อว. ชูนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าข้าวไทยในตลาดโลก ยกระดับสู่สินค้าระดับพรีเมียม

อว. ชูนวัตกรรมข้าวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทยในตลาดโลก ล่าสุดเดินหน้าพัฒนาข้าวไทย เพิ่มราคาข้าวไทยสูงถึง 6 เท่า ชูจุดเด่นเพิ่มสารอาหารเพื่อสุขภาพ ซีลีเนียม (Selenium) ในข้าว ช่วยพัฒนาสมองของเด็ก เสริมสร้างวิตามิน E และสารต้านอนุมูลอิสระ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบไทยเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมต่อยอดข้าวไทยสู่สินค้าระดับพรีเมียม


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการส่งออกข้าวตกต่ำ สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรไทยกว่า 4.5 ล้านครัวเรือนที่ประกอบอาชีพปลูกข้าว โดยในปี 2562 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) รายงานการส่งออกข้าวในปี 2562 ทำได้ราว 8 ล้านตัน จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 10 ล้านตัน เพราะความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง อีกทั้งตลาดข้าวไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนามที่มีต้นทุนต่ำกว่าอีกด้วย




ด้วยเหตุนี้ อว. จึงมีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวไทยด้วยการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้กับข้าวไทย ผลักดันให้เกิดการขายข้าวในเชิงสร้างสรรค์ โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและขยายโอกาสในการส่งออกข้าวไทยและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทยในตลาดโลกไปยังตลาดโลก พร้อมเปิดตลาดใหม่และขยายโอกาสการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก สร้างความแตกต่างจากสินค้าประเทศคู่แข่ง


ล่าสุด อว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย (วว.) จัดทำโครงการร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยการพัฒนาข้าวไทยด้วยการเพิ่มธาตุซีลีเนียม (Selenium) ลงในข้าวผ่านการใช้ปุ๋ย เพื่อเพิ่มคุณค่าของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่มีผลต่อการพัฒนาการสมองของเด็ก ช่วยเสริมสร้างวิตามิน E ในผิวหนัง มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มปริมาณสเปิร์ม และช่วยเพิ่มอัตราการเมตาบอลิซึมของร่างกาย โดยสามารถเปิดตลาดส่งออกไปสู่ประเทศจีน ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้จากราคาข้าวปกติสูงถึง 6 เท่า โดยปัจจุบันมีการปลูกในแปลงทดลองที่จังหวัดชัยภูมิ ได้ผลผลิตข้าวเสริมซีลีเนียมออกมาแล้ว และขยายออกมาสู่การปลูกในไร่นาเกษตรกร ที่จังหวัดนครนายก 28 ไร่ ซึ่งได้ข้าวเปลือกราว 10 ตัน 




นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดในแปลงทดลองโครงการข้าวซีลีเนียม นำนวัตกรรมด้านชีวภัณฑ์มาตอบโจทย์ BCG Economy Model รอบด้าน ตั้งแต่การใช้ปุ๋ยละลายช้า เพื่อจะยืดอายุการทำงานให้ยาวขึ้น ลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร มีการใช้ชีวภัณฑ์ช่วยป้องกันโรคครบวงจร มีจุลินทรีย์ช่วยในเติบโตช่วงแรกของข้าว ให้โตเร็วขึ้น ดูดซับอาหารได้เร็วขึ้น และมีการใช้จุลินทรีย์เพื่อเร่งการย่อยสลายของตอซังก่อนการเตรียมดิน แทนการเผาที่จะสร้างมลพิษให้กับอากาศ และหลังจากการเตรียมดิน ก็จะมีสารที่ใช้ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกไว้ ช่วยให้การทำนาของเมืองไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ 




พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบสารสนเทศการผลิตข้าวแม่นยำ : กรณีจังหวัดอำนาจเจริญ” โดยสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะเป็นการโครงการออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ สนับสนุนการผลิตข้าวแม่นยำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการปลูกข้าว สามารถลดความเสี่ยงในการขาดทุน โดยใช้ระบบฯ พยากรณ์ผลผลิตข้าวนาปีล่วงหน้า Decision Support System for Seasonal Rice Yield Forecast (DSS-SRY4cast) 


นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการต่อยอดแปรรูปข้าวไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งยังทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรจากการปลูกข้าวอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและใส่ใจในสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนี้


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SME เกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการแปรรูปข้าว เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ครอบคลุมทั้งกลุ่ม อาหาร, อาหารเสริม, เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง รวม 19 ผลิตภัณฑ์ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตข้าว อาทิ คุกกี้ข้าวสอดไส้ครีมรำข้าว, อาหารเสริมข้าวกล้องงอกผสมถังเช่าและเห็ดหลินจือ, ผงชงดื่มข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์, เซรั่มบำรุงผิวหน้าจากข้าวเหนียวดำ, เซรั่มบำรุงผิวหน้าจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และลิปบาล์มไขรำข้าว เป็นต้น 




ด้านสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยในชื่อ “ข้าวนวัตกรรม” เพื่อกระตุ้นให้เกิดสินค้านวัตกรรมที่ผลิตจากข้าวออกสู่ตลาดหลากหลายประเภท อาทิ “ข้าวหอมโปรตีนต่ำพร้อมรับประทาน : KD Care” สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ผ่านกระบวนการทำให้ปริมาณโปรตีนในข้าวลดลงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้เพิ่มขึ้น 


“ชุดย้อมสีจากข้าวเหนียวดำ: BR Staining Kit” ผลงานนวัตกรรมระดับโลก สำหรับการย้อมสีในการประเมินรูปร่างอสุจิ ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณาภาวะมีบุตรยาก และงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์หลักฐานรวมถึงตรวจวัตถุพยาน ทดแทนสีสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 


กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยสำนักเทคโนโลยีชุมชน ได้ต่อยอดข้าวด้วยนวัตกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตขนมไขมันต่ำจากปลายข้าว เปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์ตามความต้องการของผู้บริโภค และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งชุบทอดกรอบจากแป้งข้าวหอมมะลิ สำหรับผู้บริโภคที่แพ้กลูเต็น มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสีขาวนวล น่ารับประทาน อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีการผลิตข้าวสำเร็จรูปในถุงรีทอร์ต (Retort Pouch) เพื่อทดแทนอาหารกระป๋องหรืออาหารบรรจุขวดแก้ว ซึ่งใช้เวลาในการฆ่าเชื้อน้อยกว่า และรักษาคุณค่าทางโภชนาการได้ดีกว่า พร้อมกันนี้ยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำมันรำข้าว ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินอี และสารแกมมา-ออริซานอล ช่วยป้องกันแสงแดด ชะลอการเกิดริ้วรอย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันรำข้าว และเพิ่มรายได้ให้กับที่ชุมชนผลิตอีกด้วย