พก. ยื่นหนังสือด่วน ชูกฎหมายคนพิการเข้าถึงสิทธิในสังคม ยก “น้องทราย-ลูเต้อร์” ตัวอย่าง การใช้สุนัขนำทางในไทย

วันนี้ (31 ก.ค. 62) เวลา 14.00 น. ณ อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี กรุงเทพฯ นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเผยถึงประเด็น “การจัดบริการสุนัขนำทางสำหรับคนพิการในประเทศไทย (Guide Dogs)” ว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างสังคมที่ปราศจากอุปสรรค ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ควบคู่กับการดูแล คุ้มครองสิทธิ ฟื้นฟูคนพิการให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังของครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ รวมถึงมีความพยายามในการผลักดันสิทธิต่างๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

นางธนาภรณ์ กล่าวด้วยว่า และด้วย พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้กำหนดสิทธิทางเลือกให้กับคนพิการในการเลือกใช้สิ่งอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสมและความต้องการของคนพิการ ตามมาตรา 20 (8) สิทธิในการมีสัตว์นำทาง เครื่องมือที่ใช้ในการนำทาง หรือสิ่งอื่นใดติดตัวไปกับยานพาหนะหรือสถานที่ใด เพื่อประโยชน์ในการเดินทางและการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ โดยได้รับการยกเว้นค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับสัตว์ เครื่องอุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยความสะดวกดังกล่าว 

ทั้งนี้ ในกรณี นางสาวคีริน เตชะวงศ์ธรรม หรือน้องทราย อายุ 22 ปี พิการทางการเห็น ผู้ใช้สุนัขนำทาง สายพันธุ์ลาบราดอร์ (ลูเต้อร์) มา 2 ปี ซึ่งเป็นสุนัขนำทางสำหรับคนพิการทางการเห็น ที่ถูกฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจากองค์กร Guiding Eyes for the Blind ในรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา นับเป็นกรณีศึกษาและตัวอย่างของการใช้บริการสุนัขนำทาง และเป็นผู้ใช้บริการสุนัขนำทางรายเดียวในประเทศไทย โดย พก. ได้มีการขับเคลื่อนการให้บริการสุนัขนำทางในประเทศไทย โดยได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กร Royal Society for the Blind (RSB) เครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อให้บริการสุนัขนำทางในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิสวัสดิการทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับคนพิการทางการเห็นในการเลือกสำหรับการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด พก. ได้ดำเนินการส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม จึงได้ออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการขออนุญาตให้นำสุนัขนำทางสำหรับคนพิการทางการเห็น สามารถเข้าใช้บริการในสถานที่ องค์กร ระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเดินทางสำหรับคนพิการ 

รวมทั้งในขณะนี้ อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับองค์กร RSB และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาเนื้อหา รายละเอียด ระเบียบ ข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย โดย พก. ยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิคนพิการอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนพิการ

“ตนอยากให้กรณีของน้องทราย เป็นตัวอย่างของคนพิการที่ช่วยปลุกกระแสสังคมไทย ให้เกิดความตระหนักถึงสิทธิของคนพิการ และสิ่งสำคัญจะเป็นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และให้โอกาสเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายของคนพิการในการใช้บริการในพื้นที่สาธารณะได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นางธนาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย