พม. จับมือสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพฯ จัดประชุมนานาชาติระดับเอเชียแปซิฟิก

วันนี้ (30 ต.ค. 61) เวลา 10.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็น องค์ประธานเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพนานาชาติ “BPW International Asia-Pacific Regional Conference 2018” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมี พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และคณะผู้บริหาร รวมทั้งสตรีนักธุรกิจและเจ้าของธุรกิจของประเทศไทยและต่างประเทศ รวม 29 ประเทศ จำนวน 500 คน ร่วมเฝ้ารับเสด็จ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ


นายปรเมธี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาค “BPW International Asia Pacific Regional Conference 2018” ภายใต้แนวคิด “Empowering Women to Realize Sustainable Development Goals” ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ 

ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมสตรีนักธุรกิจและสตรีนักวิชาชีพทั่วโลก ด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเป็นผู้นำของสตรีในทุกระดับ เป็นการสร้างโอกาสความเท่าเทียมของสตรีทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับงานด้านการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของสตรี ตามภารกิจของกระทรวง พม. โดย สค. 




นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า สำหรับช่วงบ่ายของการประชุมในวันนี้ ได้กำหนดจัดการเสวนา “ความก้าวหน้าใน การผลักดันสตรีไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Women Accelerating Advancement toward Sustainable Development Goals In Asia and the Pacific)” โดยตนได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับรองผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล และอดีตผู้อำนวยการอาเซียนและรัฐมนตรีต่างประเทศด้านผู้หญิงในภูมิภาคเอเชีย










ทั้งนี้ ตนได้นำเสนอถึงความคืบหน้าของประเทศไทยในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของสตรีตามภารกิจกระทรวง พม. ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างเพศและการให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิง โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการพัฒนาศักยภาพสตรี เพื่อให้สตรีเป็นพลังในการพัฒนา แบบยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ 1) การประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 2) การส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนของประเทศไทย (ASEAN Women’s Entrepreneur Network – Thailand : AWEN Thailand) 3) การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ในพื้นที่ 21 จังหวัด รวม 42 แห่ง เป็นต้น 


“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสตรีอยู่ในภาคแรงงานถึงร้อยละ 60 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ จากการสำรวจของ Global Entrepreneurship Monitor แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ประกอบการสตรีมากติดอันดับโลกและมีธุรกิจที่สตรีเป็นเจ้าของกิจการเองมากเท่ากับบุรุษ โดยในปี 2558 Women’s Entrepreneurial Index ได้จัดประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีความเหมาะสมสำหรับสตรีในการประกอบกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่สตรีไทยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ในทุกระดับมากขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของสตรีตามเป้าหมายที่ 5 มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยพลังของสตรีที่มีศักยภาพถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นอื่นด้วยเช่นกัน” นายปรเมธี กล่าวในตอนท้าย