ภาพจำ… เมืองสิงห์บุรี

สิงห์บุรี "ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา ย่านการค้าภาคกลาง"


คำขวัญที่บ่งบอกความเป็นสิงห์บุรี จังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนบน ริมฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดดเด่นด้วยเรื่องราววีรกรรมการรบสู้ของชาวบ้านบางระจัน และ... อีกมากมายตามประวัติที่เล่าขาน แต่ครั้งนี้ บีทริปนิวส์ เข้ามาเยือนสิงห์บุรีก็เพื่อสัมผัสกับชุมชนวิถีที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้รู้จักกันมากนัก ตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี สิงห์บุรี Inno-Way หลากหลายชุมชนที่ผูกพันกับสายน้ำ..ทุ่งข้าว...และวัฒนธรรม



บ้านหัวงิ้ว 

ที่แรกของการลงชุมชน เมื่อไปถึงเราก็ได้เห็น น้าทุย หัวหน้ากลุ่มกลองยาว แห่งบ้านหัวงิ้ว กำลังสาละวนอยู่กับการแนะนำ สมาชิกกลองยาว ตามประวัติชุมชนแห่งนี้ บอกว่า บ้านหัวงิ้ว แยกเขตการปกครองออกมาจากบ้านจวนเก่า โดยยึดตรงแนวลำบางยี่ค่อมซึ่งเป็นลำธารสาธารณะขนาดใหญ่เป็นแนวเขตแบ่งระหว่างบ้านจวนเก่าหมู่ที่1 กับบ้านหัวงิ้วหมู่ที่4 ไปถึงคลองบางต้นโพธิ์ใต้เป็นเขตของหมู่บ้านหัวงิ้ว

ที่ตั้งชื่อ บ้านหัวงิ้ว เพราะสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านในอดีตมีต้นงิ้วและง้าวขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อตามสภาพสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่หมู่บ้านหัวงิ้ว มีวัดร้างชื่อวัด ตาโค้ มีพื้นที่ 17 ไร่เศษ ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นวัดที่เกิดขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นอายุกว่า 200 ปี ซึ่งปัจจุบันบริเวณวัดได้ถูกแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะจนบริเวณวัดจมหายไปในแม่น้ำจนหมด เหลือเพียงซากสถูปที่ยังอยู่เป็นหลักฐานปรากฏอยู่

กลองยาวถือเป็นศิลปะพื้นบ้านของที่นี่ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน และได้รับการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีน้าทุย นำทั้งเด็กและเยาวชนเข้ามาพร่ำสอน เพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้า ก่อนที่จะเลือนหายไป





เสียงกลองอึกทึก ฉิ่งฉาบตีตามห้วงทำนอง จังหวะรุกเร้า จากคณะกลองยาวของทำเอาคุณ ท้อด ทองดี ที่มาถ่ายทำสารคดีเมืองสิงห์บุรี ถึงกับอดไม่ได้กับการโยกย้ายตามจังหวะอย่างสนุกสนาน  

ครั้งนี้ น้าทุย จึงพาเด็กๆ และทีมงานมาวาดลวดลายกลองยาวต้อนรับกันเอิกเกริก แถมยังได้ชมการทำน้ำพริกปลาร้าสับ สินค้าโอท้อปเลื่องชื่อของที่นี่อีกด้วย



บ้านหัวป่า

ห่างกันออกไปไม่ไกล เราเดินทางกันต่อไปยังชุมชนบ้านหัวป่า ที่นี่มีกลุ่มจักสานที่น่าสนใจ เป็นการนำผักตบชวามาสานมาทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ประโยชน์ดีแท้

เรารู้ประวัติชุมชนกันก่อนดีกว่า บ้านหัวป่าเริ่มแรก ใช้ชื่อว่า วัดโบสถ์กลางทุ่ง เพราะมีวัดอยู่กลางทุ่ง แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด และอยู่ห่างจากวัดประมาณ 500 เมตร วัดโบสถ์กลางทุ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ถูกปล่อยให้รกร้างมีโบสถ์เหลืออยู่เพียงหลังเดียว   ต่อมา ในปี พ.ศ. 2415 หลวงปู่ม่วงได้ บูรณะวัดวัดโบสถ์กลางทุ่งขึ้นมาใหม่ จนผู้พบเห็นศรัทธาในความรักความสามัคคีและความสามารถของหลวงปู่ม่วง จึงขนานนามใหม่ว่า วัดโบสถ์

ต่อมานายอำเภอประชา  ลาภานันท์  ได้เปลี่ยนชื่อจากบ้านวัดโบสถ์ เป็น บ้านหัวป่า แต่ชาวบ้านจะยังคงเรียกติดปากว่าบ้านวัดโบสถ์

ที่นี่ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อประกอบอาชีพเสริมจากการทำไร่ทำนา กลุ่มจักสานผักตบชวาซึ่งเกิดจากการมองเห็นคุณค่าของธรรมชาติที่หลายคนต่างมองว่าเป็นเศษสวะ





เราพบกับคุณอัจฉรา สีใส หัวหน้ากลุ่มจักสานผักตบชบา บ้านหัวป่า หมู่ 3 ที่บอกว่า เพิ่งรวมตัวตั้งกลุ่มขึ้นมา แต่จริงๆแล้ว เคยไปเรียนรู้การทำเครื่องจักสานตั้งแต่สมัยเมื่อยี่สิบปีก่อนที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ก็เป็นความรู้ที่ติดตัวมา

“...ต่อมาประจวบกับที่มีวิทยากรมาสอนในหมู่บ้าน จึงทำให้กลับมาเริ่มทำอีกครั้ง รวมถึงการไปดูงานในสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้ผักตบชวาสานงาน เพราะวัสดุหาง่ายในหมู่บ้าน ในน้ำในร่องสวนรกไปหมด คิดว่าน่าจะนำมาทำผลิตภัณฑ์ดีกว่า มีรายได้ รายรับช่วยเหลือครอบครัวด้วย

กลุ่มมีทั้งหมด 40 คน เพิ่งเริ่มทำ ซึ่งเราก็จดผลิตภัณฑ์โอท็อปอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อในหมู่บ้าน พัฒนาชุมชนก็เข้ามาช่วยเหลือแม้จะยังไม่ได้มีงบมาสนับสนุนแต่ก็มีข่าวสารและคำแนะนำการออกแบบ การตลาดต่าง ๆ ให้  งานแต่ละชิ้นงานใช้เวลาที่ต่างกัน ราคาขายก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลายและความยากง่ายด้วย”





......“ได้ละ 1 ชิ้น” น้องไก่ ช่างภาพที่ร่วมเดินทาง ควักกระเป๋าซื้อตะกร้าไก่ตามชื่อของตัวเองมาหนึ่งใบเรียบร้อย ก่อนจะเดินยิ้มออกมาด้วยความภาคภูมิใจ  

ราคาแสนถูกกับฝีมือประณีต ถ้าสนใจแวะเวียนกันเข้ามาอุดหนุนได้เลย



ตลาดนัดบ้านลำเหนือ 

ในช่วงบ่ายแก่ๆของวัน ที่บึงลำพระยา  กำลังจะมีพิธีเปิดตลาดนัดบ้านลำเหนือขึ้นเป็นครั้งแรก ชุมชนแห่งนี้มีหมู่บ้านราบลุ่มทั้งหมด 3 หมู่บ้าน คือลำเหนือ ลำกลาง ลำใต้

ส่วนตลาดนัดที่เพิ่งเกิดใหม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญอย่างกำนันหญิงเหล็ก “เพชรรัชต์ ทองมี” กำนันตำบลโพธิ์ชัย อ.อินทร์บุรี แม้จะเพิ่งเปิด หากแต่เราได้เห็นถึงความสามัคคี ความรักใคร่และความต้องการที่จะพัฒนาชุมชน เราเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กน้อยและสาวต่างวัย ต่างเข้ามาเป็นแม่ค้าแม่ขายนำอาหารพื้นถิ่น ขนมพื้นเมืองที่แทบจะไม่เคยเห็นมาให้เลือกสรรมากมาย  







กำนัน เพชรรัชต์ ทองมี แห่งตำบลโพธิ์ชัย บอกว่า ตลาดนัดเพิ่งเริ่มต้นเป็นครั้งแรก แต่จะมีทุกเสาร์ อาทิตย์ หลังจากนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. เป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ของดีก็มีอาหาร ขนมหวาน ตอนนี้มีเมล็ดขนุนที่มานำเสนอในตลาดนัด สินค้าจะเป็นอาหารพื้นบ้าน เช่นขนมกง ลอดช่องไวพจน์ ของเด่นระดับสี่ดาว



ด้านสถานที่เที่ยวมี วัดบ้านลำ หลวงพ่อปทุม ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์มาก โดนคนขโมยตัดเศียรไปก็ต้องเอามาคืน มีสวนเกษตร สวนเกษตรของลุงสงบ มีมะพร้าวเคยน้ำท่วมมีของแกรอดมาได้ แกจึงทำต่อมาตรงนี้เรื่อยมา เป็นมะพร้าวอ่อน ที่ขึ้นชื่อมาก

มีสวนยายสำเนียง ยายเสียชีวิตแล้วแต่ลูกสาวมาทำต่อ มีดอกบัว มะม่วง 20 สายพันธ์ มีผัก ต้นไม้ มีสะพานให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม

กำนันเพชร กล่าวเชิญชวนต่อว่า “อยากให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีของบ้านลำเหนือ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่นหลวงพ่อปทุม ทางด้านการเกษตรผสมผสาน รวมทั้งขนมหวานและอาหารที่เราจะสามารถลิ้มองรสชาติได้

จุดตลาดนัดตั้งอยู่ที่ตลาดลำพระยา ถ้าสนใจติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทร กำนันเพชร 0808151918 เราจะมีทีมงานโดยชาวบ้านในหมู่บ้านสามารถพาไปท่องเที่ยวได้”













ชุมชนบ้านบางโฉมศรี

...รุ่งอรุณของวันใหม่ ทีมงานเดินทางกันต่อไปยังชุมชนบ้านบางโฉมศรี ที่นี่มีประวัติที่น่าสนใจไม่แพ้ที่อื่น ตามประวัติเล่าว่า เริ่มมาจากคำว่า บาง เพราะว่ามีแม่น้ำหลายสายก็เลยเรียกว่าบาง แต่คำว่า โฉมศรี ชาวบ้านเล่ากันว่า มาจากพระธุดงค์ 2 รูป องค์ 1 ชื่อ โฉม องค์ 1 ชื่อ ศรี เป็นพระธุดงค์ 2 พี่น้อง เพราะว่าเมื่อก่อนมีพระดังๆ รุ่นหนึ่งที่ดังมากคือพระ 2 พี่น้อง พระธุดงค์มาอยู่และมาสร้างวัด ก็เลยเรียกว่าวัดบางโฉมศรี และมาเป็นหมู่บ้านบางโฉมศรี





ที่นี่มีที่เที่ยว OTOP นวัตวิถี หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นประตูระบายน้ำบางโฉมศรี วัดบางโฉมศรี วัดหลวงพ่อมิ่ง กลุ่มจักสานจิ๋ว วัดพระนาม เป็นต้น

สถานที่ท่องเที่ยวแรกของบ้านโฉมศรี เราจึงมาเริ่มกันที่ วัดบางโฉมศรี เพื่อพบกับชาวบ้านที่รวมตัวกันทำเครื่องจักสาน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเชือกมัดฟาง กระเป๋าหญิงแย้มดิ้นทอง กลุ่มอาชีพที่เกิดขึ้นจากความพยายามสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านของผู้ช่วยเจ้าอาวาสแห่งวัดนี้

จากปากทางเข้าวัด จะเห็นลานไทรโล่ง โปร่ง ร่มรื่นดีเหลือเกิน ขวามือพบเด็กนักเรียน ตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมาก ส่งเสียงเจื้อยแจ้วให้ได้ยินแต่ไกล บ้างก็วิ่งเล่น บ้างก็โซ้ยมาม่า บ้างก็วิ่งไล่จับ

เดินเข้ามาด้านในศาลา พบกลุ่มผู้เฒ่า และสาวสูงวัยนั่งล้อมวงสนทนาพลาง จักสานไผ่กันพลาง







ถัดมาเป็นองค์พระพุทธรูปเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะก่อนจะเข้าสู่อาคารพิพิธภัณฑ์ เราพบพระรูปหนึ่งกำลังสนทนาอยู่กับชาวบ้าน พระอาจารย์สุรพล ประภาโส 

พระอาจารย์สุรพล ประภาโส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโฉมศรี คือพระนักพัฒนาที่ชาวบ้านให้ความเคารพเลื่อมใส ได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ ก่อนจะพาเยี่ยมชมด้วยตัวเอง ว่า พระอาจารย์มาอยู่ที่วัดแห่งนี้ 20 กว่าปีแล้ว เดิมพื้นที่รกร้างมากจนแทบจะเป็นวัดร้าง จึงได้มีการเข้ามาพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันญาติโยมเห็นถึงความตั้งใจก็เกิดความเลื่อมใส จึงมีทางบุญเข้ามา

ตามประวัติวัดมีอายุ 106 ปี อุโบสถได้พัทธสีมา 86 ปี พระที่โยมมากราบไหว้คือหลวงพ่อโฉมสิริโสภณ หลวงพ่อทองและพระประธานในอุโบสถที่โยมมาสักการะบูชาประจำ



ต่อมาครอบครัวสมลาภา นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ เริ่มมีพุทธศาสนิกชนเข้ามาเพิ่มขึ้น”

พระอาจารย์ เล่าไปพร้อมกับเริ่มพาเยี่ยมชมอาคารพิพิธภัณฑ์  “...วัดแห่งนี้เริ่มพัฒนาราว ๆ สิบปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็มีโครงการของรัฐบาลหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่เขาทำกัน เมื่อทำออกมาแล้ว ถ้ายังขายไม่ได้ คนทำก็ไม่ได้เงินในที่สุดคนทำก็ไม่มีกำลังใจ ก็เลิกรากันไป จึงมานั่งคิดว่ากลุ่มจักสานจะอยู่ได้อย่างไร เพราะหมู่บ้านเรากอไผ่เยอะมาก

จึงคิดหาทุนมาให้ โดยซื้ออุปกรณ์ทุกอย่าง สอนการทำตอก กระเป๋า ตะกร้า ผลิตภัณฑ์จักสานทุกชนิด ใครทำไม่เป็นก็จะจ้างครูมาสอนบ้าง หรือไม่ก็เปิดจากอินเตอร์เน็ตให้ทำลวดลาย โดยเรารับซื้อเองแล้วจ่ายปัจจัยให้เลย เริ่มมาปีนี้เป็นปีที่สี่ โยมก็มารวมตัวกันทำที่วัดหรือจะไปทำบ้านก็ได้

ผลิตภัณฑ์ที่โยมทำมาก็เอามาส่งให้กับวัดเพื่อจำหน่ายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนเอาไว้สำหรับโซนของเก่าและโซนจำหน่ายสินค้า เพื่อให้เขาได้มีกินมีใช้ ผู้สูงอายุจะได้ไม่ว่างและได้มาเจอกันด้วย รวมถึงถ้ามาวัดก็เลี้ยงอาหารกลางวันด้วย ”





ส่วนที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พระอาจารย์บอกว่า “...ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำพิพิธภัณฑ์ จะทำเป็นที่จักสานแต่ปรากฏว่ามองแล้วสถานที่ใหญ่และของเก่าวัดพอมี จึงคิดว่าทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่ท่องเที่ยวกับโยมอีกที่หนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องทองเหลือง เครื่องเงิน ไหโบราณ โอ่งโบราณ นำมารวบรวมตั้งไว้ที่วัด

ตึกหลังนี้สร้างยังไม่แล้วเสร็จตอนนี้ได้ 80 % ชั้น 1 เป็นเครื่องจักสานและพิพิธภัณฑ์ ชั้น 2 เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของอุโบสถ อุโบสิกา ชั้นที่ 3 เป็นพุทธมณฑลจำลองสูง 6 เมตรและหอระฆัง มีเรือนไทยอีกสองเรือนไทยบนชั้นดาดฟ้า”








และเมื่อถามเด็กจำนวนมากมาย ที่นั่งเล่นกันอยู่ในโรงเรียนด้านหน้า ซึ่งเป็นวันเสาร์ พระอาจารย์บอกว่า “ทางวัดบางโฉมศรี มีโรงเรียนสงเคราะห์ รองรับเด็กชาวเขาเผ่าม้ง เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษากินนอนอยู่ที่วัด 400 คน ทุกเสาร์อาทิตย์ จะมีโยม นักท่องเที่ยวเข้ามาปิดทองไหว้พระ มาเลี้ยงอาหารเด็กเป็นประจำ”

โดยเด็กที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าม้งทั้งหมด เดิมทีรร.ของสมเด็จพระเทพฯอยู่ที่จังหวัดตาก รร.สงเคราะห์ รับได้ 1,200 คนแต่ตอนนี้เต็มเพดาน จึงเสนอว่าที่ไหนพอจะช่วยแบ่งเบาภาระได้บ้าง บังเอิญของเราเป็นรร.เอกชนจึงนำมารองรับที่นี่แล้ว แปลงสภาพมาเป็นมูลนิธิฯ หรือ โรงเรียนสงเคราะห์ ไม่เสียค่าเล่าเรียน เรียนฟรี  

เด็กที่เข้ามาเรียน เริ่มจากอนุบาล ถึงประถมปีที่ 6 เด็กนักเรียนหญิงถ้าจบแล้วจะส่งกลับเพราะไม่สามารถอยู่วัดได้ แต่นักเรียนชายใครที่ต้องการเรียนต่อเราก็จะส่งให้เรียนจนถึงปริญญา ทุกวันนี้มีทุกระดับ มีเรียนครู แพทย์ จบทำงานแล้วก็มี

ศิษย์เก่ามีเยอะ เปิดมา 30-40 ปีแล้ว จบไปหลายรุ่นแล้ว เมื่อรุ่นพี่ถ้ามีฐานะก็จะตั้งกลุ่ม รวบรวมปัจจัยเอามาเลี้ยงอาหารน้อง ๆ

เด็ก ผู้ชายและผู้หญิงเรียนรวมกัน จะแยกนอนหญิงชาย ชายจะนอนในวัดแต่หญิงก็จะนอนในโรงเรือนเป็นรร.ประจำ รับปีการศึกษาเหมือนรร.ทั่วไป ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

 วิธีคัดเลือกเราดูเพียงแค่อายุ ถ้าอายุถึงเกณฑ์ก็เข้าได้แต่ต้องมากับผู้ปกครอง อาตมาอยู่ที่นี่ยี่สิบกว่าปี ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก ก็พัฒนากัน ร่วมแรงร่วมใจกัน มีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และเป็นอุทยานการศึกษา ท่านเจ้าอาวาสเป็นพระครูสัญญาบัตร เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ก็ออกเดินทางไปญี่ปุ่น อินเดีย ท่านเดินสายปฏิบัติแต่ก็เป็นที่ปรึกษาให้กับทางวัดตลอดเวลา

“สำหรับนักท่องเที่ยวหากสนใจ ก็เข้ามากราบพระไหว้พระปิดทองที่สมเด็จโตพรหมรังสี หลวงปู่ทวด หลวงพ่อโฉมสิริโสภณ หลังจากนั้นก็ไปนมัสการสารีริกธาตุ เจดีย์เก่า และพิพิธภัณฑ์



ปิดทองไหว้พระเพื่อเป็นมงคลของชีวิตตัวเอง หรือจะทำบุญให้กับเด็กๆ ก็ถือว่าทำทาน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเก่า เรายินดีต้อนรับ สมุดปากกา ดินสอ ครึ่งด้ามครึ่งเล่ม รองเท้าข้างเดียวก็รับ รับทีละข้างเดี๋ยวก็มาเจอกันเอง อาจจะต่างสีต่างแบบหน่อย” พระอาจารย์เล่าอย่างมีอารมณ์ขัน

เรียกว่า ใครที่อยากจะเข้ามาทำบุญบริจาค ติดต่อไปที่ พระอาจารย์ได้โดยตรงที่ 081 9482912

บ้านวัดหัวเมือง

หลังจากเดินชมวัดบางโฉมศรี เราไปกันต่อที่บ้านวัดหัวเมือง เดิมทีเป็นหัวเมืองของเมืองสิงห์ เลยตั้งชื่อว่าบ้านวัดหัวเมือง ผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่ย้ายเข้ามาอยู่ ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลากหลาย โดยเฉพาะ หลวงพ่อทันใจ วัดพระปรางค์ ,วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร



วัดหน้าพระธาตุ โบราณสถานเก่าแก่ริมน้ำ วัดหน้าพระธาตุเดิมชื่อว่า วัดหัวเมืองหรือวัดศีรษะเมือง โบราณสถานสำคัญของวัดคือพระปรางค์ มีลักษณะศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 21 มักนิยมทำรูปครุฑและอสูรถือกระบองประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร เป็นคติที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมเขมร มีตำนานมากมายให้เล่าขาน สนใจต้องมาเยี่ยมชม









 



ในอนาคตชาวบ้านมีแพลนจะทำตลาดน้ำ ณ บริเวณด้านข้างวัดหน้าพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งรวมศิลปะ หัตถกรรม อาหารพื้นถิ่น เพื่อพลิกฟื้นชีวิตสังคมวิถีริมน้ำขึ้นมาอีกครั้ง

แม้ปัจจุบันจะมีตลาดต้องชมที่หน่วยงานราชการเข้ามาให้การสนับสนุนแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนความเป็นเอกลักษณ์ของตลาดบางระจันจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจนด้อยผู้คนไปบ้าง แต่จริง ๆแล้ว ตลาดต้องชมเรากลับพบว่า ทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีราคาถูก และน่าสนใจมาก ๆ เอาเป็นว่า ถ้าใครแวะตลาดบ้านบางระจันแล้วก็แวะมาสักการะพระนอนฯ และซื้อของประจำถิ่นที่ตลาดต้องชมกลับบ้าน ไม่ผิดหวังแน่นอน



















ผู้ที่จะให้ข้อมูลกับเราได้ดีที่สุดเห็นจะเป็นคุณวรวรรณ ตาบโกไสย์ ประธานหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี  หมู่บ้านวัดหัวเมือง เล่าว่า ป้าดูแลผลิตภัณฑ์ท้อปทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีการเชิญอาจารย์ ปราชญ์หลายๆ ด้าน เข้ามาร่วมกันเพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร คาว หวาน หรืองานฝีมือ  



นักท่องเที่ยวเข้ามา จุดต้อนรับครั้งแรกเลยอยากให้ไปที่วัดพระนอนจักรสีห์ ก็จะมีเจ้าหน้าที่พานักท่องเที่ยวมาในหมู่บ้าน มีแหล่งผลิต มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ การทำกระเป๋าผ้า พวงกุญแจ การสาน การทำฝาชีแฟนซี แนวโน้มถ้าต่อไปเปิดเป็นตลาด ก็คิดว่า เรามีอาหาร พื้นบ้านเรา แกงเขียวหวานปลากราย ยำผักกรอบ จะทำขายหรืออยากเรียนรู้ เราก็จะสอนให้

อาหารที่เรานำเสนอ ต้มซาเซียน แกงเขียวหวานปลากราย ยำผักกรอบ นำผักบุ้ง ดอกเข็ม ผักพื้นบ้านมาชุบแป้งทอดและนำน้ำยำราด”

ที่นี่มีรถนำชมบริเวณภายในหมู่บ้าน เริ่มตั้งแต่หน้าพระนอนฯ หลวงพ่อทันใจไปจนกระทั่ง วัดหน้าพระธาตุ บริการฟรี หากสนใจสามารถเข้ามาได้เลยไม่ผิดหวังแน่นอน

 

บ้านวัดใหม่

.....ไปกันต่อเลย ที่สุดท้ายของวัน ที่บ้านวัดใหม่ ตามประวัติของชุมชน เล่าว่า สมัยก่อนมีคนล่องเรือมาตามลำน้ำ แล้วเห็นที่ตั้งนี้มีวัดอยู่เลยมาอาศัยอยู่ เลยได้ตั้งชื่อว่าบ้านวัดใหม่ ซึ่งตั้งชื่อตามวัดใหม่ หรือวัดสุทธาวาส ในปัจจุบัน



ส่วนตำนานบอกว่า ทับยาเป็นที่ตั้งของพม่าในช่วงทำศึกสงคราม และเป็นที่รักษาคนเจ็บ หรือที่เรียกกันว่าหย่าทับ (ทับหย่า) มีที่ท่องเที่ยวได้แก่ วัดสุทธาวาส (วัดใหม่) หลวงพ่ออิ่ม , พระป่าเรไร , โคกงู

วันนี้เราจึงได้โอกาสมานั่งคุยกับประธานกลุ่มสตรีตำบลทับยา คุณเบญจ์ ถนอมศิลป์ บ้านทำผ้าด้นมือ  หมู่ที่ 4 วัดใหม่ ต.ทับยา อ.อินทรบุรี



คุณเบญจ์ ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน ร.ต. ชูโชค เล่าถึงฝีมือการทำกระเป๋าด้นมือว่า “เรียนจากอาจารย์จากจังหวัดนครสวรรค์ และอาจารย์เป็นคนสอนให้ที่หมู่บ้านนี้ พอของบมาได้ก็เริ่มทำตั้งแต่ปี 2549 ช่วงนั้นน้ำท่วม ชาวบ้านเครียด เราก็ของบมาพัฒนาอาชพีให้ชาวบ้านทำ ตอนแรกสมาชิกก็เยอะ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง  20 กว่าคนเพราะงานนี้เป็นงานฝีมือต้องมีความประณีต คนทำได้ต้องใจเย็น ผลงานออกมาทำได้ทุกคนแต่ความละเอียดไม่มากพอ รุ่นก่อนนี้ เอาไปขายได้จึงจะนำมาแบ่งปันกัน เขาก็ไม่ค่อยพอใช้ไปอยู่โรงงานอื่น ๆ กันหมด





ตอนหลังเปลี่ยนใหม่ โดยเราออกแบบเองทั้งหมด เพื่อให้งานผ่านทุกชิ้นขายได้ทุกชิ้น เพราะเราเป็นคนไปออกตลาด จะรู้ว่าตลาดต้องการและชอบแบบไหน แต่ถ้าให้ชาวบ้านทำก็จะทำตามใจตัวเอง สีสันก็โดดไปโดดมา ก็ขายไม่ออก

เมื่อออกแบบแล้ว ก็ให้ชาวบ้านทำตามที่ต้องการเมื่อเขานำมาส่งก็จะนำเงินให้เขาไปเลย แต่ถ้าเป็นงานแบบใหม่ก็จะมาสอนกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้สอนแล้ว เพียงแค่บอกเขาก็จะรู้ไปโดยปริยาย ทำกันจนชำนาญแล้ว

กระเป๋ามีกระเป๋าเครื่องสำอาง กระเป๋าทรงหลุยส์ กระเป๋า ตลาดส่วนใหญ่จะซื้อมาทางเวป และออกงานประจำปี และงานของพัฒนาชุมชนเราจะไปออกงานด้วยทุกงาน”

นอกจากจุดทำผลิตภัณฑ์แล้ว สิ่งที่น่าสนใจยิ่งสำหรับเราเห็นจะเห็น ผนังโบสถ์เก่าที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า ... ผนังโบสถ์ที่เหลือเพียงด้านเดียว รูปแกะสลักขนาดใหญ่ผุกร่อนตามกาล



ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า วัดแห่งนี้ถูกผ่าครึ่งด้วยถนนตัดใหม่ โบสถ์เก่าจึงถูกทิ้งร้าง และย้ายโรงเรียนไปอยู่คนละฝั่งถนนกับวัด ถ้าขับผ่าน จะดูไม่เห็นถึงภาพจิตกรรมและรูปแกะสลัก เราก็ทำได้เพียงแค่ช่วยกันดูแลรักษากันเท่าที่แรงมี”  

จากที่สังเกตุ วัดสุทธาวาส(วัดใหม่) มีการสร้างกำแพงรั้วแสดงอาณาเขตวัดเอาไว้ใหม่แล้ว โดยทิ้งผนังวิหารหรือโบสถ์โบราณนี้เอาไว้ริมถนนอย่างโดดเดี่ยว ดูคล้ายกับมิใช่ส่วนหนึ่งของวัด





.... เย็นวันนี้ ... ณ เวลานี้ หัวใจสะท้อนกับหลายสิ่งที่เห็น ....

.....ภาพจำ...เมืองสิงห์บุรี