กรมพก.ร่วมกับสมาคมสภาคนพิการฯ เตรียมจัดใหญ่ งาน”วันคนพิการสากล ปี 61” มุ่งเน้นสิทธิความเท่าเทียม

องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับคนพิการและเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรมและเสมอภาคกับคนทั่วไป ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันคนพิการสากลเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงร่วมกับสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2561 ขึ้น เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล นอกจากนั้น ยังเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม เป็นสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 แนวคิดในการจัดงานวันพิการสากลได้สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติ กำหนดหัวข้อการจัดงานตามประเด็นหลัก (Theme) คือ “การเสริมพลังคนพิการ และการประกันการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเป็นธรรม” (Empowering persons with disabilities and ensuring inclusiveness and equality) ในปี 2562 ประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยต่อจากสิงคโปร์

โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวคิดหลัก (theme) สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ประการ 1) การก้าวไกล (Advancing) โดยให้อาเซียนมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต 2) การร่วมมือ ร่วมใจ (Partnership) ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลก 3) ความยั่งยืน (Sustainability) กล่าวคือ การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ

นอกจากนี้ในระดับอาเซียน ประเทศไทยได้ผลักดันแผนแม่บทอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASEAN Enabling Masterplan) เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และบูรณาการงานด้านคนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมในประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) เพื่อให้คนพิการสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติอย่างแท้จริง

นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวว่า “สำหรับภายในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เน้นให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอื่นอันเป็นสาธารณะอย่างเท่าเทียม ปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ

ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรเครือข่ายด้านคนพิการให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิตอิสระ ในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม (EQUAL) สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2561 ซึ่งจะเน้นถึงการฉายภาพความสำเร็จของการอยู่ในสังคมของคนพิการได้อย่างยั่งยืน ผ่านการมีงานทำของคนพิการ ตามมาตรา 33 34  และ 35″

อธิบดีพก. กล่าวต่อว่า “การที่จะให้เห็นถึงศักยภาพคนพิการอย่างแท้จริง คือการที่คนพิการมีงานทำ ซึ่งมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 33 34 35  ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ ดำรงชีวิตด้วยตนได้เองอย่างยั่งยืน จึงเกิดแนวคิดว่าการจัดงานคนพิการ ประจำปี 2561 จะเน้นในเรื่องของงานและการจ้างงาน เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างโอกาสให้กับคนพิการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการอย่างมีศักดิ์ศรีและยั่งยืน เพราะการมีงานทำมีรายได้ เป็นการบ่งบอกถึงการทำหน้าที่ของบุคคลเต็มตามศักยภาพและส่งผลให้บุคคลนั้นมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างภาคภูมิ

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย อาทิ องค์กรคนพิการ ๗ ประเภท คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ไอชาร์) กระทรวงแรงงาน  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์กรภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายคนพิการ”

โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ 1.โซนพิธีการ เป็นรูปแบบเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรูปประสบการณ์ในการมีงานทำของคนพิการไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานคนพิการอย่างมีศักดิ์ศรี และยั่งยืน เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านคนพิการและปัจจัยความสำเร็จ (Key success) ร่วมกันระหว่างคนพิการ องค์กรคนพิการ ภาคเอกชน และภาครัฐ 

เวทีเสวนา ขอนแก่นโมเดล … เดินหน้าการจ้างงานคนพิการผ่านชุมชน เป็นการยกตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เน้นการใช้องค์ความรู้ในการขยายเครือข่ายคนพิการ และผู้ดูแลให้รวมตัวร่วมคิดร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมทำงานจนพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ และเป็นที่ยอมรับของชุมชน มีกระบวนการทำงานที่โดดเด่น สามารถสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และส่งผลให้เกิดการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และ 35 ในหน่วยงานต่าง ๆ และ การทำ Work shop ช่องทางทำกิน “ขนมไทย ทำกินได้ ทำขายรวย” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประกอบอาชีพของคนพิการ โดยได้นำครูจากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านทองพูนเผ่าพนัส จ.อุบลราชธานี มาเป็นผู้ฝึกสอนในงานและให้คนพิการได้ทดลองปฏิบัติจริง

2.โซนนิทรรศการ ประกอบด้วย องค์กรคนพิการ ๗ ประเภท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กระทรวงแรงงาน  ภาคเอกชนที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

3.โซนบูธขายผลิตภัณฑ์คนพิการ ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพคนพิการ อาทิ เช่น งานศิลปะ งานฝีมือและงานประดิษฐ์เครื่องใช้ งานจักรสาน งานตัดเย็บ งานทอผ้า อาหาร อาหารแปรรูป จำนวนกว่า 150 บูธ

โดยงานจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2561 เวลา 9.00 – 18. 00 น. ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา