กระทรวงการท่องเที่ยวฯ-อพท. ผนึก 24 หน่วยงาน หนุนแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

24 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา พร้อมสนับสนุน “แผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ.2563 – 2565” มั่นใจตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลพัฒนาชุมชนฐานรากของประเทศ ช่วยสร้างโอกาสการมีงานทำ สร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม



          กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หน่วยงานหลักในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย นำโดย นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. ได้จัดกิจกรรม การส่งมอบแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563 – 2565  ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อส่งมอบแผนปฏิบัติการฯ ให้กับผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนนำไปบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “การท่องเที่ยวโดยชุมชนของไทยพัฒนาสู่สากลอย่างมีเอกภาพ ยกระดับมาตรฐานบนฐานการรักษาและจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างสร้างสรรค์สู่ชุมชนแห่งความสุขและยั่งยืน”



          นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นผลมาจากการดำเนินการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2559 - 2563 (CBT Thailand) ซึ่งเป็นแผนที่เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้จากผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ

“แผน CBT Thailand  เกิดจาก อพท. ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบร่วมกับคณะกรรมการรับรองแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีการบริหารจัดการโดยคนในชุมชน และผลลัพท์ที่ได้ตามมาคือการท่องเที่ยวโดยชุมชนสามารถทำให้เกิดการสร้างรายได้และกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง”

จากความสำเร็จครั้งนั้น รัฐบาลได้เห็นความสำคัญและมอบนโยบายในการขยายผลการพัฒนาและการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ขยายผลมุ่งเป้าหมายสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า หลักการการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563 - 2565 แผนนี้ จัดทำขึ้นภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยการสัมภาษณ์และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมถึงเวทีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว จากผลการประชุมคณะ ที่ประชุมได้ปรับเปลี่ยนชื่อแผนเป็น “แผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน” เป็นแผนระดับ 3

โดยเพิ่มเติมความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนทุกระดับ เพื่อผลสัมฤทธิ์ตอบเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกันของ 24 หน่วยงานภายใต้คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและองค์กรชุมชน จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นผู้ดำเนินการทบทวนแผนฯ

          สำหรับแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563 - 2565  มีแนวคิดหลักในการพัฒนาตามองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่

แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยมีมาตรฐาน และมีคุณภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ รวมทั้งเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งในและต่างประเทศ

ยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการเพิ่มคุณค่า และมูลค่า

เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในทุกระดับ

ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่ชุมชนแห่งความสุขอย่างยั่งยืน



นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานในพิธี กล่าวว่า  “แผนปฏิบัติการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยังยืน ปี พ.ศ.2563 - 2565 เป็นเป้าหมายที่หน่วยงานในคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันกำหนดและวางกรอบการทำงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการภาคีทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยตรง ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล พัฒนาชุมชนฐานรากของประเทศให้มีศักยภาพในการจัดการและดูแลทรัพยากรท้องถิ่นของชุมชนบนฐานการพึ่งพาตนเอง ความพอเพียงและยั่งยืน นำไปสู่เป้าหมายการอนุรักษ์อัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ สร้างโอกาสการมีงานทำ สร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในที่สุด