พม. รับรองกิจการเพื่อสังคมใน 15 สถานประกอบการ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ชั้น ๓ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑ โดยมี นางสาวอุษณีย์ กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะกรรมการ และนางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาอนุมัติกิจการที่ยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมของสถานประกอบการ จำนวน ๑๕ กิจการ




 



พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า ตามที่ฝ่ายเลขานุการได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม ซึ่งได้จัดทำแบบคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคม ทำให้สามารถประกาศแบบและการยื่นคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมได้ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ ในการพิจารณาคุณสมบัติของกิจการที่ยื่นขอรับคำขอหนังสือรับรองกิจารเพื่อสังคม เพื่อนำเสนอกิจการเพื่อสังคมที่ควรได้รับการรับรองให้คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติอนุมัติ จำนวน ๑๕ กิจการ ได้แก่ ๑) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ๒) บริษัท เรย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ๓) บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ๔) บริษัทแดรี่โฮม จำกัด

๕) บริษัท กาแฟอาข่า อาม่า จำกัด ๖) บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด ๗) บริษัท แจสเบอร์รี่ จำกัด ๘) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูประถัมภ์ ๙) กลุ่มเกษตรกรทำนาโส่ ๑๐) บริษัท เด็กพิเศษ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ๑๑) บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด ๑๒) บริษัท คิดคิด จำกัด ๑๓) มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ในพระอุปถัมภ์ฯ ๑๔) สหกรณ์กรีนเนท จำกัด และ ๑๕) บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด และในส่วนคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ๔ ภาค และนำประเด็นข้อเสนอที่ได้จากการจัดประชุมมาประกอบการจัดทำร่างแผนการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔ เพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อไป




รัฐบาลเห็นความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่ประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ จึงมีมติเห็นชอบ พิจารณาอนุมัติรับรองกิจการเพื่อสังคมของสถานประกอบการ ชุดแรกของประเทศไทย จำนวน ๑๕ กิจการ เพื่อเป็นแรงจูงใจและเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม และเป็นการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานกิจการเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และมีธรรมาภิบาล รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคน พัฒนาสังคม ให้สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ได้อย่างยั่งยืนต่อไป