อินเดียใจป้ำหั่นภาษีน้ำมันปาล์มดิบรวดเดียว 10% พาณิชย์เล็งขยายตลาดเล็งจัดแมทชิ่งออนไลน์

​​รัฐบาลอินเดียหั่นภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบรวดเดียวร้อยละ 10 จากเดิมร้อยละ 37.5 เหลือร้อยละ 27.5 มีผลตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 หวังลดภาระผู้บริโภคจากราคาสินค้าหมวดอาหารเพิ่มสูงขึ้น ไทยรับอานิสงส์เร่งขยายส่งออกไปตลาดอินเดียเตรียมจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์สินค้าน้ำมันปาล์มวันที่ 19 มกราคม 2564


​​นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้ประกาศลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil) จากเดิมร้อยละ 37.5 เหลือร้อยละ 27.5 มีผลตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มในประเทศและบรรเทาภาระผู้บริโภคจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อินเดียเพิ่งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ จากเดิมร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 37.5 สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
​​

“อินเดียเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มมากที่สุดในโลก โดยการบริโภคน้ำมันปาล์มคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของน้ำมันเพื่อการบริโภค (edible oils) ในประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าน้ำมันเพื่อการบริโภคเฉลี่ยประมาณ 15 ล้านตันต่อปี รองจากการนำเข้าน้ำมันดิบและทองคำตามลำดับ โดยในปี 2562 อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (พิกัด 1511.10) จากทั่วโลก มูลค่ารวม 3,555 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.37 จากปีก่อนหน้า 

โดยนำเข้าสูงสุดจากอินโดนีเซีย ร้อยละ 66.03 รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย ร้อยละ 26.25 สิงคโปร์ ร้อยละ 5.02 ขณะที่นำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่า 89.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 63 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 2.52 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ ระหว่างมกราคมถึงกันยายนที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากทั่วโลก มูลค่ารวม 3,221.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยนำเข้าสูงสุดจากอินโดนีเซีย ร้อยละ 69.61 รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย ร้อยละ 24.53 สิงคโปร์ ร้อยละ 3.72 ขณะที่นำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่า 62.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 1.93 ลดลงร้อยละ 28.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า” 


​​ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มดิบของไทยในอินเดียยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซียก็ตาม กรมฯ มองว่าการที่อินเดียลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบลงร้อยละ 10 จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าน้ำมันปาล์มของไทยไปตลาดอินเดียให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น 

โดยเฉพาะ การส่งออกจากท่าเรือภาคใต้ฝั่งตะวันตกไปท่าเรือฝั่งตะวันออกของอินเดีย อาทิ เมืองเจนไนและโกลกาตา ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการขนส่งไม่สูงจนเกินไปและช่วยให้แข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซียได้ นอกจากนี้ กรมฯ แนะนำให้ผู้ประกอบการไทยควรศึกษามาตรฐานน้ำมันปาล์มภายใต้กรอบความยั่งยืนของน้ำมันปาล์มอินเดีย (Indian Palm Oil Sustainability Framework) หรือ IPOS ด้วย เพื่อเตรียมรองรับเงื่อนไขด้านมาตรฐานน้ำมันปาล์มที่คาดว่าอินเดียจะนำมาใช้ในอนาคต” อธิบดีให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม


​​“และเพื่อเป็นการขยายโอกาสส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยรองรับอานิสงส์จากการลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบของอินเดีย กรมฯ ได้เตรียมแผนจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) หรือ OBM สินค้าน้ำมันปาล์ม ในวันที่ 19 มกราคม 2564 โดยนอกจากน้ำมันปาล์มแล้ว กรมยังได้เตรียมจัดกิจกรรม OBM สินค้าประเภทอื่นๆ ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าอินเดีย ภายใต้ชื่อกิจกรรม Sourcing for India ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2564 อาทิ ไม้ยางพาราและเฟอร์นิเจอร์ อาหารสัตว์เลี้ยง ของเล่นเด็ก เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ฮาลาล เป็นต้น 

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สายด่วน 1169” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย