7 สี ปันรักให้โลก “ปันรัก คืนผืนป่า สู่ผืนดิน” ส่งมอบป่า 60 ไร่ ให้กับ กรมป่าไม้ เนื่องใน วันสิ่งแวดล้อมโลก 2563

ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงล้วนเกิดขึ้นจากมนุษย์ การลดปัญหาภาวะโลกร้อน จึงเป็นภาระหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งในแนวทางของ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ในนาม ช่อง 7HD ร่วมมุ่งเชิญชวนให้ทุกคนรวมพลัง และร่วมมือกันทำกิจกรรม ด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ขยายผลสู่สังคมและชุมชน ปลูกฝังความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนให้แก่เด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้สถานศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับโครงการฯ และหน่วยงานพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเริ่มลงมือลดภาวะโลกร้อนจากตัวเราเอง และคนใกล้ตัว


ล่าสุดโดยโครงการ 7 สี ปันรักให้โลก จัดกิจกรรม “ปันรัก คืนผืนป่า สู่ผืนดิน” เป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ. กรุงเทพโทรทัศน์ฯ (ช่อง 7HD) ทำงานร่วมกับ กรมป่าไม้ นับจากปี 2559 -2563 โดยหนึ่งในแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน โดย “นางนาฏนภางค์ จงสมจิต กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ได้เป็นผู้แทน ช่อง 7HD ส่งมอบคืนผืนป่า 60 ไร่ หลังครบกำหนดการดูแล 5 ปี ซึ่งได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณดูแลตลอดโครงการไปแล้วกว่า 2,500,000 บาท (สองล้านห้าแสนบาท) 

และยังได้ร่วมมอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชน จากกิจกรรม “ปันรัก คืนผืนป่า สู่ผืนดิน” ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ให้กับ กรมป่าไม้ โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้แทนรับมอบ ที่กรมป่าไม้ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2563




โดย “นายอรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว “ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพิ่มพื้นที่ป่าของเรา ลำพังหน่วยงานรัฐอาจจะเห็นผลได้ช้า แนวนโยบายของเรา ซึ่งมีทั้งพื้นที่ป่าและความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษา มีพันธุ์กล้าไม้ที่เราสนับสนุนให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ ทั้ง ไม้เศรษฐกิจ ไม้ใหญ่ รวมถึงไม้ดอก ไม้กินได้ เพื่อให้การฟื้นฟูป่าแต่ละแห่งทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้มาร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ 

ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ช่อง 7HD มาช่วยกันเติมแม่ไม้ในป่า ทำให้เกิดการสืบพันธ์ตามธรรมชาติเป็นป่าในเขตป่าสงวนฯ จ.ราชบุรี สมบูรณ์มากขึ้น สามารถพัฒนาเป็น ป่าชุมชน ให้มีความหลากหลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่สมบูรณ์เพิ่มขึ้น สอดรับตามนโยบายการป่าไม้แห่งชาติ ปี 2528กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ ในขณะที่เรายังขาดพื้นที่ป่าอีกประมาณ 26 ล้านไร่ เมื่อเราได้เริ่มกันตั้งแต่วันนี้ จะส่งผลดีต่อไปในอนาคต”










“กฤตฤทธิ์ บุตรพรม” อาชีพนักแสดง เผยความรู้สึกในฐานะที่สมัครใจเกาะติดใกล้ชิดโครงการนี้มาตลอดเวลา “ผมภูมิใจที่มีโอกาสเป็นส่วนเล็ก ๆ ร่วมลงแรงมาตั้งแต่ปีแรก 2559 จากภาพแรกเป็นป่าแห้งระแหงมีแต่วัชพืชคลุมดินเท่านั้น พอเราเริ่มลงกล้าไม้ ปีต่อมาปลูกเสริมซ่อมลงไป สลับปลูกไม้ล้มลุก สมุนไพรบ้าง ตลอดระยะเวลา 5 ปี รวม 12,000 ต้น เติบโตฟื้นตัวแตกใบใหม่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากลงมือเอง ผมก็จะขอใช้อาชีพนักแสดงนี้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาร่วมใจกันคนละไม้คนละมือเติมพื้นที่สีเขียวให้ป่าของประเทศไทยต่อไปครับ”


 

“นางสาวสุมาลา สุทธิประภา” พนักงานบริษัท เล่าพร้อมรอยยิ้ม “ในฐานะคนป่าคอนกรีตอย่างเรา เมื่อมีโอกาสก็ตั้งใจเต็มที่ไปร่วมปลูกป่าผืนนี้เกือบทุกปี ใช้แรงจากสองมือของเราทำให้ป่ามีชีวิต ในระยะยาวจะช่วยลดมลภาวะ ปรับให้สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย กลับมาสมดุลได้อีกครั้ง หรือหากใครเหนื่อยล้าจากงานประจำ ลองใช้วิธีนี้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้อีกหนึ่งวิธีด้วย”




“ดช.ปุณณวัตร เกิดพร้อม นักเรียนชั้นป. 4 โรงเรียนสีวะรา ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เสียงของเยาวชนในพื้นที่ “ผมและเพื่อน ๆ สนุกมากครับที่ได้มามาปลูกต้นไม้กับพี่ ๆ อยากได้เห็นต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ อีกไม่นานคงได้เล่นน้ำในลำธารใกล้ ๆ บ้าน คุณครูบอกว่าต้นไม้จะช่วยให้บ้านเราร่มเย็นขึ้น จะทำให้พวกเราได้มาเข้าเก็บผักเก็บผลไม้ ใช้เป็นแหล่งอาหารได้ประโยชน์จากป่านี้อีกด้วย”


“นางดารณี วงศ์ชอุ่ม” ประชาชนในละแวกป่าฝั่งซ้ายริมแม่น้ำภาชี ต.ยางหัก กล่าวเสริมว่า “ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอดโดยเฉพาะเรื่องช่วยฟื้นฟูผืนดินและแหล่งน้ำในพื้นที่ และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กลับฟื้นสดชื่นมาอีกครั้ง ได้สภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น นอกจากการปลูกป่าไม้ ก็ยังได้ช่วยปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ร่วมดูแลธรรมชาติ ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้เห็นประโยชน์ สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตเป็นแหล่งอาหาร ให้พวกเราและประชาชนในพื้นที่และละแวกใกล้เคียง ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย และยิ่งดีใจมากขึ้นที่ทราบว่าสามารถใช้พื้นที่ป่าแห่งนี้ต่อยอด เป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาอีกด้วยค่ะ”