ก.แรงงาน จับมือ ม.ธรรมศาสตร์ แลกเปลี่ยนงานวิชาการด้านแรงงาน เร่งตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. กระทรวงแรงงาน จับมือ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ ข้อมูลสถิติและการวิจัยด้านแรงงาน ตลอดจนช่วยสนับสนุนงานด้านวิชาการซึ่งกันและกัน ให้บุคลากรได้รับการพัฒนา เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานด้านแรงงาน

   

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อสร้างและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ในการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ ประมาณการด้านแรงงาน ข้อมูลสถิติและการวิจัยด้านแรงงาน 

ตลอดจนการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านแรงงานและการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทสังคมโลกในปัจจุบัน และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับมาตรฐานการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ ประมาณการด้านแรงงาน สถิติและการวิจัยด้านแรงงานให้เป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญในระดับประเทศเทียบเท่าหน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้บริการทางสถิติและงานวิจัยด้านแรงงาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพัฒนาทักษะ และความสามารถด้านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย ให้ข้อเสนอแนะทางด้านนโยบายบนพื้นฐานความรู้ทางด้านสถิติ และเศรษฐศาสตร์แรงงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน


ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปี โดยทั้ง ๒ หน่วยงาน จะช่วยสนับสนุนงานด้านวิชาการซึ่งกันและกัน ตลอดจนบุคลากรได้รับการพัฒนา เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่องานด้านแรงงานต่อไป


หม่อมหลวงปุณฑริกฯ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีบทบาทในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน ซึ่งมุ่งหวังที่จะเห็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยไม่ใช่เป็นเพียง Productive Manpower แต่จะต้องเป็นกำลังแรงงานที่เป็น Creative Manpower เป็น innovative Manpower และสุดท้ายจะมีกำลังแรงงานที่เป็น Brain Power คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังปัญญา 

และสามารถที่จะเป็นประชากรของโลกที่อยู่ที่ไหนก็ได้ทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก อีกทั้งคนในอนาคตต้องมีองค์ความรู้ ทักษะ ความสามารถในการใช้ไอที ภาษา และที่สำคัญมีความสามารถในการปรับตัว กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานสนับสนุนทางด้านวิชาการร่วมกัน เพื่อให้สามารถทำงานได้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งหลักวิชาการ ทิศดีต่างๆ การทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนปฏิบัติการ รวมถึงการทำผลิตภาพแรงงานที่เป็นเรื่องสำคัญของกระทรวงแรงงาน ที่จะต้องทำให้ผลิตภาพแรงงานให้สูงทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ 

อีกทั้งกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการแรงงานฐานะระดับกรม เพื่อกำหนดทิศทาง การคาดการณ์สถานการณ์แรงงานที่จะเกิดขึ้น แนวโน้มทิศทางการดำเนินงานด้านแรงงานจะเป็นอย่างไร เพื่อเสนอต่อรัฐบาลว่าจะเดินไปในทิศทางใดต่อไป โดยการสนับสนุนจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะทำงานเคียงคู่กันในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาประเทศ กำลังแรงงาน และทรัพยากรมนุษย์


รองศาสตราจารย์ ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ มีความสำคัญในการตอบโจทย์ไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง และหวังว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างภาควิชาการกับภาคปฏิบัติที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติต่อไป