเราขาดสื่อก็เหมือนชีวิตเราขาดอะไรไปหลายอย่าง ดังนั้น ทั้งคนทำสื่อ คนใช้สื่อ หรือคนรับข้อมูลจากสื่อ จะต้องอยู่บนพื้นฐานเดียวกันก็คือประโยชน์สร้างสูงสุด รู้เท่าทันด้านมืดของเทคโนโลยี ทุกวันนี้อาจจะเห็นได้ว่าสื่อบางส่วนตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี 

ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็เป็นเหยื่อของสื่อบางสำนักบางประเภทได้ การใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน การให้ความรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญและก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความเสียหายมองเห็นด้านมืดของสื่อผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย เพราะปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้หลายคนก็โทษสื่อเพราะว่าสื่อทำให้เกิดปัญหา แต่ลืมที่จะโทษตัวเอง เพราะว่าท้ายที่สุดคนที่เดือดร้อนก็คือตัวเราเอง ดังนั้น คยนเราจึงต้องพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและครอบครัวด้วย

รศ.ดร.วิลาสิณี กล่าวว่า ทุกคนควรช่วยกันใช้สื่อเพื่อกำหนดวาระของสังคมร่วมกันและช่วยกันทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนด และขับเคลื่อนวาระนี้ไปด้วยกัน บทบาทของสื่อที่แท้จริง คือ การนำเสนอข้อเท็จจริงอันเป็นที่พึ่งของประชาชนและที่สำคัญก็คือการร่วมกันให้ทางออกแก่สังคม แต่ทั้งนี้ในอีกมุมมองหนึ่ง มองว่า สังคมตอนนี้เป็นใหญ่กว่าสื่อเพราะสังคมคือผู้ตรวจสอบ ผู้ให้ข้อมูล แต่สำคัญกว่านั้น ก็คือข้อมูล ที่สังคมจะเป็นผู้ช่วยกันเลือก คัดกรอง คือ หัวใจสำคัญว่าสังคมจะช่วยกันดูแลทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มาจากประชาชนที่แท้จริงได้อย่างไร 

ถ้าสถาบันวิชาการหรือหน่วยงานราชการมีข้อมูลสื่อก็จะสามารถถ่ายทอดหรือนำเสนอให้กับสังคมได้อย่างถูกต้องเพราะตอนนี้สื่อขาดมากที่สุดคือในเรื่องของข้อมูลและเราจึงควรจะพัฒนาข้อมูลเหล่านี้ให้มันน่าสนใจซึ่งสื่อก็จะมีอุปกรณ์หรือสิ่งที่จะนำไปใช้นำเสนอให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้มากยิ่งขึ้น 
 

นายจุมพล โพธิสุวรรณ รองบรรณาธิการสำนักข่าวบางกอก ทูเดย์ ออนไลน์ กล่าวว่า ดิจิทัลและโซเชี่ยลมิเดียได้เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตคนเราไปแล้ว จากข้อมูลวิจัยพบว่า มีคนทั่วโลกใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชี่ยลมิเดียมากกว่า 4,000 ล้านคน จากประชากร 7,600 ล้านคน สำหรับในเมืองไทยมีคนใช้ อินเทอร์เน็ตและโซเชี่ยลมิเดียมากถึง 57 ล้านคน จากจำนวนประชากร 69.11 ล้านคน จึงทำให้ไทยครองแชมป์การเข้าใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก แถมยังพ่วงสถิติ ว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีคนใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกอีกด้วย 

จากสถิติดังกล่าวทำให้คนไทยกลายเป็น "พบเมืองออนไลน์" มีความสนใจที่ใช้เครื่องสื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะจากโทรศัพท์มือถือมากด้วย เมื่อมีคนใช้กันป็นจำนวนมากปัญหาจึงตามมา เพราะใคร ๆ ก็สามารถทำตัวเป็นนักข่าวหรือสื่อมวลชนได้ โพสต์ข่าวโพสต์ภาพลงโซเชี่ยลมิเดีย ซึ่งเฟซบุ๊กจะเป็นที่นิยม ข้อมูลนำเสนอ เรารู้ไม่เท่าทันความไม่จริงและความจริง จึงเกิดผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งการแชร์ข้อมูลโดยไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง 
 



"ปัญหาดังกล่าว คนมักจะมองว่า นักข่าวเป็นผู้สร้างทั้งหมด ดังนั้น ไหน ๆ เราจะเป็นนักข่าวทั้งทีก็ควรจะช่วยกันสร้างสรรค์สังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยลมิเดีย ไม่ควรเป็นผู้สร้างความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ และ วิดีโอ เราไม่ควรส่งต่อความรุนแรง พร้อมช่วยกันป้องปรามผู้สร้างความรุนแรงด้วยสันติวิธี 

ซึ่งสื่อมวลชนทุกแขนงก็พร้อมที่จะช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ เช่นงาน Thailand Social Expo 2018 ที่จัดโดย พม. ถือว่าเป็นแบบอย่างการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และประชาชนสามารถเข้าถึงสังคมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เป็นการลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน เราจะร่วมกันเดินไปสู่อนาคตที่สดใส ด้วยคนคุณภาพ ที่เจตนารมณ์ของผู้จัดงานอย่าง พม." นายจุมพลกล่าวในตอนท้าย 

พร้อมฝากข้อคิดด้วยบทกลอนที่ว่า “โลกยุคใหม่ก้าวไกลล้ำนำชีวิต ต้องตามติดอย่าตกยุครุกก้าวหน้า ดิจิทัลทันสมัยได้เข้ามา สติปัญญาต้องกำกับไม่อับจน”