พม. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 27

วันนี้ (31 ต.ค. 62) เวลา 09.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal Point) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC) ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย ปี 2562 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 27 (27th Meeting of the Senior Officials Committee for the ASEAN Socio-Cultural Community: SOCA) 

โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ในฐานะประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Chair of SOCA) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ฯพณฯ กุง ฝก (H.E. Mr. Kung Phoak) รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) คณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน รวมจำนวนกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุม ณ ห้อง Royal Orchid Ballroom 1 โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ








นายปรเมธี กล่าวว่า ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2562 ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ทั้งนี้ สำหรับแผนงานหลักการดำเนินงานของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal Point) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 15 สาขาความร่วมมือ ขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้แนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยดังกล่าว ภายใต้กรอบการดำเนินงาน “3/4/14” ดังต่อไปนี้ 

3 แนวทางหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยงภาคประชาชน (People-to-People Connectivity) และหุ้นส่วนความร่วมมือ (Partnerships) ความยั่งยืน (Sustainability) การเตรียมความพร้อมและวางแผนด้านความมั่นคงของมนุษย์สำหรับอนาคต (Future-Oriented Actions for Human Security) โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การจัดการกับปัญหาขยะทะเลและการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ข้อริเริ่ม “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562” ภายใต้แนวคิด “หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสาน
จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียน เป็นต้น


4 ศูนย์อาเซียน ด้วยการจัดตั้งหรือปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ 1) คลังสิ่งของช่วยเหลือและระบบโลจิสติกส์เพื่อช่วยเหลือ เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน ตั้งอยู่ ณ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 2) ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดตัวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยในปีนี้
จะมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่จัดแสดงและนิทรรศการรวมถึงการนำวัฒนธรรมอาเซียนไปสัญจรและเผยแพร่ยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก


3) ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ตั้งอยู่ ณ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีการเปิดตัว
อย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่35 และ 4) ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม ตั้งอยู่ ณ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีสำนักงานประสานงานอยู่ที่ชั้น 2 ของกระทรวง พม. ซึ่งจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และ14 เอกสารผลลัพธ์สำคัญ โดยจำแนกเป็นเอกสารผลลัพธ์สำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34ที่ผ่านมาแล้ว จำนวน 5 ฉบับ และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 อีก 9 ฉบับ



นายปรเมธี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ครั้งที่ 27 มีวัตถุประสงค์สำคัญในการพิจารณาและให้การเห็นชอบต่อแผนงานและเอกสารผลลัพธ์สำคัญภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอต่อการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 22 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ ก่อนหน้าที่จะมีการนำเสนอต่อการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ต่อไปตามลำดับ 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์สำคัญ จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย 1) เอกสารเพื่อการรับรอง
(For Adoption) จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1.1) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เป็นเจ้าของเรื่อง) 1.2) ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน (กระทรวง พม.
เป็นเจ้าของเรื่อง) 1.3) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน (กระทรวง พม. เป็นเจ้าของเรื่อง)
1.4) ปฏิญญาฯ กรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าของเรื่อง) 

1.5) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยืนยันคำมั่นในความก้าวหน้าการดำเนินงานสิทธิเด็กในอาเซียน (กระทรวง พม. เป็นเจ้าของเรื่อง) และ 1.6) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน (กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าของเรื่อง) และ 2) เอกสารเพื่อทราบ (For Notation) จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 2.1) แนวทางและกระบวนการในการตอบสนองต่อความต้องการของเหยื่อการค้ามนุษย์ตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (กระทรวง พม. เป็นเจ้าของเรื่อง) 2.2) แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น (กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าของเรื่อง) และ 2.3) ถ้อยแถลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเร่งยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล (สำนักงาน ก.พ. เป็นเจ้าของเรื่อง) 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเตรียมความพร้อมของประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งต่อไป การเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงของคณะจากประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2563 ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของเวียดนาม และการจัดส่งเจ้าหน้าที่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนไปประจำการ ณ คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน


ซึ่งอาเซียนเห็นชอบร่วมกันให้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนไปประจำการ ณ คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียน ภายในเดือนมิถุนายน 2563 


“การเป็นประธานอาเซียนและการจัดประชุมอาเซียนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดปี 2562 ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยและประชาชนคนไทยในหลายด้านด้วยกัน สำหรับในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ ด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านราชการพลเรือน ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา อันเป็นผลจากการนำเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 

ซึ่งผู้นำอาเซียนให้การรับรองและรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ สังคมไทยและประชาชนคนไทย จะได้รับประโยชน์โดยตรงต่อรายได้และการส่งเสริมการท่องเที่ยว จากการที่ผู้นำประเทศ คณะผู้แทน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งสื่อสารมวลชน ที่เดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ยังช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนจากการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่หลากหลายอีกด้วย” นายปรเมธีกล่าวในตอนท้าย