อพท. เล็งอัดโปรแกรมกระตุ้นท่องเที่ยว – อัพเกรดไกด์เพิ่ม หลังไทยพ้นโควิด- 19

“อพท.” เด้งรับนโยบายรมว.ท่องเที่ยวและกีฬาฯ เตรียมพร้อมมาตรการยกระดับการท่องเที่ยวไทยหลังไวรัส โควิด-19 เริ่มดีขึ้น เตรียมปรับกิจกรรมภายใต้งบปี 2563 เดิมโดยมุ่ง 2 ส่วนทั้งอบรมนักสื่อความหมายท้องถิ่นให้แก่ชุมชน พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนใหม่ๆ ควบคู่ไปกับร่วมมือทุกส่วนมุ่งกิจการกระตุ้นท่องเที่ยว พร้อมร่วมลดการแพร่โควิด-19 เริ่ม Work from Home 23 มี.ค.- 7 เม.ย.

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ขณะนี้อพท.ได้เตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกิจกรรมภายใต้แผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2563เดิม ให้สอดรับกับสถานการณ์โดยเฉพาะภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยกลับมามีศักยภาพอีกครั้งตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาและคณะกรรมการอพท.ที่มอบไว้โดยให้คงเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของ อพท. ในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาและสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายมุ่งสู่ความยั่งยืน



“การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อบริษัทนำเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร เป็นต้น โดยอพท.ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยยังคงใช้ช่วงเวลานี้มุ่งพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ เช่น 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100 และการขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) “ นายทวีพงษ์กล่าว

สำหรับแนวทางเตรียมดำเนินงานภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เริ่มดีขึ้นได้แก่ การปรับแผนการทำงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชน โดยการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563 จัดเป็นกิจกรรมอบรมนักสื่อความหมายท้องถิ่นให้แก่ชุมชน โดยใช้มัคคุเทศก์อาชีพเป็นวิทยากรให้ความรู้ เพื่อเป็นการยกระดับเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชน ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์อาชีพก็จะมีรายได้และมีงานทำจากความชำนาญที่มีอยู่ และจะร่วมกับบริษัทนำเที่ยวพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนและพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อจะได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

ส่วนของการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว จะร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) และ สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวภูมิภาคแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว โดยจะดำเนินการในแผนงานนี้ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรดังกล่าว ถือเป็นการช่วยเหลือมัคคุเทศก์ และบริษัทนำเที่ยวไปพร้อมกันจากผลกระทบโควิด-19

อย่างไรก็ตามเพื่อลดและหยุดการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายภาครัฐอพท.ได้กำหนดแนวทางให้เจ้าหน้าที่ พนักงาน ผู้ปฏิบัติงานของ อพท. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทำงานอยู่ที่บ้านหรือ Work from home ผ่านระบบ อี-ออฟฟิศ และโซเชียล ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ถึง วันที่ 7 เมษายน 2563 แต่หากมีภารกิจที่จำเป็นก็สามารถเข้ามาปฏิบัติงานที่ออฟฟิศได้ เช่น รับและส่งเอกสารที่ไม่สามารถนำเข้าระบบได้ หรือกรณีการประชุมจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

“ อี-ออฟฟิศ คือ ระบบปฏิบัติการที่ อพท. พัฒนาและใช้เป็นระบบหลักในการทำงานภายในองค์กรมาเกือบ 10 ปี เป็นระบบที่สามารถลงนาม บันทึกข้อความ หรือ จัดงานงานด้านเอกสาร ได้เกือบครอบคลุมทั้งกระบวนการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้ขอเข้ามาศึกษาดูงานระบบดังกล่าว ที่ อพท. ปีละหลายๆ หน่วยงาน เพื่อเป็นต้นแบบไปปรับใช้ในองค์กรของตัวเองอีกด้วย”นายทวีพงษ์กล่าว