“TCEB” จับมือ อีอีซี และเมืองพัทยา เดินหน้า “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” รองรับ Thailand International Air Show

25 กันยายน 2563 ทีเส็บแถลงแผนแม่บทใหม่ พร้อมดึงงานเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 15 งาน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ รองรับการจัด Thailand International Air Show เต็มรูปแบบในปี 2568 ณ  โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา 



เมืองพัทยา เป็น 1 ใน 6 ไมซ์ซิตี้ของประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร, พัทยา, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ภูเก็ต และ สงขลา) และเป็นไมซ์ซิตี้เพียงเมืองเดียวเมืองเดียวในภาคตะวันออก 

พื้นที่แห่งนี้มีความพร้อมในด้านรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและธุรกิจบริการ มีที่พัก โรงแรมและศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ที่เหมาะแก่การจัดประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา – NICE และ ศูนย์ประชุมนานาชาติพีช พัทยา – PEACH ฯลฯ

ที่ผ่านมา เมืองพัทยามีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสบการณ์การรองรับการจัดงานประชุม งานแสดงสินค้านานาชาติ และเมกะอีเวนท์มากมาย ทำให้พัทยาเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่พร้อมรองรับงานไมซ์ได้อย่างครบวงจร

 

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือแต่เดิมที่รู้จักกันในชื่อพื้นที่ อีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา EEC เป็นหนึ่งในแผนที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเขตส่งเสริมรองรับกิจการพิเศษ เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และกิจการอุตสาหกรรมอย่างน้อย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ปัจจุบัน EEC เข้าสู่การพัฒนาเฟสที่ 3 มุ่งเน้นอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรมนุษย์ เป้าหมายคือการผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการเป็นประตูสู่พื้นที่การลงทุนในเอเชีย ด้านความคืบหน้าของโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา) การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis) ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีกำหนดจะแล้วเสร็จพร้อมรองรับกิจการอย่างเต็มศักยภาพภายในปี พ.ศ. 2569

จากศักยภาพของพื้นที่  สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้เตรียมแผนเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยงานแสดงสินค้านานาชาติผ่านแผนแม่บท 3 ปี “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” มุ่งเน้นการสร้างงานใหม่และการขยายงานลงสู่พื้นที่ “อีอีซี” ในฐานะจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับนักลงทุนทั่วโลก และเมืองพัทยา ในฐานะไมซ์ซิตี้แห่งแรกของประเทศไทย

โดยไม่นานที่ผ่านมา ทีเส็บได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมเดินทางลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เพื่อรับฟังทิศทางการดำเนินงานตามแผนแม่บท “ ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์” โดยเริ่มต้นกันที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม





อุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานยุคดิจิทัลที่สำคัญอย่างยิ่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6 หมื่นล้านบาท อัตราการเติบโตสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นถึง 10% (ข้อมูลปี พ.ศ. 2562) GISTDA ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจส่งเสริมพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอวกาศ จึงเร่งสนับสนุนพัฒนาและประยุกต์เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

กิจการด้านอุตสาหกรรมอวกาศที่คนทั่วไปรู้จัก เช่น การสำรวจอวกาศ การขนส่งทางอวกาศ ระบบการหาตำแหน่งทั่วโลก (GPS) และ ดาวเทียมและระบบควบคุมเพื่อการต่าง ๆ (เช่น ดาวเทียมสื่อสาร สำรวจพื้นที่และทรัพยากร พยากรณ์อากาศ และทางทหาร)

ทีเส็บ เล็งเห็นพันธกิจของ GISTDA ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทไทยแลนด์ ล็อกอิน อีเวนท์ คือ การยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการจัดงานไมซ์ระดับโลก จึงเป็นที่มาของการจับมือกันระหว่าง TCEB และ GISTDA ในฐานะพันธมิตรภายใต้แผนแม่บทนี้ และในฐานะเจ้าภาพร่วมการนำหนึ่งในงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมอากาศยานที่ใหญ่ที่สุด

นั่นคือ Thailand International Air Show ลงพื้นที่ EEC ที่เริ่มต้นปูทางสู่การจัดงานตั้งแต่ปี 2566-2568 นอกจากเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานผ่านการจัดงานไมซ์แล้ว อุตสาหกรรมอากาศยานยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศโดยตรง ทำให้ส่งเสริมการพัฒนาและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอวกาศในคราวเดียวกัน



กิจกรรมเยี่ยมชมอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ประกอบไปด้วยการเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและปฏิบัติการด้านต่าง ๆ  ประกอบด้วย

1.ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฎิบัติการด้านการบินและอวกาศ (SOAR – Strategic and Operation Aerospace Research Center) หนึ่งในศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศของ GISTDA วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมกิจการด้านการบินและอวกาศ เช่น ระบบวางแผนถ่ายภาพด้วยดาวเทียมสำรวจโลก (OPTEMIS) ระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ (GISAVIA) และ ระบบบริหารจัดการกิจกรรมบั้งไฟและโคมลอย (บำเพ็ญ)







2.ห้องปฎิบัติการด้านวัสดุและโครงสร้างการบินและอวกาศ (GALAXI Lab) ครอบคลุมการดำเนินงานด้านนวัตกรรมการบินและอวกาศ เช่น การวิจัยพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต (โครงการอากาศยานไร้คนขับเพดานสูง การพัฒนาคุณสมบัตินาโนสำหรับชิ้นส่วนอากาศยาน) การพัฒนากำลังคนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รวมไปถึงการให้บริการทดสอบและวิจัยแก่หน่วยงานต่างๆ

 

3.ห้องทดลองวิจัยด้านวงโคจรในอวกาศ (AstroLab) เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร มีทั้งการวิจัยและพัฒนาด้านกลศาสตร์วงโคจรในอวกาศที่เน้นการพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อเพิ่มความแม่นยำสำหรับการคำนวณวงโคจรของวัตถุในอวกาศ การพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้างดาวเทียมได้เอง รวมไปถึงการวิจัยที่มุ่งเน้นความปลอดภัยของดาวเทียมจากขยะอวกาศหรืออุกกาบาตและด้านสภาพอวกาศ









4.ห้องปฏิบัติการ Microsatellite ศูนย์ออกแบบประกอบและทดสอบดาวเทียมขนาดเล็ก ขนาดตั้งแต่ 3U-12U หรือน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัม ถึง 120 กิโลกรัม เพื่อใช้ในกิจการและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย





จากนั้นได้เดินทางสู่ โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ท่ามกลางบรรยากาศมุมสูง บนชั้น 32 ที่มองเห็นความงดงามของพัทยาได้อย่างอิ่มตา ต่อด้วยกิจกรรมเสวนาภายใต้แผนแม่บท “ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์”

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า นโยบายของทีเส็บในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านแคมเปญส่งเสริมการจัดงานไมซ์ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายลง และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้ผ่านการกระตุ้นด้วยแผนแม่บท ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ 



โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนด้านงานแสดงสินค้านานาชาติเป็นหลักผ่านการประสานประโยชน์กับพันธมิตรหลักอย่าง อีอีซี และ เมืองพัทยา ในการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนด้านการเงินในการจัดงานแบบปกติใหม่ (new normal) การสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจพื้นที่ ค่าประชาสัมพันธ์งาน รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกเมื่อเจ้าของงานเลือกสร้างงานใหม่หรือขยายงานเดิมมาลงยังพื้นที่ อีอีซี และ พัทยา



แผนแม่บทนี้จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้การจัดงานงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การจัดการภัยธรรมชาติ และการรับมือโรคระบาด รองรับผู้ประกอบการด้วยสิทธิประโยชน์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การจัดงานประสบความสำเร็จ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของแคมเปญสนับสนุนและแผนแม่บท ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนท์ จากทีเส็บได้ที่

exhibitions@tceb.or.th

กิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ทีเส็บมาพร้อมกับวิทยากรรับเชิญที่มาร่วมพูดคุยถึงความพร้อมและความคืบหน้าของแผนแม่บทดังกล่าว ได้แก่ ดร.คเณศ วังส์ไพจิตร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี, คุณรัตนชัย สุทธิเดชานัย ที่ปรึกษาเมืองพัทยาด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ คุณธเนศ จันทร์เจริญ คณะทำงาน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ ยูทีเอ / หัวหน้าคณะทำงานด้านวางแผนกลยุทธ์ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , คุณกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) โดยมีคณะสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 30 สำนัก





จากนั้นเดินทางสู่ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา และเข้าร่วมงานดินเนอร์ทอล์คริมชายหาด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทีเส็บ โรงแรมดุสิตธานี และ  องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว และการนำเสนอสินค้าชุมชนเข้ากับกิจกรรมของทีเส็บโดยเย็นวันนี้ มีตัวอย่างของดีชุมชนในพัทยามาจัดแสดง ให้ชม ชิม ช้อป และร่วมลองทำด้วยตัวเองอีกด้วย



อาทิ การสาธิตการทำพวงมโหตร ชมรมผู้สูงอายุตำบลบางเสร่ , เวิร์คช้อปหน้ากากงิ้ว จากชุมชนจีนโบราบ้านชากแง้ว , กุยช่ายไส้ผัก-ฮ่อยจ๊อปู เมนูอร่อย ชุมชนบ้านชากแง้ว , สลัดโรลดอกไม้ เมนูจากผักออร์แกนิค โดยชุมชนวังน้ำดำ อ.บ้านบึง , สาธิตทำผ้าบาติก จากชุมชนบ้านเก่า ตลาดบางเสร่ อ.สัตหีบ

นับเป็นการผสานความพร้อมของศักยภาพที่มีในพื้นที่ เพื่อเตรียมเดินหน้าทันทีหลังสถานการณ์ณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งถือเป็นมิติแห่งความร่วมมือ ที่สามารถดึงพลังของแต่ละหน่วยงานออกมาเพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไป โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน