กรมควบคุมโรค แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ หากมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์

 วันนี้ (28 ธันวาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่เป็นสถานที่จำหน่ายอาหารทะเล    ทำให้ประชาชนยังเป็นกังวลในการเลือกรับประทานอาหารทะเล นั้น กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ 

โดยขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด และล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ หากไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนรับประทาน ซึ่งมาตรการ “สุก ร้อน สะอาด” นี้ นอกจากจะป้องกันโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำแล้ว ยังเป็นการลดความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ด้วย



จากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–21 ธันวาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง จำนวน 795,280 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมาก 3 อันดับแรก คือ แรกเกิด-4 ปี รองลงมาคือ อายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนโรคอาหารเป็นพิษพบผู้ป่วย จำนวน 84,724 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมาก 3 อันดับแรก คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ อายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ

โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว พยาธิฯ หากป่วยจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวัน อุจจาระอาจพบเยื่อมูกหรือมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ในบางรายมีอาการรุนแรง   มีภาวะขาดน้ำ เช่น คอแห้ง ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้  

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่ปรุงประกอบหรือจำหน่ายอาหาร ต้องคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารควรปรุงสุก ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาด (มีเครื่องหมาย อย.) เก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และหากมีอาการตามข้างต้น สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้ผู้ป่วยจิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะควรอยู่ในการดูแลของแพทย์  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422