บนความต่างของกาลเวลา สุขใจ … ณ สวนสามพราน

เรื่องราวของสวนสามพราน สถานที่ที่เราคุ้นชินมาตั้งแต่สมัยเด็ก..ตลอดห้าสิบกว่าปีของการบริหารจัดการในรุ่นต่อรุ่น หลายสิ่งปรับ... หลายสิ่งเปลี่ยน ... หลายสิ่งเสริมแต่ง... แต่นั่น...ยิ่งทำให้การเข้ามาเยือนสถานที่แห่งนี้ ในความต่างของกาลเวลายังคงมีอิ่มเอมเสมอ

  

ตามประวัติ บอกไว้ว่า สวนสามพรานเกิดจากดร.ชำนาญและคุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ ที่นั่งเรือเพื่อมองหาสถานที่สร้างบ้านพักตากอากาศของครอบครัว จนมาเจอต้นพิกุลเก่าแก่อายุร่วมร้อยปีที่กำลังจะล้มเพราะตลิ่งพัง จึงตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้ โดยระยะแรกปลูกกุหลาบเพื่อเป็นงานอดิเรก จนกลายมาเป็นธุรกิจในปี 2505 ความงามของกุหลาบสวนสามพรานเลื่องลือไปจนทำให้ได้รับการขนานนามในอดีตจากชาวต่างชาติว่า เป็น Rose Garden หรือชื่อไทย “สวนสามพราน”



สวนสามพราน ทำให้พื้นที่กว่า 130 ไร่ริมแม่น้ำท่าจีน ยังคงงดงามเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ไม่เคยจางหายไปจากสถานที่แห่งนี้ ความเขียวของแมกไม้ หลายต้นที่เข้าไปพบ แผ่กิ่งก้านแสดงความยาวนานของพืชพันธ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ที่นี่จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองไทยด้วยศิลปวัฒนธรรมที่รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ยังคงเป็นตำนานที่เกิดจากการบ่มเพาะด้วยความรักที่มองเห็นได้ในทุกอณู



ปัจจุบัน "สวนสามพราน" ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัย ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการสะสมประสบการณ์ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และริเริ่มการขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืน ภายใต้ สามพรานโมเดลกับแนวคิดธุรกิจเกื้อกูลสังคม โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์และทุกภาคส่วนบนฐานของการค้าที่เป็นธรรม ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้บนฐานความเป็นไทยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้ชีวิตที่สมดุลจากภายใน

ภายใน "สวนสามพราน" แบ่งพื้นที่ เพื่อ เปิดตลาดสุขใจ รองรับผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรโดยตรงแต่มุ่งเน้นด้านตลาดอินทรีย์ รองรับเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบคุณภาพสู่แบรนด์ปฐมซึ่งผลิตสินค้าจากออแกนิกส์หลากหลายชนิดออกสู่ตลาด เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ปฐมออร์แกนิกวิลเลจ ฟาร์มปฐม เหล่านี้ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกันครบวงจร

ตลาดสุขใจ 

“ตลาดนัดสุขใจ” เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่อยู่ในโครงการมาออกร้านขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ฟรีๆ ในทุกวันเสาร์ และอาทิตย์ โดยที่ผ่านมาผลตอบรับจากผู้บริโภคสูงขึ้นในทุกปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่มาออกร้าน นอกจากนั้น ในรายที่พัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์แปรรูปได้มาตรฐานสูง สามารถนำสินค้าไปวางขายในโรงแรมได้ฟรีอีกเช่นกัน

... ภายในตลาดสุขใจ ประกอบด้วยร้านรวงที่เกษตรกรนำผลผลิตปลอดสารพิษของตนเองเข้ามาจำหน่าย ทั้งในรูปแบบเดิมๆและแบบแปรรูปแล้ว ภายใต้การแนะนำ อบรมจากทางสวนสามพราน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้ามาพบปะกับผู้ซื้อได้อย่างโดยตรง



วันนี้เราจึงเห็น พ่อค้า แม่ขาย จากหลายจังหวัด รวมทั้งแม่ค้าผักที่เป็นเจ้าของสวนขนาดใหญ่ในจังหวัดนครปฐม เข้ามาเปิดร้านขายด้วยตัวเอง นู่น... แม่ค้าผักเกษตรกรเสียงเหน่อกำลังชี้ชวนให้เราได้รู้จักกับผักชื่อแปลกที่คนเมืองแทบไม่เคยได้ลิ้มรส อย่าว่าแต่รับประทานเลยแต่ชื่อยังไม่รู้จัก 











ถัดไป... ชาวสวนส้มเร่งแกะเปลือกผลส่งต่อให้คุณป้าสูงวัยได้ชิม ... อีกฟากของตลาด เราเห็นคุณแม่นั่งป้อนไอศครีมจากสวนมะพร้าวออแกรนิกส์อย่างสบายใจ... ผู้มาเยือนตลาด มีหลากหลายวัย ทั้งมากันเป็นกลุ่มเพื่อนฝูง ทั้งครอบครัวที่จูงมาหลายเจเนอเรชั่น ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งสวนสามพรานมายันรุ่นลูกวัยทำงานก็จูงบุตรหลานของตนเองมาตื่นเต้นกับของเล่นเดิมๆ ในอดีต 











เราแอบเห็นใบหน้าเปื้อนยิ้มของผู้ซื้อและผู้ขาย ความเอื้ออาทร ความมีอัธยาศัยไมตรีต่อกันและกัน  นี่กระมังคือ...ความสุข ผลพวงจากความตั้งใจของตลาดสุขใจ ที่อยากให้เป็น 







 

ปฐม คาเฟ่ 

ก่อนจะเริ่มไปสำรวจเส้นทาง "ปฐมออร์แกนิก วิลเลจ" ที่ผ่านไปไม่ได้เลย คือ ร้านกาแฟ จุดเชื่อมต่อระหว่างตลาดสุขใจกับการเริ่มเดินทางเข้าสู่ปฐมออร์แกนิก วิลเลจ

จากสถาปัตยกรรมในรูปแบบไทยโมเดิร์น แต่ความต้องการจะเชื่อมโยงธรรมชาติให้เป็นเนื้อเดียวกันกับตัวอาคาร สถาปนิกเลือกที่จะใช้กระจกฉาบปรอท เพื่อการสะท้อนความงามของธรรมชาติให้ผสมกลมกลืน ไม่รู้สึกแปลกแยก  ให้รู้สึกกลืนไปกับธรรมชาติ



ซึ่งก็ได้ผล จุดนี้จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่นอกเหนือจะเข้ามานั่งพักดื่มเครื่องดื่ม จากผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรสามพรานโมเดลที่นำมาแปรรูปแล้ว ยังเป็นจุดเช็คอินที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวยุคสมัยสมาร์ทโฟนอีกจุดหนึ่งด้วย





ผลิตภัณฑ์ในร้านกาแฟแห่งนี้ เป็นวัตถุดิบของเกษตรกรสามพรานโมเดล นำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์

 “ตรงนี้เป็นเหมือนหมู่บ้านแห่งการแปรรูป โดยโรงงานเปิดที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้”







คุณเจี๊ยบ - ธัญญาลักษณ์ กิจบำรุง ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด ที่ร่วมสนทนาในร้านกาแฟปฐมด้วยกัน เล่าว่า พื้นที่ตรงนี้แต่เดิมเรียกว่าหมู่บ้านไทย ซึ่งเป็นศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมไทยของสวนสามพราน เปิดมา 57 ปีซึ่งเพิ่งปิดไปเมื่อปีที่แล้วเพื่อรีโนเวทใหม่ทั้งหมด เนื่องจากการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวไม่ได้ต้องการมานั่งดู การแสดงอย่างเดียว แต่ต้องการประสบการณ์การลงมือทำและสอดคล้องกับการที่สวนสามพรานทำการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทำมา 8 ปีแล้ว จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ใกล้ตัวเราสามารถเล่าเรื่องได้ จึงนำวัตถุดิบของอาหารที่กินในชีวิตประจำวันมาเป็นเส้นทางในการเรียนรู้



พื้นที่คาเฟ่ที่นั่งอยู่นี้สมัยก่อนเป็นโรงละคร อัฒจันทร์สูงจุคนได้ 1000 ที่นั่ง มีเวทีการแสดง จึงยังเก็บพื้นที่เอาไว้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทย แต่ทุกวันนี้เราก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาพูดถึงการใช้ชีวิต การกิน การอยู่มากกว่า การรักษาตัวเองด้วยสมุนไพรไทย บ้านชาวนาด้านหลังแต่ก่อนเลี้ยงควาย ตอนนี้ก็กลายเป็นครัวไทยโบราณ







โดยเชื่อมโยงกับตลาดสุขใจ แต่ก่อนจะมีผนังกั้น ณ ตอนนี้เปิดพื้นที่ใหม่ สามารถรองรับคนที่เข้ามาเที่ยวตลาดสุขใจและเข้าเดินมาคาเฟ่ มีกิจกรรมให้ทำด้วย”

 

ปฐมออร์แกนิกวิลเลจ (Patom Villege)

หลังจากจิบกาแฟกับขนมไทย ( ไม่ได้อ่านผิดคะ) ที่นี่เสริฟขนมไทย พร้อมกาแฟ ที่สำคัญภาชนะที่ใส่ขนมไทยยังคงใช้ใบตองและที่สำคัญ ไม่ใช้แม๊กในการกลัดใบตองเพื่อทำภาชนะ

“ท่านผู้บริหารรุ่นแรกขอเอาไว้ว่า อย่างไรก็ตามขอ ขอให้ใช้ไม้กลัดใบตอง อย่าใช้แม๊กเหมือนที่อื่น”  คุณลำภู ราชคมน์ ผู้จัดการปฐมออร์แกนิก วิลเลจ เล่าให้ฟัง





ก่อนจะเริ่มเล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นของหมู่บ้านปฐม หรือ Patom Villege แห่งนี้ว่า จุดเริ่มต้นมาจากแบรนด์ปฐม ซึ่งด้านหลังมีโรงงานในการผลิต ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ หลังจากนั้นจึงขยายมาเรื่อย ๆ เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบที่เหมือนกับเป็นต้นน้ำ ส่วนหมู่บ้านปฐมเป็นเหมือนแหล่งแปรรูป คือถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวตรงนี้ก็จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าออกจำหน่าย

กิจกรรมเส้นทางใน หมู่บ้านปฐม

บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านปฐม จะมีจุดจำหน่ายบัตรโดยมีเจ้าหน้าที่หมู่บ้านนำพาและอธิบายส่วนต่างๆ ให้ฟัง จากหน้าหมู่บ้านก็สามารถมองเห็นได้  เราเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งวงล้อมเรียนรู้การปั้นวัวปั้นควายดิน เราเห็นมุมสอนสานปลาตะเพียน สอนร้อยมาลัย





และหากสนใจเข้าร่วมกิจกรรมตามเส้นทางต่างๆ ก็จะมีให้เลือก 3 เส้นทาง โดยใช้วิถีการกิน การอยู่ของคนไทยเป็นการกำหนดเส้นทาง เรียกว่า เส้นทางตามวัตถุดิบก็ว่าได้ ขึ้นอยู่กับว่า ช่วงนั้นมีวัตถุดิบอะไร







3 เส้นทางคือ เส้นทางกล้วย เส้นทางข้าวและเส้นทางสมุนไพร ผู้ใหญ่ราคาเส้นทางละ 400 บาท เด็ก 300 บาท ตัวโซนกิจกรรมในหมู่บ้านมี 4 โซน เข้ามาด้านซ้ายมือคือ โซนเกษตรอินทรีย์ การปลูก การเตรียมดิน การเพาะเมล็ดพันธ์ ต้นกล้าต่าง ๆ การทำนาปลูกข้าวเป็นแปลงนาสาธิต

โซนที่สอง บ้านสมุนไพร สอนเรื่องการแปรรูปวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพร แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่นน้ำมันนวด สครับ สบู่ ยาสีฟัน ต่าง ๆ

โซนที่สามเป็นโซนหัตถกรรม สอนเรื่องการจักสาน ปั้นดิน ร้อยมาลัย ย้อมผ้า

โซนที่สี่ บ้านครัวไทย สอนขนมไทย เช่นขนมครกข้าวกล้อง ชาสมุนไพร

เส้นทางกล้วย



เส้นทางกล้วย โซนแรกจะเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรย์เบื้องต้น เน้นเรื่องน้ำหมัก ฮอร์โมนหน่อกล้วย เสร็จแล้วจะได้รับวัตถุดิบมา เช่นใบตอง ก้านกล้วย

หลังจากนั้นก็ไปทำในส่วนที่สอง กล้วยดิบทำเป็นแป้งกล้วย ใช้กล้วยดิบลูกค้าสามารถหั่นกล้วยออกมาแล้วนำไปตากแห้ง และเจ้าหน้าที่จะสอนให้

ตัวแป้งกล้วยจะมีประโยชน์คือทำขนมกล้วยหรือนำไปชงกับเครื่องดื่มรับประทานได้

โซนที่สาม เลือกตั้งแต่โซนแรกแล้วว่า เราอยากได้อะไร เช่นถ้าใบตอง ก็จะสอนกระทงใบตอง หรือถ้าเป็นก้านกล้วยก็จะทำเป็นภาพพิมพ์จากธรรมชาติ


เส้นทางข้าว

ขึ้นบันไดสู่เรือนไม้ ของเส้นทางข้าว เราเห็นเจ้าหน้าที่หนุ่มใหญ่นั่งแคะขนมครก พร้อมเชื้อชวนให้ลองทำ ก่อนจะมาถึงการแคะขนมครก




หลังจากนั้นเราเดินลัดเลาะตามคันนาของจริง เข้าสู่จุดที่หนึ่งซึ่งเป็นโซนแรกที่เปิดประสบการณ์การเรียนรู้เรื่องของการดำนา ระยะเวลาเท่าไหร่ อย่างไร



“เชิญเลยครับ ท่านใดสนใจลองดำนาบ้าง” เจ้าหน้าที่ในยูนิฟอร์มคลาสสิค ถือต้นกล้ารอรับนักท่องเที่ยว

.... แน่นอน เด็กน้อยตื่นเต้นจนคุณแม่แทบจะถอดเสื้อผ้าให้ไม่ทัน แต่ไม่นาน “เกษตรกรผ้าอ้อมขาว” ของเราก็ลงไปหนุกหนาน แม้จะยังไม่รู้เรื่องกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่อธิบายเท่าใดนัก แต่ถือเป็นประสบการณ์ในการเหยียบดิน เหยียบน้ำ ดำนา เรียกว่าสร้างรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปผ่านมาไปด้วย









ถัดจากการดำนา จะมีอาคารไม้ใต้ถุนสูง แสดงการสีข้าว ฝัดข้าว ซึ่งหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเรียบร้อย ก็จะเข้าสู่กระบวนการนี้ บรรดาแม่ๆ สอนให้ฝัดข้าว ทั้งแบบฝัดเรียบร้อยแล้วและเป็นแกลบ



ในส่วนของแกลบ ก็ไม่ได้ทิ้งมีการแปรรูป ซึ่งผู้ร่วมทางสามารถเลือกได้ว่าจะนำไปเป็นสครับข้าวหรือสบู่ข้าวก็ได้





และ จุดที่สาม หัตถกรรม เป็นการปั้นดินจากท้องนา สุดท้ายคือการไปเรียนรู้เรื่องการทำข้าวกล้อง









เส้นทางสมุนไพร 

ถัดมาเป็นเส้นทางที่ไม่ใช่แค่หนุ่มๆ ที่สนใจงานด้านเกษตรอินทรีย์เบื้องต้น แต่สาวๆ หลายคนสนใจ เส้นทางสมุนไพร นี้เหมือกัน โดยเฉพาะสมุนไพรประทินผิว







“...เส้นทางการเรียนรู้เส้นทางสมุนไพร สอนให้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เบื้องต้น ทำน้ำหมักเป็นสมุนไพรไล่แมลง จะได้รับวัตถุดิบมาเป็นสมุนไพร ส่วนมากเป็นตัวตะไคร้







โซนที่สองทำลูกประคบสมุนไพรโดยมีสมุนไพรตัวอื่นเข้าไปด้วย สอนตั้งแต่ผสมสมุนไพร การห่อลูกประคบ หลังทำเสร็จนักท่องเที่ยวสามารถนำลูกประคบกลับไปใช้ได้เลย

โซนที่สาม ไปย้อมผ้าจากสีธรรมชาติจากสมุนไพร มีมะฮอคกานี ขมิ้น เปลือกมะพร้าวสด เป็นเปลือกที่นำมาจากห้องอาหารหรือคาเฟ๋ที่เมื่อทานเสร็จแล้วเหลือเปลือกมะพร้าว ก็จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อ เลือกย้อมเป็นผ้าเช็ดหน้าหรือกระเป๋าผ้าก็สามารถนำกลับไปได้

ส่วนตัวสุดท้ายคือเรื่องของการทำชาสมุนไพร ให้ทดลองตั้งแต่หั่น ต้ม เช่นเดียวกันหากเข้ามาเรียนรู้ในเส้นทางนี้ก็จะสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้เลยเช่นกัน ไม่ยาก หรืออาจจะไปต่อยอดเพื่อทำธุรกิจก็ได้ “ เจ้าหน้าที่กล่าว













กิจกรรมทั้งสามเส้นทาง  

คุณลำภู กล่าวต่อว่า “ระยะเวลาแพคเกจในแต่ละเส้นทาง ไม่เกิน 2 ชั่วโมง กิจกรรมนี้เปิดตั้งแต่ 9 .00 – 16.00 น. ทุกวัน สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวคนเดียวหรือเป็นกรุ๊ปก็ได้ หรือหากมาแล้วยังไม่อยากร่วมกิจกรรมแต่สามารถเดินเข้ามาเยี่ยมชมก่อนก็ได้ ซื้อบัตร 100 บาทก็สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทั้งหมด มีฟรีกิจกรรมคือสอนสานใบลานทำปลาตะเพียน หรือหากเข้ามาแล้วอยากร่วมกิจกรรมก็สามารถซื้อเพิ่มได้”

กิจกรรม 3 เส้นทางดังกล่าว เริ่มเปิดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังอยู่ในช่วง Soft Opening  พบว่า เส้นทางที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวคือ เส้นทางข้าวและเส้นทางสมุนไพร แต่สำหรับเด็กจะชื่นชอบเส้นทางกล้วย

“กลุ่มครอบครัวจะชื่นชอบเส้นทางข้าว เนื่องจากเด็ก ๆ ได้ทำนา วันธรรมดาจะมีนักเรียนเข้ามาทำกิจกรรมวันละ 200-300 คน ซึ่งสามารถรองรับลูกค้าได้หลายร้อยคน”

 



การสร้างสมดุลในชีวิต 

คุณเจี๊ยบ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด ลูกหม้อสวนสามพรานมานานนับสิบๆปี เห็นความเปลี่ยนแปลงในหลากมิติ หลากมุมมอง เธออธิบายว่า “ ....ธีมส์นักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมในการทำ 8 ปีที่ผ่านมาจากการขับเคลื่อนเรื่องสามพรานโมเดล ทำให้รับรู้ว่า ของใกล้ตัวคือวัตถุดิบด้านอาหาร แต่ไม่รู้ว่าวัตถุดิบนั้นมาจากไหนและอย่างไร  จึงนำมาปรับเป็นเส้นทางเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่เกษตรกรจากจังหวัดอื่นๆ ที่สนใจ เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาดูงานได้จากวัตถุดิบเส้นทางต่างๆ ที่ได้ลงมือทำ”





ณ วันนี้ จะเห็นว่าความสมดุลในชีวิต การดูแลร่างกายเริ่มจากตัวเรา เริ่มจากข้างในการกิน การใช้ชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

ทางเจ้าของแบรนด์ ก็อยากให้ลูกค้าได้เกิดประสบการณ์ เพื่อพบกับเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเองเพื่อนำไปต่อยอดได้ บางคนก็มาเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ นอกเหนือจากการมาเรียนรู้เพื่อปรับวิถีชีวิต การใช้ชีวิต เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

บางครั้งเราได้ความรู้จากลูกค้าเช่น มะพร้าวที่นำมาย้อม ไม่เคยรู้เลยว่าสามารถนำเอามะพราวสดมาย้อมผ้าได้ อาจารย์มาเที่ยวก็บอกว่า ที่บ้านนำเปลือกมะพร้าวสดย้อมผ้าได้ ก็ได้สีชมพูสวยมากจากเปลือกมะพร้าว ไม่ใช่เราไปสอนเขา แต่เหมือนกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”

สมัยก่อน มีการเพ้นท์ร่มโดยการใช้สีเคมี ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องลงไปในน้ำ แต่ปัจจุบันมีอาจารย์มาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สีจากธรรมชาติ โดยใช้ต้นไม้ใบไม้ที่มีอยู่รอบๆตัว เราปรับมาเป็นฐานก้านกล้วย ซึ่งสีแต่ละสีสามารถนำมาจากธรรมชาติได้ทั้งสิ้น

เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาได้รับกลับไปคือการเรียนรู้ ทั้งด้านอาชีพหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต”

ปฐม ออร์แกนิกฟาร์ม 

อีกหนึ่งกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือไปดูต้นน้ำ นั่นคือ "ปฐม ออร์แกนิกฟาร์ม" ไม่ใกล้ไม่ไกล หลังทานอาหารเช้าแสนอร่อยของสวนสามพราน วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่จะได้ร่วมกิจกรรมกับทางสวนสามพราน ไปชมแหล่งวัตถุดิบ แหล่งต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงในหลายๆส่วนของสวนสามพราน

“เดี๋ยวเราจะนั่งเรือข้ามฟากไปฝั่งตรงข้ามโรงแรม” เจ้าหน้าที่บอกกับเรา





ไม่นานนัก เรือก็ถูกพายมายังอีกฟากฝั่งของโรงแรม จะเห็นป้าย Patom ต้อนรับพร้อมกับรอยยิ้มของ คุณพศิน ทองบ่อ  หัวหน้าปฐมออร์แกนิกฟาร์มที่มารอต้อนรับตั้งแต่ท่าเรือ





สิ่งแรกคือการฟังบรรยายถึงที่มาของปฐม ออร์แกนิกฟาร์ม ก่อนจะเริ่มเดินศึกษาพืชพรรณนานา ที่นี่นอกจากจะมีพืชสวนครัว ไม้ยืนต้น ไม้ดอก บึงบัว ผลไม้ตามฤดูกาล



ที่น่ารักสุด ๆ สำหรับเราคือ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเป้ผ้าขนาดเล็กสำหรับสะพาย มีขันน้ำอยู่ภายใน ด้วยเพราะสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนของบ้านเรา แทนที่จะเสริฟกันด้วยน้ำขวดพลาสติก ก็เปลี่ยนมาเป็นขันน้ำส่วนตัวใช้เมื่อยามหิวระหว่างทางมีแท้งค์น้ำเย็นเอาไว้บริการ 













สะพานไม้ทอดยาวสู่ ปฐม ออร์แกนิกฟาร์ม เจ้าหน้าที่เดินบรรยายให้กับลูกทัวร์ขนาดย่อม ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เป็นร่มเงาบังใบ คลายร้อน มีโซนให้ความรู้ด้านการผลิตปุ๋ยหมัก แถมด้วยการปลูกต้นกล้าด้วยฝีมือตัวเองในเปลือกไข่ ช่วงเดินกลับยังมีกิมมิคให้คลายเหนื่อยล้าด้วยการสปาเท้าจากสมุนไพร ที่มีมากมายหลายชนิดจัดไว้ในตะกร้าตั้งเรียงรายให้เลือกผสมกันด้วยตัวเอง น้ำอุ่นๆ นั่งแช่เท้าให้ผ่อนคลาย ได้บรรยากาศจริงจริ๊ง

































.....เรียกว่า ประสบการณ์แบบนี้ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่า ทำไม... “สวนสามพราน” วันนี้ จึงมีดีที่ไม่ใช่แค่ธรรมชาติ....กับแบรนด์เก่าแก่กว่า 57 ปี

__________________________________



สวนสามพราน

กม. 32 ถนนเพชรเกษม, อ.สามพราน จ.นครปฐม, 73110

หมายเลขโทรศัพท์: +66 34 322 588-93

หมายเลขโทรสาร: +66 34 322 775

อีเมลล์ : hotel@suansampran.com

เวปไซต์ : www.suansampran.com

เฟซบุ๊ค : www.facebook.com/SuanSampran.Thailand

Instagram : suansampran