สธ.เดินหน้าขยายทีม“ผู้ก่อการดี” ป้องกันการจมน้ำ

กระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีมอบโล่รางวัลของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้แก่ทีมผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำ (ระดับประเทศ) ประจำปี 2561  พร้อมเผย 4 ปีที่ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั่วประเทศมีทีมผู้ก่อการดี กว่า 3,400 ทีมแล้ว เด็กได้เรียนว่ายน้ำกว่า 5.7 แสนคน และในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็ก ลดลงกว่าร้อยละ 50



วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2562) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ  นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนา Merit Maker…Drown No More 2018 “สานพลังผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” และเป็นตัวแทนมอบโล่รางวัลระดับประเทศ แก่ทีมที่ได้รับรางวัลผู้ก่อการดีป้องกันการจมน้ำประเภทต่างๆ ประจำปี 2561







นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงมากกว่าทุกสาเหตุทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ  กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายดำเนินมาตรการต่างๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2549  โดยพบว่าแนวโน้มการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง     จนสามารถทำให้การเสียชีวิตลดลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วง 11 ปี (ปี 2549 จมน้ำเฉลี่ย 1,500 คน และปี 2560 จมน้ำ 717 คน)

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้เรื่องนี้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (ปี 2560-2564) โดยตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ลดลงเหลือ 3.0 ต่อประชากรเด็กแสนคน (ประมาณ 360 คน) ในปี 2564 ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของเด็กอยู่ที่ 6.3 (717 คน)  และเพื่อให้การจมน้ำของเด็กลดลงตามเป้าหมายที่กำหนด เครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนจึงต้องดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกพื้นที่ โดยใช้กลยุทธ์หลักคือการสร้างทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558



นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker) เป็นการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมดำเนินการป้องกันการจมน้ำแบบสหสาขา ต่อเนื่อง และครอบคลุมในทุกมาตรการ รวมทั้งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ 

ซึ่งเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ โดยยุทธศาสตร์การสร้างทีมผู้ก่อการดีของประเทศไทย นั้น ทางองค์การอนามัยโลกได้ให้การยอมรับและได้เชิญชวนให้นานาประเทศรวมทั้งสื่อมวลชนจากประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมศึกษาดูงานในการประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

โดย 4 ปีที่ดำเนินการมา (ปี 2558-2561)  เกิดทีมผู้ก่อการดี 3,484 ทีม ครอบคลุม 688 อำเภอใน 76 จังหวัด   ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ มีทั้งการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กดำเนินการเพื่อป้องกันการจมน้ำ สถานบริการสาธารณสุข/ชุมชน/โรงเรียนมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและเด็กในพื้นที่  นอกจากนี้ ยังเกิดวิทยากรสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 26,596 คน มีเด็กอายุ 6-14 ปีได้เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 578,187 คน และคนในชุมชนได้ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) 267,536 คน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้เกิดผลต่อการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด ควรมีการสร้างทีมผู้ก่อการดีเพื่อดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในทุกตำบลหรือทุกหมู่บ้าน

ในการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศประมาณ 500 คน ประกอบด้วย ผู้เข้ารับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ ผู้แทนจากหน่วยงานภาคสาธารณสุข ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และจิตอาสา  โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.เพื่อมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ก่อการดี เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เครือข่าย 2.เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ และ 3.เพื่อขอบคุณเครือข่ายที่ร่วมจัด Field Visit เรื่อง MERIT MAKER ในการประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561   ณ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและผู้สื่อข่าวเข้าร่วมงาน 21 คนจาก 12 ประเทศ

สำหรับพิธีมอบโล่รางวัลแก่ทีมผู้ก่อการดี ระดับประเทศ ประจำปี 2561 จำนวน 58 รางวัล ทั้งประเภทประกวดและคัดเลือก โดยทีมผู้ก่อการดี ระดับทอง 6 รางวัล ได้รับโล่รางวัลของท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และทีมผู้ก่อการดี ประเภทต่างๆ อีก 52 รางวัล ได้รับโล่รางวัลของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร)  นอกจากนั้น ในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ได้มอบรางวัลหนึ่งทศวรรษของการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ (DADPA: A Decade of Action for Drowning Prevention Award) ให้แก่เครือข่ายที่มีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 5 รางวัล สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422