ก้าวสู่ปีที่ 19 กับ โครงการ“ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว”

คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาชุมชน บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ 


   “...ไทยเบฟตั้งใจทำธุรกิจให้เติบโตคู่ไปกับการพัฒนาสังคม...ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน”



ก้าวสู่ปีที่ 19 ของโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว” โครงการที่มุ่งมั่นสานต่อการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนไทยผู้ประสบภัยหนาวในภาคเหนือและอีสานมาตลอด 19 ปี ด้วยผ้าห่มผืนเขียวจำนวน 3,800,000 ผืนกระจายไปยัง 45 จังหวัด 579 อำเภอ โดยร่วมมือกับ พันธมิตรที่สำคัญอย่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และยังคงเตรียมที่จะขยายพันธมิตรจิตอาสาที่จะก้าวต่อไป อย่างมั่นคง ยั่งยืน

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเข้ามาแจกผ้าห่มยังโรงเรียนเชียงกลาง(ประชาพัฒนา) อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นแห่งสุดท้ายของปีนี้ คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ก็ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการดังกล่าวหนึ่งในกิจกรรมตามนโยบายของไทยเบฟ กับ Btripnews ว่า จริงๆ แล้วเป็นหลักการของผู้บริหารว่า เราต้องดำเนินธุรกิจให้โตแต่ไม่ได้โตไปคนเดียว แต่...ต้องการสร้างสังคมให้โตไปด้วยกัน มีหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ กิจกรรมผ้าห่มเป็นกิจกรรมหนึ่งเพื่อสังคม ทำให้ยั่งยืนคือเป็นการให้



ถือว่าเป็นความรู้สึกที่มอบให้ด้วยความห่วงใย เวลาลงพื้นที่เจอชาวบ้าน เขาดีใจ วันนี้ที่มามอบผ้าห่มเหมือนมาในเมือง แต่เมื่อวันก่อนไปที่ผาน้ำย้อย ถนนหนทางลำบากและผู้ให้ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง ผ้าห่มผืนเดียวไม่ได้มีความหมายแค่เอามาห่ม แต่รู้สึกว่า ผ้าห่มของเราเป็นสัญลักษณ์ของการให้และความห่วงใยไปพร้อม ๆ กับความอบอุ่นทางกายที่ได้รับ พี่พูดด้วยความรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ

เพิ่มการให้ด้วยพันธมิตร คุณธารทิพย์ เล่าต่อว่า “ เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่า อยากจะสร้างสังคมของการให้โดยรวบรวมพันธมิตรที่ต้องการสร้างสังคมไปด้วยกัน เขาไปไม่ได้ เราทำคาราวานผ้าห่มลงไปในพื้นที่ บางคนไปได้ก็ไปด้วยกัน ไปไม่ได้ก็ฝากของมาอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ บริษัท ทีพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี จำกัด มอบอุปกรณ์การศึกษา คอมพิวเตอร์และทุนการศึกษา บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด บริษัท เบอร์รี่ ยุคเกอร์ จำกัด บริษัท เสริมสุข จำกัด บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) นำขนม นำนักร้องนักแสดงมา

และเรื่องขององค์ความรู้เรื่องฟุตบอล ก็นำผู้เชี่ยวชาญลงมาให้ความรู้ นี่คือโอกาสในการถ่ายทอดความรู้  โดยวิทยากรจาก มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข มาสอนด้านดนตรีและการร้องเพลง เพราะนักเรียนโรงเรียนนี้มีเป้าหมายในการเข้าแข่งขันชนะเลิศของวงโยธวาทิต ก็สอนเทคนิคให้ เพื่อให้โรงเรียนนำไปขยายผลต่อไปเพื่อให้น้องก้าวสู่มืออาชีพได้



ด้านการคัดเลือกแหล่งที่นำจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม ผอ.โครงการพัฒนาชุมชน บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด กล่าวว่า ในเบื้องต้น มีการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีวิธีการหาผู้ห่างไกลและประสบภัยหนาว โดยเลือกพื้นที่ที่ยากลำบาก โดยมีทีมเซอร์เวย์ลงพื้นที่ในเบื้องต้น โดยเลือกพื้นที่ที่เดินทางลำบาก หลายพื้นที่ต้องใช้รถโฟร์วิวเพื่อเข้าไปถึง  นอกเหนือจากนี้จะลงไปที่บ้านผู้ป่วยติดเตียงเพื่อย่นระยะเวลาในการเดินทางของชาวบ้านที่จะมารับผ้าห่ม

การลงพื้นที่ทำให้สัมผัสกับชีวิตของชาวบ้าน เมื่อเริ่มโครงการไปสักสี่ปี ขึ้นไปแจกผ้าห่มที่ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นมีเด็กอายุประมาณ 4 ขวบ มากับแม่มารับผ้าห่มเราเห็นก็ถ่ายภาพเด็กคนนั้น ก็เหมือนกับเป็นพรีเซนเตอร์ เรานำภาพเด็กนั้นมาเป็นโปสเตอร์ เด็กคนนั้นชื่อ “น้องอาจัว”

ปัจจุบัน น้องอาจัว เติบโตขึ้น กำลังเรียนอยู่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเป็นเด็กที่เราดูแลเขามาตั้งแต่เล็ก ดูแลด้านทุนการศึกษา ซึ่งเหมือนเป็นความผูกพันกันมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถ้าน้องสะดวกก็จะมาร่วมทำกิจกรรม ทำจิตอาสาด้วย น้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มาทำงานด้านสังคมกลับมาตอบแทนสังคม เหล่านี้คือสิ่งที่อยากจะบอกว่า เมื่อลงพื้นที่แล้ว สามารถขยายการให้ได้เราก็จะทำ ถือว่าน้องอาจัวเติบโตมากับโครงการผ้าห่มของเรา

ด้านแพลนในปีหน้าของโครงการ “ไทยเบฟ...รวมใจต้านภัยหนาว”  คุณธารทิพย์ กล่าวว่า “ในปีหน้าก็ยังคงเดินหน้าต่อไป แต่สิ่งที่จะทำต่อไปคือ อยากให้ความรู้สึกของการสร้างสังคมให้มากขึ้น การพัฒนาในการทำชุมชนสร้างสังคมให้ยั่งยืน เพราะเชื่อว่าไม่สามารถใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้ ต้องช่วยกันในหลายฝ่าย ไทยเบฟมีผ้าห่มสองแสนผืนยังไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ ไทยเบฟยังต้องมีกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ข้อมูล

ขณะเดียวกันการสร้างสังคมให้ยั่งยืน เราคิดว่า การรวบรวมทุกหน่วยงานที่จะมาช่วยกันลงไปให้โอกาสกับพี่น้องที่อยู่ห่างไกล สร้างสังคมที่ดี สร้างจิตใจให้คนรู้จักการให้ รู้จักการแบ่งปัน เพราะนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่สังคมรู้จักการให้การแบ่งปัน เชื่อว่า สังคมจะยั่งยืน ต่อไปก็พยายามจะผลักดันรวบรวมพันธมิตรให้ไปด้วยกันให้มากขึ้น

การเติบโตของโครงการคือการร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้พี่น้องได้รับโอกาสมากขึ้น การหยิบสิ่งที่ไปเจอมาขยายผลเพื่อให้พี่น้องได้รับอากาสมากขึ้น

...นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เมื่อลงพื้นที่ ได้ไปเจอสถานที่ที่เหมือนช้างเผือกอยู่ในป่า เช่นที่ผาน้ำย้อยที่ได้เข้าไปเป็นสถานที่ที่มีธรรมชาติสวยงาม มีชุมชนเข้มแข็ง เมื่อไทยเบฟเข้าไปแจกผ้าห่ม และนำสื่อมวลชนเข้าไป สื่อมวลชนก็ไม่ได้ลงไปทำข่าวเพียงแค่การแจกผ้าห่ม แต่จะมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสกับพื้นที่ห่างไกลด้วย

ได้เห็นบริบทของสถานที่ต่าง ๆ มีการนำเสนอ ก็อาจทำให้เกิดการอยากเข้ามาเที่ยวซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ส่วนหนึ่งให้กับในเรื่องของการท่องเที่ยวได้แน่นอน และอีกส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงคือ วันนี้มีประชารัฐมาร่วมด้วยก็จะสามารถเชื่อมโยงกันได้ หรือเห็นผลิตภัณฑ์ไหนที่เราสามารถช่วยพัฒนาได้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเชื่อมโยงกันไป

...ไทยเบฟตั้งใจจะทำธุรกิจให้เติบโตคู่ไปกับการพัฒนาสังคมไปพร้อม ๆ กัน สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดีสังคมเติบโตไทยเบฟทำหมดเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย” คุณธารทิพย์ กล่าวท้ายสุด