พม. ประชุมบูรณาการทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีเด็กและสตรี

   

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 60 เวลา 15.00 น.  ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายณรงค์ คงคำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมให้ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาการค้าประเวณีเด็กและสตรีอย่างเร่งด่วน 


นายณรงค์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีเด็กอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อย่างเร่งด่วน โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) อธิบดีทุกกรม และเจ้าหน้าที่กองต่อต้านการค้ามนุษย์ เข้าร่วมประชุม 

ซึ่ง รมว.พม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทุกหน่วยงาน เร่งบูรณาการร่วมกับฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจัดชุดปฏิบัติการตรวจเข้มข้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในสถานประกอบการและพื้นที่เสี่ยงเป็นแผนเร่งด่วน โดยให้บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และจัดทำแผนปฏิบัติการในระยะยาว รณรงค์ผ่านสถาบันครอบครัว การศึกษา สังคมและสื่อทุกประเภท อย่างต่อเนื่อง 


นายณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมายข้อสั่งการของ รมว.พม. นั้น ปลัด พม. จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ทุกจังหวัด ร่วมจัดทำแผนและปฏิบัติการร่วมกับฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่วมจัดชุดปฏิบัติการตรวจสถานประกอบการและพื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเด็ก สตรี ถูกล่อลวง และค้าบริการทางเพศ เช่น สถานบริการ บ้านเช่า หอพัก และร่วมกับชุดปฏิบัติการจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการจังหวัด ในการออกตรวจและให้การคุ้มครองเด็ก สตรี ในกลุ่มเสี่ยงตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวง พม. โดยให้เพิ่มความถี่ในการปฏิบัติการในแต่ละสัปดาห์ และรายงานผลให้ทราบต่อไป 

อีกทั้งขอให้ร่วมกันส่งเสริมและสร้างการรับรู้แก่เด็กและเยาวชนในการดูแลตนเองให้พ้นจากปัจจัยเสี่ยต่อการถูกล่อลวง ค้าบริการทางเพศ เช่น การอบรมให้ความรู้ในการป้องกันการถูกล่อลวงในโรงเรียน ค่ายเยาวชนรู้ภัยแก้ไขทัน เป็นต้น สร้างการรับรู้ในการดูแล ปกป้องและคุ้มครองเด็กแก่ครอบครัวและชุมชน รวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลคุ้มครองเด็กและสตรีในครอบครัวกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเด็กที่พ่อแม่มีคู่สมรสใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือ ดูแลสวัสดิการต่างๆ และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการถูกล่อลวง
 

“อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีเด็กและสตรีได้
โดยหากพบเห็นการกระทำความผิดหรือกลุ่มเสี่ยง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร. 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง” นายณรงค์ กล่าวในตอนท้าย