GIT เร่งกระตุ้นผู้ประกอบการพัฒนาสมาร์ทจิวเวลรี่ รับยุค New Normal

จีไอทีกระตุ้นผู้ประกอบการจิวเวลรี่ไทยปรับตัวรับยุค New Normal หนุนออกแบบและพัฒนาเครื่องประดับแนวใหม่ เน้นประโยชน์ใช้สอยคู่ความงดงาม ตอบโจทย์ผู้บริโภคหันมาซื้อของด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ พร้อมอวดโฉมผลงานการออกแบบเครื่องประดับที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย  ในงานแถลงข่าวการจัดงานโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 14 หรือ GIT’s 14th World Jewelry Design Awards 2020 โดยมี คุณนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ  ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน



ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ New Jewelry – not just another beauty เครื่องประดับยุคใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงาม โดยได้รับเกียรติจาก คุณดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ คุณวรรณพร โปษยานนท์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Harper’s Bazaar Thailand และ คุณอรธิรา ภาคสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ ร่วมเสวนา ณ ห้อง รีเจนซี่บอลรูม 2 โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท







นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันจีไอที กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้มองหาเครื่องประดับธรรมดาอีกต่อไป  แต่ต้องการเครื่องประดับที่มีประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ด้วย เป็นสมาร์ท จิวเวลรี่ เช่น ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์



โดยที่ผ่านมา จีไอทีได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นักออกแบบแถวหน้าของเมืองไทย และผู้ประกอบการ นำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับในเชิงพาณิชย์ คือ เครื่องประดับสุขภาพที่มีคุณสมบัติฟอกอากาศ สามารถดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5  ทำให้อนุภาคฝุ่นหล่นลงสู่พื้น เหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเปิดตัวผลงานต้นแบบให้คนทั่วไปได้เห็นช่วงปลายเดือนนี้

 

ขณะเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้นักออกแบบได้สร้างสรรค์เครื่องประดับที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับทั่วไป ปีนี้ สถาบันฯ ได้จัดการประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 14 หรือ GIT’s 14th World Jewelry Design Awards 2020 ภายใต้แนวคิด Beyond Jewelry: Artistic Elegance of Gems

“เราเปิดกว้างให้นักออกแบบได้สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่จำกัดวัสดุที่ใช้ เพื่อให้ได้เครื่องประดับดีไซน์สุดสร้างสรรค์ โดดเด่นด้วยอัญมณีอันล้ำค่างดงาม และยังมีประโยชน์ใช้สอยอื่นนอกจากการเป็นเครื่องประดับด้วย”



การประกวดในปีนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากบรรดานักออกแบบเครื่องประดับทั่วโลก  และมีความเป็นสากลมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยมีนักออกแบบส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งหมด 352 ชิ้นงาน ซึ่งเป็นผลงานของนักออกแบบต่างชาติมากถึง 183 ชิ้นงาน จาก 28 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน อิตาลี จีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อิหร่าน ตุรกี อินเดีย และประเทศในแอฟริกา และอีก 169 ชิ้นเป็นผลงานของนักออกแบบชาวไทย ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นมีความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ด้านประโยชน์ใช้สอยที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับได้อย่างน่าประทับใจกรรมการ





ทั้งนี้ สถาบันฯ ร่วมกับพันธมิตรได้นำแบบวาดเครื่องประดับที่ได้รับคะแนนสูงสุดจำนวน 4 แบบ ไปผลิตเป็นเครื่องประดับจริง โดยจะประกาศผลผู้ชนะรางวัลและจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานดังกล่าว ในวันที่ 18 กันยายน 2563



การประกวดครั้งนี้มีรางวัลมูลค่ารวมกว่า 9,500 เหรียญสหรัฐ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 4,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี   นอกจากนี้ รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 1,500 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลชมเชย 1 รางวัล เงินรางวัล 1,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ