ททท.เผยรายได้จากนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ปี 2560

กรุงเทพฯ, 18 ธันวาคม 2561 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยผลสำรวจสถิติ และรายได้ จากนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามของไทย พบว่าในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากทั่วโลกประมาณ 66,492 คน มูลค่าตลาด 23,128,859,400 บาท, ผลสำรวจนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากทั่วโลกกว่า 80% พึงพอใจและมั่นใจในบริการทางการแพทย์ของไทย

คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “เมื่อต้นปี ที่ผ่านมา ททท.  ได้ดำเนินการสำรวจสถิติ  และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourist) ที่เดินทางมาใช้บริการสุขภาพด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และความงามในประเทศไทย จากการสำรวจผู้ประกอบการทั่วประเทศ 220 ราย พบว่าจากการเก็บสถิติตัวเลขในปี 2560



ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และความงามของไทยประมาณ 66,492 คน คิดเป็นมูลค่าตลาด 23,128,859,400 บาท โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้คาดการณ์รายได้ในปี 2561 เพิ่มสูงขึ้น 13.9% หรือประมาณ 26,436,038,047 บาท และในส่วนของการใช้จ่าย(Spending) ของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย     และความงามของไทย   เฉลี่ยอยู่ที่   234,923 - 700,000   บาทต่อคน   และระยะเวลาในการเข้ามารับบริการใน สถานประกอบการ (Length of stay) เฉลี่ยประมาณ 5 วัน

และ ททท. ได้ทำการสำรวจข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มาใช้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก  พบว่ามีการใช้จ่าย เฉลี่ย 200,000 – 400,000 บาท ในส่วนของ รีสอร์ตและศูนย์สำหรับการบำบัด ผู้ติดแอลกอฮอล์ และติดยา พบว่ามีการใช้จ่าย เฉลี่ยอยู่ที่ 230,000 – 440,000 บาท และจากการสำรวจข้อมูล   รีสอร์ตสุขภาพชั้นนำในประเทศไทย พบว่านักท่องเที่ยวใช้จ่าย เฉลี่ยอยู่ที่ 37,000 – 160,000 บาท

นอกจากนี้   ททท .  ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมเชิงลึก   ความคิดเห็น   และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากทั่วโลกที่มาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย จำนวน 500 คน จากประเทศ เมียนมา ลาว ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ผลสำรวจข้อมูลดังนี้

- กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ส่วนใหญ่ รู้จักและหาข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยจากเพื่อนหรือญาติ มากที่สุด รองลงมาคือ เอเจนซี่ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานประกอบการ

- ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาใช้บริการเพื่อสุขภาพในประเทศไทย ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าให้ความสำคัญกับคุณภาพของสถานประกอบการ, อัตราความสำเร็จในการรักษา และชื่อเสียงของสถานประกอบการ

- ร้อยละ 80 ของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เลือกพักในโรงแรม ระดับ 3 ดาว และมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยเฉลี่ย 3 - 5 วัน

นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ส่วนใหญ่ มีผู้ร่วมเดินทางมาด้วย และท่องเที่ยวในระหว่างที่พำนัก ในประเทศ โดยกิจกรรมที่เลือกทำมากที่สุดคือ ชอปปิง รองลงมาคือ สปา

กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ พึงพอใจในบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย และ

กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 100% ตอบว่าจะเดินทางกลับมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยแน่นอน

ททท.  ได้ดำเนินการสำรวจศักยภาพและความพร้อมของบริการสุขภาพด้านต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า

ประเทศไทยมีโรงพยาบาล และคลีนิคที่ได้รับการรับรองมาตรฐานJCI จากองค์กรรับรองมาตรฐานทางการแพทย์ระดับโลก จำนวน 64 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค AEC และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

ประเทศไทยมี 12 พื้นที่ ที่มีศักยภาพพร้อมให้บริการทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพสำหรับตลาดต่างประเทศ ดังนี้ กรุงเทพฯ เขาใหญ่ พัทยา หัวหิน เกาะช้าง เกาะสมุย เกาะพะงัน ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น

 

ประเทศไทยมีผู้ให้บริการด้านสุขภาพสำหรับตลาดต่างประเทศ ทั้งหมด 20 ประเภท ดังนี้
  1. โรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI (JCI Accredited Hospital)
  2. โรงพยาบาล/ศูนย์เฉพาะทาง โรคซับซ้อน (Specialized Hospitals)
  3. โรงพยาบาลและศูนย์ศัลยกรรมความงาม (Cosmetic Surgery Hospitals/Clinics)
  4. ศูนย์รวมบริการสุขภาพ (Health Complex)
  5. โรงพยาบาลและคลีนิคศัลยกรรมแปลงเพศ (SRS: Sex Reassignment Surgery Hospitals/Clinics)
  6. โรงพยาบาลและคลีนิครักษาผู้มีบุตรยาก (Fertility & IVF)
  7. โรงพยาบาลและคลีนิค เลสิก และการรักษาตา (Lasik $ Eyes Hospitals/Clinics)
  8. โรงพยาบาลและคลีนิคทันตกรรม (Dental Hospitals/Clinics)
  9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุ (Elderly Care Hospitals)
  10. โรงพยาบาลเด็ก (Children care)
  11. คลีนิคและศูนย์แพทย์ชะลอวัย (Regenerative & Anti aging Clinics)
  12. ศูนย์บริการผิวหนัง และความงาม (Aesthetic & Dermatology Centers)
  13. ศูนย์/คลีนิคสุขภาพเพศชาย (Men Health Clinics)
  14. รีสอร์ตและศูนย์สำหรับการบำบัดผู้ติดแอลกอออล์ และติดยา (Rehabilitation & Drug Addiction Centers)
  15. ศูนย์เสต็มเซลล์ (Cell Therapy Centers)'
  16. แล็บปฎิบัติการทางการแพทย์ (Labs)
  17. สปาทางการแพทย์ (Medical Spas)
  18. รีสอร์ตสุขภาพ (Health Resorts)
  19. รีสอร์ต และศูนย์สำหรับบริการดูแลผู้สูงอายุ (Senior Care Resorts)
  20. ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและศูนย์กายภาพบำบัด (Sport Medicine & rehabilitation center)
โดย ททท ได้จัดทำ Digital Directory รวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการด้านสุขภาพทั้ง 20 ประเภทจาก 12 พื้นที่ทั้งประเทศ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถ download ได้ที่ https://tourismproduct.tourismthailand.org/detail/469